กลุ่มนักธุรกิจ องค์กรเอกชนและนักวิชาการลงขันเปิดบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม วางเป้านำผลกำไรทั้งหมดไปใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมและระบบงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เผยความทุ่มเทปีแรกในการลงพื้นที่แม่แจ่ม ช่วยพลิกคืนผืนป่ากลับคืนมาได้ถึง 65%
การเปิดตัวบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด พร้อมกับการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2560 ซึ่งมีนายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด นายไพรัช โตวิวัฒน์ กรรมการอำนวยการ บริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด พร้อมผู้ถือหุ้น และผู้ที่สนใจเข้าร่วมพบปะพูดคุยมากกว่า 40 คนเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ที่ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ผ่านมา ถือเป็นความก้าวหน้าในการผนึกกำลังของภาคเอกชนและภาควิชาการ รวมถึงภาครัฐที่มองเห็นถึงปัญหาที่หมักหมมมานาน ของจังหวัดเชียงใหม่ และหลายคนยังไม่พูดว่าจะเยียวยาอย่างไร แต่จะรอการแก้ไขจากหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้
นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด บอกว่า บริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ก่อตั้งขึ้นด้วยความดำริของการรวมของกลุ่มคนเชียงใหม่ ที่ต้องการให้เมืองเชียงใหม่มีความก้าวหน้า พัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักธุรกิจใหญ่ๆ ที่มารวมตัวกันแรกๆ 10 กว่าคน และล่าสุดมีนักวิชาการที่น่าสนใจหลายคนเข้ามาซื้อหุ้น กลายเป็นประชาสังคมเชียงใหม่อย่างแท้จริง ด้วยต่างเห็นว่าเชียงใหม่มีความเติบโตมากขึ้นในทุกมิติ มีความเปลี่ยนแปลงไปมากมาย แต่ไร้การควบคุม
“ทุกฝ่ายทราบปัญหาแต่จะแก้ไขอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ สิ่งแรกคือการเป็นจิตอาสาและจิตสะอาดที่หวังจะช่วยพัฒนาสังคม อยากเข้ามาแก้ไขในฐานะผู้ให้เงินปันผลที่ได้จากการดำเนินธุรกิจบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด คือการทำธุรกิจแบบ Social enterprise หรือ SE คือกำไรที่ได้จะไม่ไหลลงสู่กระเป๋า แต่จะเอาลงในบริษัทนี้เพิ่มเพื่อสานต่อในการพัฒนาสังคม เช่นลงทุน 3,000 บาท แต่จะเป็นกำไรที่ไถกลบลงไปสานต่อและพัฒนาเพื่อสังคม โดยได้ความสุขกลับคืนมา ซึ่งก็เป็นวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ที่เราลงทุนในกิจการหรือใช้เพื่อประโยชน์ของสังคม และพัฒนาระบบงานเพื่อการบริหารแบบมุ่งเน้นกลยุทธ์ (Strategists focused system Development) ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) แก่สังคมโดยส่วนรวม ดังสโลแกนและโลโก้ 6 แจ่มของบริษัททั้ง แจ่มใส แจ่มใจ แจ่มจิต แจ่มแจ๋ว แจ่มจรัสและแจ่มบรรเจิด ดังปณิธาน “เรารักษ์ ฟ้า ป่า น้ำ”
นางศิริพร ตันติพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) เชียงใหม่ กล่าวว่า เพราะความเสียสละของนักธุรกิจในฐานะผู้ให้ เป็นการนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ ด้วยการเข้าไปสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในท้องถิ่น ให้ลุกขึ้่นมาปกป้องผืนป่า เลิกบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ให้สมกับเชียงใหม่ที่เป็นนครแห่งชีวิต มีความมั่งคั่ง และมีความสง่างามทางวัฒนธรรม เพื่อความยั่งยืนของเมืองเชียงใหม่อย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์ภิชาน ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ กล่าวถึง SE เพื่อพัฒนาเมืองเชียงใหม่ว่า