อธิบดีกรมอุทยานฯติวเข้มถอดบทเรียนไฟป่า 9 จังหวัดเหนือตอนบน ยอมรับปีนี้สูญเสียทั้งพื้นที่ป่า จนท.และจิตอาสาช่วยดับไฟทั้งภาคเหนือและภาคใต้ เล็งใช้โดรน ช่วยจับความร้อน พร้อมจำกัดเชื้อเพลงสะสม แจงสถานการณ์ปีนี้ควบคุมได้ 100 % แล้ว เผย”บิ๊กตู่-ท็อป” ห่วงใยป่าพรุภาคใต้ เตรียมลงพื้นที่ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาการควบคุมไฟป่า 2562
“ก้าวย่างสำคัญสู่อนาคต ลดไฟป่าและหมอกควัน” เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและด้านกฎหมาย พิจารณาปรับปรุงแก้ไขมาตรการหรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนพัฒนาทางเทคโนโลยีให้ทันสมัย เพื่อการป้องกันและเตือนภัยล่วงหน้า ลดความรุนแรงปัญหาดังกล่าว มีนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) พร้อมข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เข้าร่วมกว่า 300 คน ซึ่งการสัมมนา จัดถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ รวมระยะเวลา 2 วัน
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ปีนี้ทั้งภาคเหนือ 9 จังหวัดและภาคใต้ของประเทศไทยประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ทำให้พื้นที่ป่าได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต และอาสาสมัคร จิตอาสาได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต จึงต้องกลับมาทบทวนหาวิธีการใหม่ ๆ ซึ่งจะมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย อาทิ โดรนและ ดาวเทียมของ GISTDA รวมทั้งเครือข่ายจิตอาสา เพื่อเฝ้าระวัง และลาดตระเวนป้องกันการลักลอบเผาป่า พร้อมจำกัดขยะ
หรือวัชพืชที่เป็นเชื้อเพลิงสะสม เนื่องจากหลังหมดฤดูฝนอีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าสู่ฤดูไฟป่าและหมอกควันแล้ว
“บทเรียนปีที่แล้วไม่สามารถนำมาใช้กับแผนป้องกันไฟป่าหมอกควันในปีต่อไปได้ ต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีกว่าเดิมอาจร่วมกับมือทาง GISTDA เพื่อจัดหาโดรน ที่สามารถจับความร้อน หรือจุด Hot Spotได้ พร้อมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจกับประชาชน พร้อมกับรณรงค์ประชาสัมพันธ์โทษของการเกิดไฟป่า เพราะเวลาเกิดไฟป่าไม่ได้เสียหายเฉพาะพื้นที่ป่าเท่านั้น ยังรวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ใกล้เคียง และส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน อาทิ โรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งได้ถอดบทเรียนปัญหาพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และพื้นที่ป่าพรุภาคใต้แล้ว เพื่อให้ทุกพื้นที่ได้ถอดบทเรียนและเรียนรู้แก้ปัญหาร่วมกัน” นายธัญญา กล่าวและชี้แจงอีกว่า
ในวันที่ 13 กันยายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ไปดูปัญหาของป่าพรุควเคร็งจ.นครศรีธรรมราช เพื่อไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และให้นโยบายแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ซึ่งปีนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ 100 % แล้ว เนื่องจากมีมรสุมพัดผ่านและฝนตกเกือบทุกพื้นที่ แต่กรมฯไม่ได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ล่อแหล่ม หรือพื้นที่เสี่ยงที่เกิดไฟ
ป่าซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่ป่าพรุภาคใต้ หากพื้นที่ไหนขาดแหล่งน้ำดับไฟจะทำให้เกิดปัญหาได้อีก ดังนั้นต้องร่วมมือทุกภาคส่วนแก้ปัญหาดังกล่าว
“ปัญหาดังกล่าว ต้องขอบคุณในความห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ระดมเครื่องสูบน้ำช่วยดับไฟป่าพื้นที่ป่าพรุภาคใต้ ถ้าไม่มีน้ำดับยาก เนื่องจากมีซากวัชพืชทับถมหนา 3-4 เมตร บางพื้นที่ต้องลากสายฉีดน้ำดับไฟยาวกว่า 3-4 กิโลเมตร ซึ่งปัญหาไฟป่าเกิดจากน้ำมือมนุษย์ 100 % ทั้งจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หาของป่า ล่าสัตว์ และจุดเผาทำลายวัชพืชพื้นที่การเกษตร ซึ่งไฟป่าของป่าพรุภาคใต้ เกิดจากจุดไฟเผาในพื้นที่สวนปาล์ม พื้นที่การเกษตร และเลี้ยงสัตว์ทำให้ลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นต้องใช้วิธีเฝ้าระวังเดินลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง โดยหมุนเวียสับเปลี่ยนกำลังเป็นผลัด ๆ ไป ” นายธัญญา กล่าว
ทางด้านนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า จากการสรุปบทเรียนในครั้งนี้สิ่งที่จะนำไปปรับเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของอุทยานฯให้มีประสิทธิภาพคือจะต้องลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยเฉพาะในช่วงก่อน 60 วันห้ามเผา นอกจากนั้นจะขอให้ทาง Gisda ส่งข้อมูลจุด Hot Spot โดยแยกช่วงก่อนและช่วงห้ามเผาเด็ดขาด เพื่อแยกว่าพื้นที่เกษตรในเขตป่าอนุรักษ์มีจุดความร้อนเพิ่มหรือลดอย่างไร ซึ่งจุดนี้จะนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องพื้นที่ทำกินในเขตป่าในอนาคต
นอกจากนี้ยังจะเพิ่มเครือข่ายจิตอาสา 904 โดยมีเป้าหมายทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ ที่จะเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าด้วย นอกจากนั้นจะให้เจ้าหน้าที่พิทักษป่าทำการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งก่อนและช่วง 60 วันห้ามเผา ให้รับรู้ถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด และนอกจากนี้จะใช้โดรนในการตรวจจับจุดความร้อนเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟได้อย่างรวดเร็วและสุดท้ายคือให้ Gisda วิเคราะห์จุดที่เกิดไฟป่ามากๆ โดยให้จัดทำแผนที่และแนวกันไฟ โดยจะใช้ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี.