ผู้ว่าฯธปท.เผยเศรษฐกิจเหนือฟื้นตัวช้ากว่าปท. ปีหน้าเจอความท้าทายจากภัยแล้ว ส่วนหนี้ครัวเรือนสูงถึง43%จากบัตรเครดิตและเช่าซื้อ ขณะที่ผอ.อาวุโสฯคาดปี67ศก.เหนือชะลอลงอยู่ที่0.7-1.7 เหตุภาคเกษตรหดตัว รายได้ครัวเรือนลดลง
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ที่อาคารอเนกประสงค์ ธปท. สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) ได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2566 “ยกระดับเศรษฐกิจเหนือ คว้าโอกาสบนโลกแห่งความท้าทาย” เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภาคเหนือได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจการเงิน นโยบาย ธปท. รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจภาคเหนือในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อการวางแผนของภาคธุรกิจและครัวเรือน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับการสร้างความยั่งยืนและแนวทางการปรับตัวเพื่อยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาคธุรกิจ การเงิน การศึกษา ภาคราชการ และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทาง online และมาอยู่ที่ onsite โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 3 ช่วง
ในช่วงแรก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงปาฐกถาพิเศษในช่วงสนทนากับผู้ว่าการ เรื่อง “ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทย” ฉายภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการประเมินไว้เมื่อเดือน มิ.ย. 66 คาดว่าอัตราการขยายตัวปี 66 อยู่ที่ 3.6% และปี 67 ที่ 3.8% ตามแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี และภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งตามเศรษฐกิจจีน และวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า รวมทั้งรายรับภาคการท่องเที่ยวปรับลดลงจากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ลดลง แม้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าที่คาดไว้ แต่โดยรวมไม่ได้กระทบแรงส่งของเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่จะอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง
แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยบ้าง แต่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นช่วยชดเชยในส่วนนี้ได้ ส่วนการส่งออกที่หดตัวในระยะสั้นคาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับเศรษฐกิจภาคเหนือทยอยฟื้นตัวเช่นกันแต่ช้ากว่าประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจภาคเหนือถูกขับเคลื่อนด้วยภาคเกษตรค่อนข้างมาก และมีสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรสูงอีกทั้งยังเป็นแรงงานสูงอายุ ภาคการผลิตยังมีบทบาทน้อยเมื่อเทียบกับประเทศ รวมทั้งในครึ่งหลังของปีนี้ ต่อเนื่องไปปีหน้า จะมีความท้าทายจากผลกระทบของภาวะภัยแล้ง
สำหรับนโยบายสำหรับนโยบายการเงิน ล่าสุดที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กนง. ได้ประเมินว่าเป็นจุดที่ถือว่าเข้าใกล้จุดสมดุล (neutral) มากขึ้นแล้ว เพราะภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้กำลังฟื้นเข้าสู่ระดับ
ศักยภาพในเรื่องของปัญหาหนี้ครัวเรือน กนง. เป็นห่วงมาโดยตลอด จึงดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมุ่งเน้นดูแลเศรษฐกิจโดยรวมให้อยู่ในแนวโน้มที่สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อ และเป้าหมายเศรษฐกิจในระยะปานกลาง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะกระทบต่อหนี้ครัวเรือน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด หนี้ครัวเรือนในภาคเหนือ 43% เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบ fixed rate เช่นสินเชื่อส่วนบุลคล บัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อ ธปท. ไม่ได้ชะล่าใจ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุดและยั่งยืนขึ้น โดยจะเป็นการยกระดับมาตรฐานธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อหนี้มีปัญหา และเมื่อมีการขาย/ฟ้องหนี้ โดยมาตรการที่จะบังคับใช้ก่อน (1 ม.ค. 67) คือ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อปรับพฤติกรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผ่านการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อตลอดวงจรหนี้