การจับมือกันก่อตั้งบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ขึ้นถือเป็นมงคลต่อชีวิต เพราะแค่คิดว่าจะให้ก็ได้ความสุขแล้ว ความจริงเมืองเชียงใหม่มีของดีมาก เรียกว่ารวยไม่รู้เรื่อง เลยไม่รู้ว่าจะทำอะไรกันดี เพราะทุกอำเภอมีดีหมด จากนี้ไปจะเห็นคนอายุน้อยพลิกโฉมธุรกิจใหม่ ยกตัวอย่างนายบิล เกตส์ นายทุนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จมากยังหันมานับถือพุทธศาสนา เพราะเห็นหลักของความสุขที่มาจากการแบ่งปัน จิตอาสา และจิตบริสุทธิ์ เป็น 3 ประสานที่ดีเยี่ยม โดยเริ่มจากนักธุรกิจจับมือนักคิดและมีข้าราชการเติมเต็ม ทุกอย่างก็สำเร็จได้ ขอแต่มองตากันได้สนิทในยามทำงานร่วมกัน เวลานี้อยากให้ลืมความใหญ่โตออกไปก่อน แล้วไม่ต้องทำสิ่งที่ใหญ่แต่ขอให้ยั่งยืน
นายไพรัช โตวิวัฒน์ กรรมการอำนวยการ บริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัดมีปัญหาเรื่องหมอกควันอย่างมาก นอกจากนั้นยังพบว่าทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลาย มีป่าหัวโล้นเกิดขึ้น ยังมีการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตร ยังมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอายุสั้น และอนุมานได้ว่าต้องมีการใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมี พื้นที่ที่ปลูกป่าบนป่าเขาไม่สามารถใช้เครื่องมือ เครื่องจักรในการเตรียมดินและดินก็ขาดความอุดมสมบูรณ์ มีการกัดเซาะหน้าดินและการพังทลายของดิน
การที่จังหวัดเชียงใหม่ของเราประสบปัญหาจากมลภาวะทางอากาศมานาน และ นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพของประชาชน และ เศรษฐกิจในภาพรวมของระดับจังหวัด ความกังวลต่อปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิด กลุ่มปฏิบัติการเชียงใหม่ แจ่ม (ChiangMai Chaem Opertion) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานต่างๆ จากภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบูรณาการองค์ความรู้จากความเขี่ยวขาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีแนวคิดที่จะแก้ไขญหา ฝุ่นควันแบบองค์รวม ซึ่งคณะทำงานฯ ถือกำเนิดจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจของ คณะกรรมการร่วมสถาบันเอกชนจังหวัดเชียงใหม่(กกร.ชม.) ที่ประกอบ ด้วยหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และ สมาคมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ พร้อม ทั้ง 3 องค์กรพันธมิตร คือ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมจังหวัดเชียงใหม่ (NOHMEX) และสมาคมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจังหวัดเชียงใหม่ (ATSME) เมื่อราวเดือนสิงหาคม 2558
ทั้งนี้ภารกิจหลักของกลุ่มปฏิบัติการเชียงใหม่แจ่ม คือการร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่นควันที่อยู่ในขั้นวิกฤติของจังหวัดเชียงใหม่โดยได้ตั้งบริษัทเชียงใหม่แจ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ CSE (Chiang Mai Social Enterprise)ขึ้นมาเพื่อให้เป็นองค์กรขับเคลื่อน และรณรงค์ให้เกิดผลทางด้านการปฏิบัติ ซึ่งบริษัทนี้ประกอบไปด้วย หุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์จากทั้งองค์กรภาคเอกชน นิติบุคคล ภาคเอกชนและองค์กรประชาสังคม เพื่อรวบรวมผู้ที่มีความสนใจ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาจะมีการแก้ไขปัญหาในระยะถัดไป
