“นิคม”แนะตุลาการจับเข่าคุยภาคประชาชนก่อนปัญหาลุกลามเกินแก้

“นิคม”แนะตุลาการจับเข่าคุยภาคประชาชนก่อนปัญหาลุกลามเกินแก้

เชียงใหม่ / นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หวั่นขัดแย้งบ้านพักตุลาการลุกลาม นำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสถาบัน รุดปักหลักหน้าศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ทำกิจกรรม “ธรรมชาติบูชา ฮักษาป่าดอยสุเทพ” แนะศาลถอย พร้อมจับเข่าคุยกับภาคประชาชน เพื่อคลี่คลายปัญหา ส่วนจะรื้อบ้านพักหรือทำประโยชน์อื่น ควรตกลงกันให้ชัดนายนิคม พุทธา นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกิจกรรม “ธรรมชาติบูชา ฮักษาป่าดอยสุเทพ” ซึ่งมีการปักหลัก ตั้งเต๊นท์บริเวณหน้าสำนักงานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 เชียงใหม่ ถ.คันคลองชลประทาน ระหว่างวันที่ 25-29 เม.ย.61 ว่า จริงๆ แล้ว การออกมาทำกิจกรรมครั้งนี้ไม่ใช่การเรียกร้องให้รื้อหรือทุบหมู่บ้านอัยการที่กำลังถูกประชาชนต่อต้านอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ไม่ห้ามหากจะมีการทุบหรือรื้อ แล้วแต่ว่าจะมีการพูดคุยและตกลงกันอย่างไร ต้องเคารพข้อตกลงตรงนั้น

“ที่ผมมาในวันนี้ เพราะไม่อยากให้ความขัดแย้งบานปลายไปมากกว่านี้ มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรง เรายังมีเรื่องอื่นที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอีกมาก แต่กลับนำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาทะเลาะกัน ย่อมไม่เกิดประโยชน์ ซ้ำแต่ละคนก็จะเห็นว่าล้วนแล้วแต่มีวุฒิภาวะทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญา ตำแหน่งหน้าที่ การศึกษา หากเรื่องแค่นี้ยังแก้ไขกันไม่ได้ แล้วจะไปแก้ไขปัญหาบ้านเมืองต่อได้อย่างไร ปัญหาในบ้านเมืองยังมีอีกหลายเรื่องราว การสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ก็ต้องใช้ความร่วมมือของผู้คนอีกมาก จึงอยากให้ต่างฝ่ายต่างทบทวนแล้วหันหน้าเข้าหากัน มาพูดคุยกันดีๆ ขณะเดียวกันศาล ยังเป็น 1 ในสถาบันหลักที่สำคัญของประเทศ ถ้าเกิดความขัดแย้งบานปลาย ก็จะนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือได้ หากโดยส่วนตัวก็เชื่อว่าเวทีเจรจาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ มีคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ นั้น ไม่มีทางสร้างความตกลงได้ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างต้องการเอาชนะคะคานกัน เวทีอย่างไม่เป็นทางการต่างหาก ที่จะทำให้เกิดการจับเข่าคุยกันอย่างเป็นรูปธรรม” นายนิคม กล่าวก่อนอธิบายต่อไปว่าความเห็นของตนอาจไม่ตรงกับเครือข่ายทวงคืนผืนป่าเสียทีเดียว แต่ก็อยากให้ทางศาลยอมถอย ประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่ดำเนินการต่อ ส่วนจะรื้อหรือไม่รื้อขอให้พิจารณาร่วมกันในหลายๆ ด้าน อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา เกิดใครคนใดคนหนึ่งไปสั่งรื้อ อีกฝ่ายฟ้องร้องว่าทำลายทรัพย์สินราชการ เรื่องก็จะไม่จบ และจริงๆ แล้วรัฐบาลก็หนักใจกับปัญหานี้ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีเวลามาเก็บหรือลงรายละเอียดเรื่องราวเหล่านี้ พอเกิดการทะเลาะกันแล้วตกลงกันไม่ได้ จึงสร้างความลำบากใจให้รัฐบาล ฉะนั้นรัฐบาลจะดีใจมากถ้าทั้ง 2 ฝ่าย คือภาคประชาชน กับศาล สามารถตกลงกันได้

