แนะปชช.เขียน รธน.ใหม่ ชี้สังคมวิปริต รัฐอุ้มกลุ่มทุน-ริดรอนสิทธิประชาชน

แนะปชช.เขียน รธน.ใหม่ ชี้สังคมวิปริต รัฐอุ้มกลุ่มทุน-ริดรอนสิทธิประชาชน

เชียงใหม่ / ครช.จัดถก“ปฏิสังขรณ์”ประเทศไทย นักวิชาการชี้ สังคมไทยตกอยู่ในภาวะวิปริตผิดเพี้ยนมานานกว่าทศวรรษ หลังรัฐประหารมีการควบรวมของ 26 กลุ่มทุนเข้ากับอำนาจรัฐ ประชาชน 80% สูญผลประโยชน์ ขณะที่การจัดสรรงบปี 63 อุ้มแค่กลุ่มทุน แนะทางออก ประชาชนต้องไม่ยอมจำนน ร่วมมือกันเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน ลดอำนาจกองทัพ กระจายให้ท้องถิ่น เพื่อพาประเทศสู่ประชาธิปไตยเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 ต.ค.62 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)ได้จัดเสวนาเรื่อง “ปฏิสังขรณ์ประเทศไทย” ที่ห้องประชุมใหญ่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจ เข้าร่วมประมาณ 250 คนในช่วงต้น รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวเปิด “สู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หลังผ่านประชามติแล้ว ยังมีการแก้ไขอีกหลายครั้ง สะท้อนเจตจำนงกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในอำนาจ ขณะเดียวกันก็ลดทอนคุณค่า ความหมายของประชาชนลง ให้เป็นเพียงผู้รอรับการอุปถัมภ์จากรัฐ ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้และรัฐธรรมนูญปี 60 ยังส่งผลให้ไม่มีพรรคการเมืองไหนได้เป็นตัวแทนส่วนใหญ่ของประชาชน เราจึงได้รัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ อ่อนแอ ซ้ำยังให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอย่างล้นเหลือ ในการควบคุมนักการเมืองและพรรคการเมือง คสช.อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญลิดรอน ควบคุมสิทธิของประชาชน ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกๆ ด้าน ที่สำคัญพิษสงของรัฐธรรมนูญที่เขียนว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็เอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกฯ นับเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นอย่างยิ่งนอกจากนี้ผลสำรวจกลุ่มนักศึกษา จาก 28 มหาวิทยาลัย 3,000 กว่าคน ยังพบว่า 95.1% ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะไม่สามารถปราบโกงได้ กลับเอื้อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง มีการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม ไม่ปฏิบัติตามกฎบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  ทำให้เกิดโจทก์ใหญ่ อะไรทำให้รัฐธรรมนูญไม่ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมจะถูกฉีกตลอดเวลาปัจจุบันจึงเกิด 2 กลุ่ม คู่ขนานกัน คือ 1.กลุ่มประชาธิปไตยอิ่ม ไม่ต้องแก้ กินได้เลย และ 2.กลุ่มชนชั้นกลางที่มีการศึกษา แต่สนับสนุน คสช.มาก่อน กลุ่มนี้ยอมจ่ายแพงแค่ไหนก็ได้ ถ้ากลุ่มเดิมไม่ได้กลับเข้ามา เรียกว่าสังคมไทยอยู่ในวิกฤติมากว่าทศวรรษ และรัฐธรรมนูญก็ซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เป็นเครื่องมือของคนแค่หยิบมือเดียวในการใช้อำนาจ ทางออกจึงมี 2 ทาง คือ 1.รัฐประหาร 2.คนในสังคมตระหนัก ลุกขึ้นมาร่วมกันเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นฉบับประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ สันติต่อมาวงเสวนา “ปฏิสังขรณ์ประเทศไทย” ได้เริ่มขึ้น วิทยากรประกอบด้วย ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยมี อ.กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการรศ.สมชาย กล่าวว่า หลังยึดอำนาจปี 2557 ไทยเกิดภาวะไม่ปกติ จนเป็นข้ออ้างของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ (ม.44) มีการคุกคามเสรีภาพ รัฐธรรมนูญและสังคมไทย ตกอยู่ในภาวะวิปริตผิดเพี้ยน แม้ต่อมาจะใช้รัฐธรรมนูญปี 60 และเกิดการเลือกตั้งในปี 2562 ภาวะวิปริตผิดเพี้ยนก็ยังดำรงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปลักษณ์ เครือข่าย วิธีการ ชนชั้นนำยังครองอำนาจเหนือการเมือง มีการขยายอำนาจรัฐ ราชการให้ใหญ่ขึ้น หากปราศจากการรับผิด ทั้งความสัมพันธ์กับประชาชนยังเบาบางลง เห็นได้ชัดจากอัตรานายพล ที่เคยมี 800 นาย เพิ่มเป็น 1,400 นาย ภาวะวิปริตแผ่กระจายไปในโครงสร้างอำนาจรัฐ ระบบการเมือง งบประมาณความมั่นคงมากกว่าสวัสดิการสังคม มีการขึ้นเงินเดือน ค่าตอบแทนองค์กรอิสระ 10% แต่กลับไม่บรรจุพยาบาลอัตราจ้าง เลิกจ้างครูอัตราจ้าง เพิ่มอำนาจรัฐส่วนกลาง ลดอำนาจท้องถิ่นชนชั้นนำที่มีอำนาจและเครือข่าย ทำให้ภาวะวิปริตผิดเพี้ยนกลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้เกิดภาวะยอมจำนน ต่อให้ทำอะไรก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพื่อสร้าง “วันพรุ่งนี้ที่มาจากอดีต” ของชนชั้นผู้มีอำนาจ ดังนั้นทางออก คือพลังของปัจเจก หรือกลุ่ม ต้องถักทอ ประสาน ร่วมมือกันในการเคลื่อนไหว กดดัน ต่อรอง เพื่อแสดงถึงการไม่ยอมจำนน โดย“เราต้องคาดหวังว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในยุคสมัยของพวกเรา” ไม่ผลักภาระให้คนรุ่นหลังศ.