จากเชียงใหม่แจ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม ก็นำไปสู่การจัดตั้งบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด คำว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise (SE) ประกอบด้วย Enterprise คือ การประกอบการหรือ วิสาหกิจ กับคำว่า Social คือ สังคม และเมื่อนำคำดังกล่าวมารวมกันจึงเกิดคำใหม่ว่า“วิสาหกิจเพื่อสังคม”คือ การประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งถือเป็นคำเดียวกับ “กิจการเพื่อสังคม”ส่วนความหมายที่เป็นทางการที่มีอยู่นั้น พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๒๑) พ.ศ. ๒๕๕๙ นิ ยามว่านิยามว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยมุ่งส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นที่วิสาหกิจเพื่อสังคมตั้งอยู่ หรือมีเป้าหมายในการจัดตั้งตั้งแต่แรกเริ่มในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนสังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มุ่งสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน และนำผลกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบไปลงทุนในกิจการของตนเอง หรือใช้เพื่อประโยชน์ ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการผู้ด้อยโอกาส หรือใช้เพื่อประโยชน์ ส่วนรวมอื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น
วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือSocial Enterprise มีหลัก 5 ประการ คือ
1) มีเป้าหมายเพื่อสังคม มิใช่เพื่อกำไรสูงสุด
2) เป็นรูปแบบธุรกิจที่รายได้หลักมาจากการขายสินค้าและบริการ มิใช่เงินจากรัฐหรือเงินบริจาค
3)กำไรต้องนำไปใช้ในการขยายผลมิใช่นำไปปันผลเพื่อประโยชน์ส่วนตัวกำหนดให้ปันผลกำไรได้ไม่เกิน 30%
4) บริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล (good governance)
5) ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล อาทิเช่น ในรูปแบบบริษัทจำกัด
นายไพรัช กล่าวว่า วันที่ 2 ธันวาคม 2559 บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคมได้จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ในบริษัทฯจะมีอยู่ 3 ส่วนๆ ที่มาจากบริษัทเอกชน 15 บริษัท จากองค์กรภาคเอกชน 6 องค์กรคือ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ สมาคมผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ ชมรมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมผู้ผลิตสินค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมSME จังหวัดเชียงใหม่และนักวิชาการ โดยการระดมเงินจากบริษัทเอกชนรายละ 50,000 บาท นิติบุคคลรายละ 10,000 บาท และองค์กรทั่วไป 3,000 บาท
ปัจจุบันรวบรวมเงินได้ 1.2 ล้านบาท งบประมาณที่ได้ก็จะนำเอาไปบริหารจัดการ ช่วยเหลือ และสำรองจ่ายให้เกษตรกร เพราะบางทีการกู้เงินของเกษตรกรจากสถาบันการเงินอาจจะล่าช้าก็สำรองไปก่อน นอกจากนี้จากการลงพื้นที่จริงสำรวจพบว่ามี 4 อำเภอที่มีปัญหาการเผาวัสดุทางการเกษตรมากกว่า 30,000 ตัน จาก 200 จุด ก็ให้รวมมาทำปุ๋ยในที่เดียวกัน 3 จุด และเริ่มต้นที่หมู่บ้านสองธาร อ.แม่แจ่ม ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่พบจุดความร้อน หรือ Hot Spot สูงที่สุดและมีหนี้ครัวเรือนมากกว่า 8 แสนบาท
หลังจากเราเข้าไปดำเนินการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ปีนี้จุดความร้อนที่บ้านสองธารเป็นศูนย์ เพราะเลิกเผาเด็ดขาด และ 35 ครัวเรือนเข้าร่วมโครงการนำร่องในพื้นที่ปลูก 200 ไร่ เริ่มจากการจัดระบบพื้นที่ 4 อย่าง คือ 1.ทำมาหากิน ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ และกบ 2.ทำมาค้าขาย ปลูกผลไม้ กล้วย สัปปะรด ฝรั่ง สมุนไพร ข่า ตะไคร้ ทำเกษตรปราณีต เป็น Local Food ขยับไปปศุสัตว์ เลี้ยงวัวเนื้อ วัวนม จัดหาตลาดให้ทั้งโรงเรียน โรงแรม และซุปเปอร์มาร์เก็ต 3.ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งต้องใช้เวลาแต่ยั่งยืน และสุดท้ายคือ4.ป่าอนุรักษ์ ในปีแรกเกษตรกรสามารถมีรายได้สูงขึ้นถึง 5 เท่าเทียบกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ผืนป่าในเขต อ.แม่แจ่มที่ไปทำ จาก 4 แสนไร่ขณะนี้ได้คืนมาแล้ว 65% หรือกว่า 2-3 แสนไร่ เพราะความตั้งใจจึงทำได้