นายนิคม กล่าวต่อไปว่า ถ้าให้คาดเดา อย่างดีรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงยื้อเวลา โดยบอกว่าเรื่องนี้มีความคืบหน้าในแง่ของการสรุปประเด็น ทีนี้แต่ละประเด็นก็มีรายละเอียด จึงให้มีคณะทำงานแต่ละประเด็นเพื่อพิจารณา และขอเวลาอีกเล็กน้อย เรื่องก็จะไม่จบ และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์ทางศาลหรือผู้พิพากษาจะยืนยันว่าต้องดำเนินการต่อ ทำให้ประชาชนต้องคิดค้นกลวิธีที่จะโต้ตอบ มิหนำซ้ำยังมีการคิดดำเนินคดีกับผู้นำคัดค้านในข้อหาหมิ่นประมาท เสมือนเอาน้ำมันไปราดบนกองไฟ ในขณะที่ภาคประชาชนก็ประกาศจะยกระดับความเคลื่อนไหวในอีก 4-5 วันนับจากนี้ (29 เม.ย.) ถือว่าหมิ่นเหม่ต่อการเกิดความขัดแย้งที่รุนแรง จึงออกมาทำกิจกรรม และเชิญชวนให้ทุกฝ่ายออกมาช่วยกันคลี่คลายปัญหาด้วยความประนีประนอมในแง่กฎหมายพื้นที่สร้างบ้านพักตุลาการอาจจะอยู่นอกผืนป่า แต่ในแง่ของธรรมชาติ มันคือป่าผืนเดียวกัน นอกจากนี้ในการเข้าไปอยู่ในเขตป่า จากการสอบถามชาวบ้านระแวกนี้ บอกว่ามองอย่างไรก็เห็นเป็นป่าผืนเดียวกัน แต่กลับมีรถแบ็คโฮเข้ามาขุดดิน ทำให้เกิดความสงสัยว่าทำได้อย่างไร กระทั่งทราบว่าเป็นหน่วยงานของราชการ ทั้งที่ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ที่ควรเข้าไปอยู่ ไม่ได้จำกัดว่าเป็นศาล ผู้พิพากษา แต่ใครก็ไม่ควรเข้าไปอยู่ ไม่ควรเปิด หรือบุกเบิกพื้นที่

ขณะเดียวกันเมื่อมองการสูญเสียผืนป่าแค่ 100 ไร่เศษ ถือว่าไม่มาก หากผลที่เกิดขึ้นถ้าแก้ไขปัญหาตรงนี้สำเร็จ จะเกิดประโยชน์กับผืนป่าอีกมากมาย ต่อไปการใช้ประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการต้องระมัดระวังให้ดี ทำอย่างไรจะไม่ใช้อำนาจหน้าที่ ตัวบทกฎหมาย เงื่อนไข ไปบุกรุกป่าพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศอีก เพราะต่อไปชาวบ้านบุกรุกป่าไม่ได้แล้ว มีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราม จับกุม มีบทลงโทษรุนแรง แต่คนที่จะบุกรุกทำลายป่าคือหน่วยงานราชการ ที่บางครั้งอาจทำเพื่อพัฒนาถนนหนทาง สร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมในสังคม เข้าไม่ถึงทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ  อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง ถือว่าเราได้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถที่จะนำไปเป็นบทเรียน ปรับปรุงแก้ไข หรือป้องกันการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในที่อื่นๆ ได้“สำหรับเป้าหมายการทำกิจกรรมครั้งนี้ เหมือนกับกับภาคประชาชน และเครือข่ายทวงคืนผืนป่า ตรงที่อยากให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ไว้ แต่ไม่เรียกร้อง กดดัน หรือขีดเส้นตายให้รื้อถอนในทันที อยากให้มีการพบปะเจรจา แล้วกระบวนการพูดคุยก็จะพัฒนาไปสู่การรู้จักกัน ได้รู้ถึงสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละฝ่าย และรู้ถึงข้อจำกัดของแต่ละฝ่ายว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไร ทั้งนี้เวทีพูดคุยที่พูดถึงนี้แตกต่างจากเวทีของคณะกรรมการ หรือคณะทำงานในจังหวัด และเหมือนจะมีสัญญาณที่ดี เมื่อเช้านี้ (25) ตัวแทนของเครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียน ขณะที่ตัวแทนของศาลเองก็มาเยี่ยมเยียนด้วย โดยตัวแทนของศาลบอกว่าจะนำข้อเสนอนี้ไปหารือว่าจะพบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกันไหม อย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่าทางศาลหรือผู้พิพากษาอาจไม่คุ้นเคยกับการพูดคุยแบบนั่งกับพื้นคุยกันเช่นนี้มาก่อน” นายนิคม กล่าว

