“บิ๊กฉัตร”ลงพื้นที่ดูอุโมงค์ผันน้ำปิงตอนบนเผยเตรียมสร้างอุโมงค์ปิงตอนล่างผันเข้าภูมิพล

“บิ๊กฉัตร”ลงพื้นที่ดูอุโมงค์ผันน้ำปิงตอนบนเผยเตรียมสร้างอุโมงค์ปิงตอนล่างผันเข้าภูมิพล

“บิ๊กฉัตร”ลั่นงานก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวงไร้ข้อกังวล ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญทั้งน้ำกิน น้ำใช้ เกษตรและอุตสาหกรรม เชื่อเสร็จทันปี 64 พร้อมเดินหน้าช่วงแม่ปิงตอนล่างสร้างอุโมงค์ผันน้ำลงเขื่อนภูมิพล

ที่บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์เข้า-ออกหมายเลข 1,2 บ้านทับเดื่อ ต.อินทขิล อ.แม่แตง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีการเจาะอุโมงค์ส่งน้ำที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย โดยมีนายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน และดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นผู้บรรยายสรุป

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ครั้งนี้มาติดตามความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนงานภายในปี 2564 เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งเป็นปัญหาที่เด่นชัดและเมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศก็ต้องการให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอทั้งอุปโภค บริโภค เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำปิงหรือลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยจะดำเนินการบริหารจัดการน้ำจาก 3 แหล่งคือน้ำแม่แตง เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและเขื่อนแม่ กวงอุดมธารา ซึ่งกรมชลประทานตั้งงบฯไว้ 15,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างระยะแรกตั้งแต่ปี 2558 และระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2559-2561 แต่ด้วยการบริหารจัดการและทำงานที่รัดกุมทั้งการออกแบบและประมูลหาผู้รับจ้าง ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 30% ขณะที่ผลการดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง อยู่ที่ร้อยละ 17 แม้จะล่าช้ากว่าแผนงานบ้างแต่ก็คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2564

“โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงฯนี้ ได้ใช้หลักคิดจากศาสตร์พระราชา คือ อ่างพวง โดยใช้ศักยภาพของอ่างเก็บน้ำมาเติมน้ำในเขื่อน จากน้ำในลำน้ำแม่แตงที่มีปริมาณมากทุกปีในฤดูน้ำหลากจะไหลผ่านเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ก็จะผันน้ำไปลงเขื่อนแม่งัดฯสำหรับเขื่อนแม่งัดฯจะเป็นอ่างกวมที่เอาน้ำไปเติมให้กับเขื่อนแม่กวงฯ ซึ่งโครงการนี้ก็จะช่วยได้ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง และที่สำคัญตัวโครงการนี้สามารถเพิ่มพื้นที่การเกษตรได้อีก 4 เท่าจากเดิมที่มีพื้นที่เกษตรในเขตชลประทาน”รองนายกรัฐมนตรี กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ที่จริงโครงการผันน้ำนี้เป็นโครงการที่ศึกษามานาน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดขัดเรื่องปัญหาพื้นที่ก่อสร้างซึ่งอยู่ในเขตป่า ผมได้หารือกับรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะกรรมการแล้ว โดยจะนำเรื่องเข้าครม.เร็วๆ นี้ ทำให้ทุกสัญญาเดินหน้าได้เต็มที่ จากนี้ไปก็จะเร่งรัดแผนงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำปิงตอนกลาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพลำน้ำแม่แตงให้เป็นคูดักน้ำเพื่อดักน้ำจากดอยสุเทพเอาไว้ใช้ด้วย

โครงการต่อไปก็จะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลซึ่งจะมีการผันน้ำจากช่วงกลางแม่น้ำปิงและปลายแม่น้ำปิงเข้าสู่เขื่อนภูมิพลซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ โดยจะมีการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร มีการออกแบบไว้แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประชาพิจารณ์ก่อน

ทั้งนี้โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมมธารา มีการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงอ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ-อ่างเก็บน้ำแม่กวงฯ และอาคารประกอบระยะทาง 22.975 กิโลเมตร ปัจจุบันสามารถขุดได้ระยะทาง 4,713 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้าร้อยละ 27 ส่วนช่วงที่ 2 เป็นการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงลำน้ำแม่แตง-อ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ และอาคารประกอบ ระยะทาง 25.624 กิโลเมตรปัจจุบันสามารถขุดได้ระยะทาง 647 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้าร้อยละ 10

สำหรับการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในการดำเนินโครงการฯ นั้น การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำทั้ง 2 ช่วง จะใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติรวมกันประมาณ 745 ไร่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จะเหลือเฉพาะพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จำนวนประมาณ 229 ไร่ อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

“เมื่อโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธาราแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำของพื้นที่ชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จำนวน 175,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จำนวน 14,550 ไร่ และยังช่วยสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จากปีละ 13.31ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 49.99 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งยังจะเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน ซึ่งกรมชลประทานจะน้าระบบโทรมาตรและระบบเตือนภัยน้ำท่วมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและเตือนภัยจากน้ำหลากที่เกิดขึ้นล่วงหน้าอีกด้วย.

You may also like

มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม” ภายใต้แนวคิด The Golden of Lanna

จำนวนผู้