นักวิชาการจี้ระงับบ้านพักตุลาการ ย้ำต้องทำ EIA-ฟังความเห็นประชาชน

นักวิชาการจี้ระงับบ้านพักตุลาการ ย้ำต้องทำ EIA-ฟังความเห็นประชาชน

เชียงใหม่ / ถก “บ้านพักตุลาการ มุมมองทางนิตินิเวศน์” นักวิชาการย้ำแค่ถูกกฎหมายไม่พอ ต้องมีความเป็นธรรม ไม่ใช้ความเป็น จนท.รัฐฉวยช่องโหว่เลี่ยงทำ EIA พร้อมออกแถลงการณ์เสนอให้ระงับโครงการไว้ก่อน เพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูล และรับฟังความเห็นประชาชน ส่วนระยะยาวให้เปิดเผยพื้นที่ป่าที่รัฐครอบครองและยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ระบุต้องมีข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ให้ชัด ป้องกันเกิดปัญหาซ้ำซาก เมื่อเวลา 13.00-14.30 น. วันที่  4 เม.ย.61 ที่ห้อง 1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้จัดเสวนา “บ้านพักตุลาการ มุมมองทางนิตินิเวศน์” โดยวิทยากรประกอบด้วย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ดร.นัทมน คงเจริญ และ นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ในนามคณาจารย์นิติศาสตร์ มช.