ปัญหาคือถ้าตกลงกันไม่ได้ ต่างฝ่ายก็จะไม่ลดราวาศอก ต้องดิ้นรนขวนขวายหาช่องทางต่อสู้ทุกวิถีทาง ทั้งบนดิน ใต้ดิน ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้อำนาจตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาลกลาง หรือนายกรัฐมนตรี ท้องถิ่นตัดสินใจอะไรไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครอง ไม่ได้กระจายอำนาจอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันคนในท้องถิ่น หรือกลไกทางการเมืองในระดับภูมิภาค ก็ควรพัฒนาระดับสติปัญญา หรือสร้างกลไกบางอย่างเพื่อคลี่คลายปัญหาหรือตกลงกันเอง ไม่ใช่อะไรก็โยนให้ส่วนกลางตัดสินใจให้ ซ้ำเรื่องนี้ศาลยังออกมายืนยันว่าทำถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่ประชาชนทั้งเมืองออกมาบอกว่าไม่เหมาะไม่ควร ก็น่าจะยอมอันที่จริง เราสูญเสียงบประมาณไปกับการคอรัปชั่น การทุจริต การเผาบ้านเผาเมืองเยอะแยะ และในส่วนที่ใช้ไปกับการปลูกสร้างอาคารที่พักตุลาการ ก็ต้องยอมรับว่าสูญเสีย แต่ควรยอมสูญเสีย แล้วเริ่มต้นใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และไม่ให้เป็นแบบต่อไป ส่วนของการรื้อถอนนั้น ถ้าไม่รื้อ ส่วนตัวเคยเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาก่อน ก็มองว่าควรเป็นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาจเป็นหน่วยป้องกัน หน่วยส่งเสริมชาวบ้านรักษาป่า ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติวิทยา เชียงใหม่มีสถาบันการศึกษาจำนวนมาก สามารถใช้ผืนป่าแห่งนี้เป็นเสมือนห้องเรียนกลางแจ้ง (Out door education) เพียงแต่ที่ผ่านมาบางครั้งก็ติดกับกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ อาจารย์จึงไม่นำนักศึกษามาเรียนรู้ในป่า เรียนรู้แค่ในห้องเรียน ความรู้ที่เกิดขึ้นก็วนไปวนมาเหมือนพายเรือในอ่าง องค์ความรู้ไม่พัฒนา

ถ้าคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากป่าให้เป็นต้นทุนสำหรับการเรียนรู้ ก็จะได้อะไรมากมาย เช่น เรียนรู้เรื่องพรรณพืช พืชบางอย่างเป็นได้ทั้งสมุนไพรและยา เรียนรู้เรื่องดิน-ธรณีวิทยา เรียนรู้เรื่องลม-อุทกศาสตร์ เรียนรู้เรื่องน้ำ-อุทกวิทยา เรียนรู้เรื่องระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงด้านอาหาร การไหลของน้ำ สัตว์ป่าต่างๆ ผลผลิตของป่าที่ไม่ใช่เนื้อไม้เป็นเรื่องน่าสนใจมาก และมีมูลค่ามากกว่าการตัดไม้ขายหลายเท่า เช่น ไข่มดแดง เห็ดเผาะ หน่อไม้ เป็นต้น.

You may also like

เริ่มแล้วงาน “ฤดูหนาวและงาน OTOP ของดีอำเภอหางดง” ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 20-29 พฤศจิกายน 2567 เปิดให้ชมฟรีตลอดงาน

จำนวนผู้