อรรถจักร์ ย้ำว่า ในการเปลี่ยนแปลงรุปลักษณ์สู่อำนาจนิยม กระบวนการของรัฐไทยมีกลุ่มทุน การต่อรองมาตลอด หลังรัฐประหารก็มีการควบรวมของ 26 กลุ่มทุนเข้ากับอำนาจรัฐ ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ก็เคยพูดไว้ ว่ามีการลอกเลียนนโยบายมาจากจีน หวังจะสร้างรัฐใหม่ที่กลุ่มทุนสามารถใช้นโยบาย ทรัพยากรของประเทศ ทำให้ตนเองเติบโตขึ้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือกลุ่มทุนจะขยายตัวมากขึ้น เห็นได้จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เอื้อกลุ่มทุนมาก เปลี่ยนรูปลักษณ์โดยใช้งบประมาณ และภาษีของประชาชน มีการขยายอำนาจผ่าน กอ.รมน. ซึ่งต่อไปการจำกัดสิทธิประชาชน การขยายอำนาจ จะทำให้สิ่งวิปริตกลายเป็นเรื่องปกติ ประชาชน 80%  จะสูญเสียประโยชน์ ต่อไป “มหาวิทยาลัยจะไม่ใช่ค่ายทหาร แต่เป็นโรงงานของกลุ่มทุน” คนจนจะมากขึ้น เป็นการหลอกประชาชนให้ยอมรับอย่างหน้าชื่นอกตรม โดยโยนเศษเงินลงมาเป็นระยะๆ ซ้ำการขยายอำนาจบรรษัทหรือรัฐนิยม ยังส่งผลให้โครงสร้างรัฐเสียดุลยภาพ ทุนใหม่จะควบคุมกลุ่มอื่นๆ ความเหลื่อมล้ำจะสูงมากขึ้นทางเลือกของประชาชน ต้องย้อนถามว่าการร่วมสร้างอุดมคติในทุกกลุ่มชนชั้นจะทำได้ไหม การจัดสรรดุลยภาพของชนชั้นทำได้ไหม และการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นต่างจะเกิดขึ้นได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ ประชาชน 80% ของประเทศต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอย่างแน่นอนรศ.ดร.อภิชาติ อธิบายว่า 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ามาก จาก 9%/ปี ช่วงพ.ศ.2529-2539 เหลือเพียง 3%/ปี ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน และประเทศอื่นที่มีเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน เนื่องจากไม่สามารถยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมได้ การลงทุนทั้งรัฐและเอกชนลดลง คุณภาพโครงสร้างพื้นฐานเสื่อมถอยลง ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน คู่แข่งไล่ตามทัน ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ เราต้องใช้เวลาอีก 20 ปี จึงจะรวย มีรายได้มากขน หากนั่นก็คือเราทุกคนต่างอยู่ในวัยชรากันแล้ว เพราะอีก 3 ปี เราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ จึงเป็นคำถามว่ารัฐธรรมนูญปี 60 คือเครื่องมือแห่งการปฏิสังขรณ์ หรือตราสังข์?ด้านนายธนาธร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่หาเสียงช่วยการเลือกตั้งซ่อมที่นครปฐมในช่วงกลางวัน และคุมทีมอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2563 ในช่วงเย็น ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา ทำให้หดหู่ใจมาก จากการได้เห็นสภาพชีวิตจริงของชาวบ้านที่ยากจน ตกงาน ทำงานล่วงเวลาแต่ไม่ได้รับโอทีมาหลายปี จึงต้องคิดหาวิธีทำให้งบประมาณแผ่นดิน 3.2 ล้านล้านบาท ตอบสนองชีวิตคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ดีขึ้น ซึ่งภายใต้งบประมาณนี้เราสามารถลงทุนเพิ่มเงินให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน สถาบันการศึกษา โดยยังอยู่ในกรอบ 3.2 ล้านล้านบาท เหมือนเดิมขณะที่ความเป็นจริง การจัดงบประมาณเป็นเรื่องของอำนาจ และรัฐธรรมนูญ แม้วันนี้ไม่มีองค์กร คสช.แล้ว แต่ระบอบ คสช.ยังอยู่ ที่มาของอำนาจคือกลุ่มทุน คือระบบราชการ ไม่ใช่ประชาชน การจัดสรรงบประมาณจึงไม่ได้ทำเพื่อประชาชน วิธีปฏิสังขรณ์ จึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ด้วย 3 D คือ Demilitarization – ลดบทบาทกองทัพทางการเมือง, Decentralization – ลดอำนาจระบบราชการรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และ Democratization – พาประเทศไทยกลับสู่การเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง ประเทศไทยจึงจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้.

You may also like

ม้งดอยปุยและเครือข่ายม้ง 12 หมู่บ้านประกาศปิดป่าตั้งแต่ก.พ.-พ.ค.ห้ามคนนอกเข้าพื้นที่ พร้อมทำแนวกันไฟตั้งแต่ 5-15 ก.พ.68

จำนวนผู้