ส่วนทางด้านนายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล ประธานบริษัท เชียงใหม่วนัสนันท์ กล่าวว่า SE เกิดขึ้นจากความรับผิดชอบจากสังคม อย่างกรณีที่ยกพื้นที่แม่แจ่มขึ้นมาเพราะเกิดปัญหา แม่แจ่มเป็นแหล่งกำเนิดหมอกควันให้เชียงใหม่ ซึ่งในการรวมกลุ่มม่มีคนให้ความรู้และข้อมูลที่ชัดเจนในการพิชิตหมอกควันได้แต่ก็มีความเป็นห่วงกลับปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน เพราะที่นี่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากและจะใช้วิธีเผาตอซัง แต่เราเปลี่ยนโดยร่วมกับสวทช.เอาเปลือกข้าวโพดไปผลิตเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์หน้าแล้ง และเอาตอซังไปหมักเป็นปุ๋ย แต่กลับมีนักวิชาการออกมาระบุว่าเกษตรกรทุกแห่งไม่เอาปุ๋ยหมัก ซึ่งจะเห็นว่าสิ่งที่พวกเราคิดว่าดีที่สุด แต่ก็ไม่ได้ดีที่สุดกับคนอื่น สิ่งที่มองไม่เห็นคือเกษตรกรเองยังไม่รู้ว่าพื้นที่ป่าที่ใช้ปลูกพืชนั้นไม่เหลือปุ๋ยอีกแล้ว
“วันนี้เราถามหาความรับผิดชอบเรื่องหมอกควัน และรอมานานมากแล้ว เราเป็นแค่กลุ่มหนึ่งในสังคมที่อยากเห็นบ้านเมืองมันดีขึ้น จึงได้ตั้งบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคมนี้ขึ้นมา เอาเงินมาลงทุนแล้วเราไม่ได้หวังที่จะได้เงินคืน แต่เราหวังว่าสิ่งที่เราทำสักวันจะทำให้เราได้คำตอบว่าที่ลงทุนไปนั้นได้ผลอย่างที่ต้องการหรือไม่”นายชัดชาญ กล่าว
ขณะที่นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และประธานองค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย ได้เขียนในคอลัมน์ในกรุงเทพธุรกิจเกี่ยวกับ CSE ตอนหนึ่งว่า เป็นการรวมตัวกันของคนเชียงใหม่ล้วนๆ ตั้งแต่ประชาชนในรากหญ้า นักวิชาการ นักธุรกิจในท้องถิ่นทุกระดับทั้งจากที่เป็นและไม่ได้เป็นสมาชิกหอการค้าหรือสภาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรายย่อย โดยไม่ได้พึ่งพิงจากบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ๆ ของไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระจายหุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมและไม่ถูกครอบงำจากผู้ถือหุ้นรายใดรายหนึ่ง เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพลเมืองที่ไม่รอให้การแก้ปัญหาจากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลอย่างแท้จริงหากขาดเสียซึ่งการมีส่วนร่วมจากประชาชนซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับปัญหามาโดยตลอด
เชียงใหม่เป็นต้นแบบของการเกิดขึ้นของสภาพลเมือง ที่คอยเสนอแนวความคิดและตรวจสอบถ่วงดุลการดำเนินการที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่น เช่น กรณีขนส่งสาธารณะ, กรณีข่วงหลวงเวียงแก้ว, กรณีการสร้างที่พักในวัดอู่ทรายคำจนต้องมีการทบทวนและตรวจสอบจากภาคประชาชน หรือการมีแนวคิดจะสร้างคอนโดในที่ของกรมธนารักษ์ ที่อยู่ในย่านสถานศึกษาจนต้องคืนพื้นที่ให้ชุมชนเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะ เป็นต้น
“ผมเชื่อว่าการจัดตั้ง CSE ในครั้งนี้ก็จะเป็นการจุดประกายให้แก่จังหวัดอื่นๆ ให้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐสมดังคำกล่าวที่ว่า ไม่มีใครรู้ปัญหาของท้องถิ่นดีกว่าคนในท้องถิ่นนั่นเอง”นายชำนาญ กล่าว.