ธ.ก.ส.ก้าวสู่ปีที่55 ก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจและ COVID-19 มุ่งสู่เป้าหมายการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนที่ดีและความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท”โดยประสานเครือข่ายภาครัฐภาคเอกชน สถาบันศึกษาเติมความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการตลาด สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.63 ที่อาคารผลิตภัณฑ์โอทอปชุมชนสบวิน อ.แม่วาง ผู้บริหารธ.ก.ส.และฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธ.ก.ส.ได้มอบผ้าห่มพร้อมหมวกกันหนาวให้กับชาวบ้านในต.แม่วิน อ.แม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ตามโครงการ ธ.ก.ส.คู่ใจภัยหนาว ครั้งที่ 9 จากนั้นฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบนที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ 8 จังหวัดได้แถลงผลการดำเนินงาน ประจำไตรมาส 3/2563
นายภูมิ เกลียวศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบนที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ 8 จังหวัด ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินโครงการและมาตรการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไปตามนโยบายของธนาคารและรัฐบาล ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือด้านภาระหนี้สิน เพื่อลดภาระและผ่อนคลายความกังวลในช่วงวิกฤต ให้สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง โดยการปรับปรุงโครงสร้างการชำระหนี้ (Loan Review) ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ และการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งระบบเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2563 ถึงงวดเดือนมีนาคม 2564
โดยมีเกษตรกรลูกค้า สหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้รับประโยชน์กว่า 1.8 แสนราย วงเงินที่ได้รับพักชำระหนี้กว่า 40,000 ล้านบาท และมาตรการชะลอการชำระหนี้แก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ SMEs (Loan Payment Holiday) ที่มีหนี้กับธนาคารไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ชะลอการชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือนโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ 23 เมษายน 2563 ถึง 22 ตุลาคม 2563 และปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศขยายระยะเวลาต่ออีก 6 เดือน ไปสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2564 มีผู้ประกอบการได้รับความช่วยเหลือจำนวน 1,259 ราย เป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ลดปัญหาการว่างงาน กระตุ้นกลไกการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SME โดยใช้ Soft Loan ธปท. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งมีเกษตรกร ผู้ประกอบและวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ใช้สินเชื่อ จำนวน 2,131 ราย วงเงินกู้ กว่า 2,100 ล้านบาท
โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและครอบครัวบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นและฉุกเฉินภายในครัวเรือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.1 ต่อเดือน กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน นับจากวันกู้ และปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก มีเกษตรกรและครอบครัวลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านระบบ LINE Official BAAC Family โดย ธ.ก.ส.ทำสัญญาผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์ เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นไปตามมาตรการรักษาระยะห่างในช่วง Covid-19 โดยจ่ายสินเชื่อไปแล้วจำนวน 65,646 ราย วงเงินกู้กว่า 650 ล้านบาท 2.3 มาตรการสินเชื่อผ่อนปรนเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ จำนวน 3 โครงการ เพื่อรองรับเกษตรกรหรือทายาทเกษตรกร หรือNew Gen ที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและโรคโควิด 19 ที่กลับภูมิลำเนาเพื่อประกอบอาชีพเกษตรและอาชีพอื่น ธนาคารจึงมีโครงการรับเกษตรกรรุ่นใหม่ควบคู่กับการพัฒนาให้เป็น Smart farmer
โดยการสนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรน ผ่านโครงการต่าง ๆ ดังนี้ โครงการสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan) วงเงินรวม 10,000 ลบ. เดือนที่ 1- 3 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0 ต่อปี เดือนที่ 4 เป็นต้นไปคิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR โครงการสินเชื่อ New Gen Hug (ฮัก) บ้านเกิด วงเงินรวม 60,000 ลบ. เดือนที่ 1- 3 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0 ต่อปี เดือนที่ 4 เป็นต้นไปคิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR โครงการสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงินรวม 100,000 ลบ. ปีที่ 1 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไปคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ
สำหรับมาตรการช่วยเหลือของรัฐผ่านระบบ ธ.ก.ส. ได้แก่ การจ่ายเงินชดเชยรายได้สำหรับผู้ประกอบการ อาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลัง (พฤษภาคม – กรกฎาคม 2563) ซึ่งผลการดำเนินงาน จ่ายเงินผ่านระบบ ธ.ก.ส. ไปยังผู้ใช้สิทธิ์ที่ลงทะเบียนในโครงการกว่า 2.7 ล้านราย เป็นเงินกว่า 43,015 ล้านบาท โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร รายละ 15,000 บาท โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน จำนวน 771,032 ราย จำนวนเงิน 11,518.81 ล้านบาท และจ่ายเงินโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 ให้เกษตรกรชาวสวนลำไยอัตราไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่เป็นจำนวนกว่า 175,000 ราย เป็นเงินกว่า 2,200 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร ในสินค้าเกษตร 5 ชนิดประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพาราและ ปาล์มน้ำมัน ในส่วนของการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวนาปี ได้มีการโอนเงินชดเชยส่วนต่าง งวดที่ 1 รวม 2 รอบให้แก่เกษตรกรแล้ว จำนวน 203,978 ราย เป็นเงินกว่า 1,028 ล้านบาท และจะทยอยโอนเงินชดเชยตามภาวะราคาพืชแต่ละชนิดตามช่วงเวลาที่กำหนดต่อไป
ทั้งนี้ธนาคารยังได้ดำเนินโครงการประกันภัยพืชผล เพื่อจัดการความเสี่ยงด้านการผลิตให้กับเกษตรกร โดยร่วมกับบริษัทประกันภัยเอกชน ประกันภัยพืชผลให้กับผลผลิตลำไย ข้าวโพด ข้าว เพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร
นายภูมิ กล่าวอีกว่า ในโอกาสใกล้วาระดิถีขึ้นปีใหม่ ธ.ก.ส.ได้เตรียมของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกรลูกค้าที่ชำระหนี้ได้ดีอีก 2 โครงการคือ โครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกค้าเกษตรกรและบุคคล จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระ ไม่เกินรายละ 5,000 บาท และลูกค้ากลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกรสหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท และโครงการลดภาระหนี้สำหรับลูกค้าที่มีหนี้ NPL หรือมีดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 15 เดือน คืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ20 ของดอกเบี้ยที่ลูกค้าชำระได้ สำหรับลูกค้ากลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกรสหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง คืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระได้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เท่านั้น จึงขอฝากประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว ถึงพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไปให้รับทราบ หากสนใจสามารถ สอบถามข้อมูลได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ รวมทั้งรับทราบข่าวสารทางสื่อออนไลน์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น LINE Official : BAAC Family หรือทาง Facebook BAAC Thailand ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.