นอกจากนี้ จะมีการกำหนดแนวทางให้เจ้าหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) (บังคับใช้ 1 เม.ย. 67) ซึ่งก็คือกลุ่มที่ยังจ่ายหนี้ได้ตามปกติ แต่ปิดจบหนี้ไม่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ
ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเหนือในระยะยาว คนในพื้นที่ควรเป็นผู้มีบทบาทหลักในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเหนือ เพราะเข้าใจศักยภาพและบริบทของภูมิภาคดีที่สุด ในขณะที่ภาครัฐและ ธปท. ควรมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศน์ที่ส่งเสริมศักยภาพ เช่น การพัฒนาระบบการชำระเงินที่เอื้อต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ
ในช่วงที่ 2 เป็นช่วง NRO Talk ในหัวข้อ “มองเศรษฐกิจภาคเหนือปัจจุบัน เตรียมพร้อมสู่อนาคต” โดยนางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สำนัก งานภาคเหนือนำเสนองานประมาณการเศรษฐกิจภาคเหนือ จากที่การเติบโตของเศรษฐกิจภาคเหนือบางช่วงแตกต่างไปจากประเทศ ทำให้การพิจารณาเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจประเทศอาจไม่สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจภูมิภาค รวมทั้งข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภาค (Gross Regional Product: GRP) ล่าช้า และยังไม่มีการเผยแพร่ประมาณการไปข้างหน้า ธปท.สภน. จึงได้ศึกษาและจัดทำประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาคที่ให้มุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนได้ใช้ประโยชน์
ผลประมาณการเศรษฐกิจภาคเหนือปี 66 คาดว่าขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0-3.0 และปี 67 ชะลอลงอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การค้า ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรคาดว่าขยายตัวในปี 66 แต่หดตัวในปี 67 จากภาวะฝนแล้ง ด้านรายได้ของครัวเรือนในภาคเหนือ ปี 66-67 ปรับดีขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 1.9 ต่อปี แต่รายได้สุทธิครัวเรือนแต่ละกลุ่มดีขึ้นแตกต่างกัน ครัวเรือนเกษตรกว่า 2 ล้านครัวเรือน ซึ่งมากกว่าครึ่งของครัวเรือนภาคเหนือ มีแนวโน้มรายได้สุทธิลดลง
ในปี 67 จากผลกระทบของภาวะเอลนีโญ ทำให้กำลังซื้อยังไม่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง แม้ภาพรวมเศรษฐกิจภาคเหนือจะมีทิศทางปรับดีขึ้น ทั้งนี้ ธปท.สภน. จะให้ความสำคัญยิ่งขึ้นกับการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือในระยะยาว ทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน การสนับสนุนการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาความเป็นอยู่ในพื้นที่
ในช่วงสุดท้าย เปิดแนวคิดการยกระดับธุรกิจท้องถิ่นผ่านมุมมองของนักธุรกิจรุ่นใหม่กับการเสวนา หัวข้อ “สร้างความยั่งยืนแบบคนรุ่นใหม่ สู่การยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่” โดยผู้แทนคนรุ่นใหม่ 3 ท่าน ได้แก่ นายธนะพงศ์ พุฒิพิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) นางวีรดา ศิริพงษ์ ผู้ก่อตั้ง คาร์เพนเทอร์ สตูดิโอ และนายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) โดยมี ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการแลกเปลี่ยนมุมมองช่วยจุดประกายคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ให้เห็นโอกาสในการทำธุรกิจในภูมิภาค ควบคู่กับการสร้างความกินดีอยู่ดี (well-being) ให้กับภูมิภาคเพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม พบว่า ภาคเหนือเผชิญความท้าทายตามกระแสการเปลี่ยนแปลงโลกาภิวัตน์ (Globalization) สิ่งที่ท้าทายคือ การแข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น สำหรับธุรกิจค้าปลีกเผชิญความท้าทายที่จะกระทบจากธุรกิจ e-commerce ผู้ประกอบการจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า และจับมือกับคู่แข่ง เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ามากขึ้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการก้าวข้ามข้อจำกัดของ SME คือ การปรับมุมมองทางธุรกิจ (mindset) พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะทดลอง การสร้างทีมงานที่มีคุณภาพ รวมถึงการสร้างระบบจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่ดีที่พร้อมตั้งรับการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ การเติบโตทางธุรกิจต้องทำให้ท้องถิ่นเติบโตไปพร้อมกันผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่กลับมาสร้างความเจริญที่บ้านเกิด