ข้อมูลสุขภาพปี 2558 พื้นที่ อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ โดยโรงพยาบาล ตรอน พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจำนวน 22 ราย โดย 17 รายเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือชาวบ้านจาก ต.บ้านแก่ง กับ ต.วังแดง ซึ่งมีการทำนามากที่สุด ทำให้โรงพยาบาลตรอนค้นหาสาเหตุ และพบข้อสันนิษฐานหนึ่ง ว่าพื้นที่ ต.บ้านแก่ง อ.ตรอน เป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญของ จ.อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะข้าว หอม กระเทียม และพืชผัก การเพาะปลูกส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาสารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เป็นจำนวนมาก และนี่อาจส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้านข้อมูลที่พบนี้ ถูกส่งคืนสู่ชุมชน และหมู่บ้านพงสะตือ ต.บ้านแก่ง อ.ตรอน ได้นำข้อมูลนี้เป็นฐาน เพื่อนำไปจัดการแก้ปัญหา หวังให้ชุมชนกลับมาน่าอยู่อีกครั้ง พร้อมกับขอรับการสนับสนุนและเข้าร่วมโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อปี 2558-2559 โดยมีการจัดตั้งสภาผู้นำ มีการทำแผนชุมชน และส่งเสริมชาวบ้านปลูกผักปลอดสารไว้รับประทานในครัวเรือน มุ่งหวังให้ทุกคนมีสุขภาพดี และสร้างชุมชนให้น่าอยู่ จนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจต่อมาทางสภาผู้นำของหมู่บ้านพงสะตือได้หารือกันถึงสภาพปัญหาของชุมชนที่ยังดำรงอยู่ พบว่าขณะนี้ชาวบ้านเผชิญกับกองทัพแมลงวันฝูงใหญ่ ที่สาเหตุหนึ่งเกิดจากกองมูลไก่ เพราะรอบหมู่บ้านมีฟาร์มไก่ 5-6 ฟาร์มด้วยกันสภาผู้นำบ้านพงสะตือจึงได้หาทางออกร่วมกับชาวบ้าน โดยทำน้ำหมักชีวภาพสูตรไล่แมลงวัน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งน้ำหมักดังกล่าวนี้ มีส่วนผสมประกอบด้วยเหล้าขาว น้ำส้มสายชู อีเอ็ม กากน้ำตาล ข่า ตะไคร้ นำมาหมัก 21 วัน เมื่อได้ที่ก็นำมาผสมน้ำ อัตรา 10 ซีซี : น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในบริเวณที่เป็นจุดกำเนิดแมลงวัน เช่น กองมูลสัตว์ กองขยะ ระหว่างนั้นสภาผู้นำชุมชนจะคอยสอดส่องให้มีการฉีดพ่นพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน ทำให้ตัวอ่อนของแมลงวันตาย และสามารถดับกลิ่นได้เป็นอย่างดีปรารถนา ศรีชาวนา เลขานุการสภาผู้นำชุมชนหมู่ 6 กล่าวถึงมาตรการที่ทางชุมชนกำลังดำเนินการ เพื่อให้ปลอดจากแมลงวันอย่างยั่งยืน ว่าได้ประสานงานกับทางนายอำเภอ เชิญทางผู้ประกอบการฟาร์มไก่ทั้ง 5 แห่งที่อยู่ใกล้ๆ หมู่บ้าน มาร่วมกันทำข้อตกลงกัน เพื่อนำน้ำหมักชีวภาพเข้าไปฉีดพ่นในฟาร์มไก่ด้วยจะได้ช่วยป้องกันการเกิดแมลงวันรุ่นใหม่ และขจัดกลิ่นขี้ไก่ได้อีกทางหนึ่งนอกจากนี้ทางสภาผู้นำ ยังได้ทำประชาคมหมู่บ้าน สร้างข้อตกลงร่วมกัน 4 ข้อ เพื่อป้องกันแมลงวัน คือ 1) ทุกครัวเรือนต้องคัดแยกขยะแห้ง ขยะเปียก 2) ทุกครัวเรือนต้องทำความสะอาดครัวเรือน และตรวจสอบแหล่งก่อให้เกิดแมลงวันในครัวเรือน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 3) ทุกครัวเรือนต้องร่วมกันทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน และปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม เช่น ถนน โรงเรียน ศาลาอเนกประสงค์ ในวันสำคัญต่างๆ 4) ทุกครัวเรือนต้องปลูกผักปลอดสารพิษอย่างน้อย 5 ชนิดสมรส มั่นกำเนิด ผู้ใหญ่บ้านพงสะตือ กล่าวเสริมว่า กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ตั้งขึ้น ล้วนได้รับความเห็นชอบและยอมรับจากชาวบ้านทุกครัวเรือน อย่างเช่น ชวนชาวบ้านปลูกผักปลอดสารพิษ ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านดีมาก ขณะนี้มีมากกว่า 180 ครัวเรือนจากทั้งหมด 191 ครัวเรือนที่หันมาปลูกผักผลตอบรับดังกล่าว นำมาซึ่งความตระหนักของสมาชิกในชุมชนที่มีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันช่วยสร้างรายได้ในครัวเรือนจากการขายผัก พร้อมทั้งมีการคิดค้นสูตรอาหาร หรือเมนูสุขภาพใหม่ๆ จากผักสวนครัวที่ปลูก ซึ่งได้ทั้งหมด 10 เมนู ได้แก่ ยำหยวก แกงหยวกโบราณ ป่นมะเขือ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกน้ำปลาแกงขี้เหล็ก แกงเลียง คั่วหน่อไม้ ขนมจีนน้ำยา และแกงส้มผักรวม“เมนูสุขภาพที่เกิดขึ้น สัมพันธ์กับวิถีความเชื่อของคนในชุมชนที่สืบเชื้อสายมาจากลาวเวียง เช่น ยำหยวก หรือแกงหยวกโบราณ ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะบอกสืบกันมาว่า ปีหนึ่งๆ ให้กินหยวกอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อล้างลำไส้ ขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มสารอาหารประเภทโปรตีน ก็ใส่งาดำ งาขาว ปลาย่าง ไปในยำหยวกด้วย เวลากินแกล้มด้วยผักสดนานาชนิด ได้วิตามิน ส่วนป่นมะเขือ ก็เป็นอาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุและเด็ก เพราะย่อยง่าย และมีรสชาติกลมกล่อม ได้รสชาติหวานจากมะเขือตามธรรมชาติ” ผู้ใหญ่บ้านพงสะตือ อธิบายทั้งเมนูสุขภาพและน้ำหมักกำจัดแมลงวัน ถือเป็น “ผลผลิต” ของชุมชนเข้มแข็งอย่างบ้านพงสะตือเพราะเป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่า หากสร้างการมีส่วนร่วมผ่านแกนนำในชุมชน ซึ่งในที่นี้คือ “สภาผู้นำ” ประสบความสำเร็จ กิจการงานใดในชุมชน ล้วนทำได้ไม่ยาก.