รศ.สมชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการพูดกันว่าการสร้างบ้านพักตุลาการถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น เพราะกฎหมายไม่ได้ดำรงอยู่เพราะมีอำนาจ หรือกฎ ระเบียบ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความเป็นธรรมด้วย กรณีนี้จึงอ้างอำนาจรัฐ หรืออ้างถูกกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ในอดีตก่อนปี 2530 การจัดการทรัพยากรในสังคมไทยใช้ “รัฐนิยม” นำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เช่น เกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่ อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2531 หรือเหตุการณ์น้ำก้อ-น้ำชุน (ดินโคลนถล่ม) ที่ จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากการจัดการทรัพยากรโดยไม่ได้คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม แต่หลังปี 2530 เป็นต้นมา เกิดกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกระแสการมีส่วนร่วม การอนุมัติใดๆ ต้องไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และในปี 2535 เป็นต้นมา ก็กำหนดให้ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วยส่วนด้านสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น รัฐธรรมนูญปี 2540 บัญญัติเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นการจัดการทรัพยากร จึงไม่ใช่แค่เรื่องทำถูก หรือผิดกฎหมาย แต่ต้องมองถึงมิติสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อประชาชนด้วย เพราะทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้ถูกผูกขาดโดยรัฐ แต่เป็นของสังคม อาจมีแค่บางพื้นที่ที่รัฐดูแลอยู่ กรณีของบ้านพักตุลาการ หากบอกว่าสร้างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ช่วยอธิบายต่อมุมมองทั้ง 2 ด้าน คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ขณะเดียวกันพื้นที่สร้างดังกล่าวยังตั้งอยู่บนความเคารพนับถือต่อผืนป่าดอยสุเทพ นับเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางด้านจิตวิญญาณ การเข้าไปจัดการหรือทำอะไร จึงต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย“ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะบ้านพักตุลาการ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2560 มี พ.ร.ฎ.เพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าดอยสุเทพ จำนวน 2,349 ไร่ นั่นหมายความว่ามีการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ก่อน แล้วจึงขอเพิกถอนพื้นที่ป่าหรืออุทยานในภายหลัง เช่น การใช้พื้นที่ของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นต้น” รศ.สมชาย กล่าวดร.นัทมน กล่าวว่า ในส่วนพื้นที่ป่าตามนิยามกฎหมายนั้นไม่สอดคล้องกับแนวคิดอนุรักษ์ ซึ่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 นิยามไว้ว่าป่าคือพื้นที่ที่ไม่มีใครครอบครอง ซึ่งหลังประกาศ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีพื้นที่ป่าเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยมีการแบ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์พืชและสัตว์ป่า แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดได้มีการจัดสรรเป็นพื้นที่สำหรับเพื่อใช้ประโยชน์ของรัฐไว้แล้ว ซึ่งการที่รัฐจะเข้าเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวนั้น ต้องเชื่อมโยงกับนโยบายการอนุรักษ์ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโดยกองทัพ ได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่า เพราะฉะนั้น เมื่อนโยบายของรัฐต้องอยู่บนพื้นฐานการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งพื้นที่โครงการบ้านพักตุลาการนี้ แม้จะมีคำกล่าวอ้างว่า เป็นป่าเสื่อมโทรม แต่สิ่งที่รัฐควรดำเนินการคือฟื้นฟูให้เกิดพื้นที่สีเขียวมิใช่นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกจากนี้การจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่ของรัฐต้องมีเหตุผลและอธิบายได้ ซึ่งในเมื่อพื้นที่เป็นเชิงดอยมีความลาดชันต้องคำนึงถึงการทำนุบำรุงให้พื้นที่คงสภาพ ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ ซึ่งการสร้างบ้านพักนี้แม้จะมีการออกมายืนยันว่า เป็นโครงการที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย แต่นอกจากเป็นไปตามหลักการของกฎหมายแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้วยนายสงกรานต์ กล่าวว่า กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง ตามกฎหมายโดยรัฐธรรมนูญ ทำให้ทุกโครงการต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพื่อควบคุมป้องกันและแก้ไขก่อนเริ่มสร้างโครงการนั้นๆ  เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ในการกำหนดนโยบาย การกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์วิธีการระเบียบ ปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของไทย ยังคงมีช่องโหว่ ให้นายทุน แสวงประโยชน์ เพื่อหลบเลี่ยงให้ไม่ต้องจัดทำ EIA ในโครงการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น โครงการโรงไฟฟ้าที่มีขนาด 10 เมกกะวัตต์ขึ้นไป ต้องทำ EIA  ซึ่งนายทุนอาจใช้วิธีลดขนาดโครงการ เหลือ 9.5 เมกกะวัตต์ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย เป็นต้นกรณีบ้านพักอัยการ ก็เข้าข่ายหลบเลี่ยงไม่ต้องจัดทำ EIA เช่น กรณีมีสิ่งปลูกสร้างใกล้เขตพื้นที่ป่า มีข้อกำหนดว่าหากอาคารมีความสูง 23 เมตรขึ้นไป จะต้องจัดทำรายงาน EIA  ซึ่งโครงการบ้านพักอัยการ แม้จะไม่มีขนาดอาคารสูงถึง 23 เมตร แต่มีอาคารจำนวนถึง 48 หลัง บนพื้นที่ 147 ไร่ ซึ่งในข้อเท็จจริง โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ระบบ EIA ในบ้านเราจะมีปัญหา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หน่วยงานรัฐควรมีหน้าที่ช่วยอุดช่องโหว่เพื่อปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้รักษาประโยชน์สาธารณะ หรือหาแนวทางแก้ไขปัญหา แต่รัฐกลับอาศัยช่องโหว่ดังกล่าวเพื่อไม่ให้ตนเองต้องจัดทำ EIAทั้งนี้ โครงการบ้านพักนี้ไม่มีการชี้แจงว่าดำเนินการอย่างไร ตลอดจนไม่มีการนำหลักฐาน พยาน มายืนยันกับประชาชนว่าถูกต้องตามกฎหมายตามที่มีการแถลงข่าว ซึ่งประเด็นสำคัญที่ควรมีการตรวจสอบต่อไปนั้นคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งโครงการนี้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนหรือไม่ เพราะการดำเนินการของรัฐมีพื้นฐานมาจากประชาชน ดังนั้นรัฐจึงต้องเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และเพื่อการใช้อำนาจของรัฐให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จึงควรรับฟังข้อมูลรอบด้าน ทั้งนี้ การใช้อำนาจของรัฐควรจะเป็นไปอย่างโปร่งใส และวางอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของสาธารณะ จึงจะได้รับความชอบธรรมและความไว้วางใจจากประชาชนต่อมา นายสงกรานต์ ได้เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์มุมมองด้านนิตินิเวศน์ต่อกรณีบ้านพักตุลาการ ซึ่งมีข้อเสนอสำคัญคือ 1) กรณีเฉพาะหน้าให้มีการระงับโครงการดังกล่าวแล้วเปิดโอกาสให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลในด้านต่างๆ เนื่องจากในปัจจุบันยังมีข้อมูลเป็นจำนวนมากซึ่งยังไม่ได้เป็นที่รับรู้แต่อย่างใด เช่น ลักษณะพื้นที่ มีความลาดชันเพียงใด มีการทำลายหน้าดินมากน้อยแค่ไหน โครงการทั้งหมดแบ่งเป็นกี่โครงการ และเหตุผลในการแบ่งย่อยโครงการ เป็นต้น รวมถึงให้มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเป็นกลางและเป็นธรรมจากนักวิชาการที่มีความชำนาญและน่าเชื่อถือ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีการศึกษาถึงทางเลือกของพื้นที่ ในการพัฒนาโครงการความจำเป็นในการใช้พื้นที่ในปัจจุบันว่ามีมากน้อยเพียงใด รวมถึงขนาดของบ้านพักที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่ามีขนาดใหญ่โตเกินกว่าสวัสดิการของข้าราชการทั่วไป ในท้ายที่สุดควรต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่ายอมรับโครงการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร2) ระยะยาว ควรมีการเปิดเผยว่ายังคงมีพื้นที่ผืนป่าของหน่วยงานรัฐแห่งใดที่มีการครอบครอง และยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ ซึ่งควรต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ให้ชัดเจน ว่าจะสามารถกระทำได้ในกรณีเช่นใด และพื้นที่ลักษณะเช่นใดที่เป็นการต้องห้ามไม่ให้ใช้ประโยชน์ และหากต้องการจะใช้ประโยชน์ก็ควรต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำซากในอนาคตข้างหน้า.

You may also like

เริ่มแล้วงาน “ฤดูหนาวและงาน OTOP ของดีอำเภอหางดง” ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 20-29 พฤศจิกายน 2567 เปิดให้ชมฟรีตลอดงาน

จำนวนผู้