“รัฐมนตรีวราวุธ” ขอให้ทุกจังหวัดเร่งรัดดำเนินการป้องกันไฟป่า หมอกควันและฝุ่น PM 2.5 จัดงบให้จังหวัดละ 1-4 ล้านบาทสนับสนุนการจัดเก็บเชื้อเพลิงชิงเก็บเพื่อลดการเผา ชี้หากค่าคุณภาพอากาศเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ให้หยุดชิงเผาทันที ให้จังหวัดลดและควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างเข้มงวด
14 มกราคม 2564 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ประชุมข้อราชการสำคัญผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) กับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเข้าร่วมประชุม
โดยในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีประเด็นไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามกลไกของพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการในระดับพื้นที่ จึงขอให้ทุกจังหวัดเร่งรัดดำเนินการ โดย ทส. ยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนี้
1. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 โดย
1.) พิจารณาจัดตั้งชุดปฏิบัติการมวลชนลงพื้นที่สร้างการรับรู้และสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยเป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง ทส. ฝ่ายปกครอง ทหาร และจิตอาสาพระราชทาน เพื่อสื่อสารการดำเนินงานของภาครัฐให้ประชาชนรับทราบ เพื่อให้เข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วม (เช่น การลดปริมาณเชื้อเพลิงโดยการชิงเก็บ)
2.) ส่งเสริมบทบาทของเครือข่ายภาคประชาชน และการทำงานร่วมกับจิตอาสาพระราชทาน โดยจัดการฝึกอบรมให้ความรู้และมอบหมายการปฏิบัติงาน เพื่อให้เครือข่ายภาคประชาชนและจิตอาสา เป็นแนวร่วมในการสื่อสาร และเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมของภาครัฐ ทั้งการชิงเก็บ การจัดทำแนวกันไฟ การทำฝาย การปลูกป่า การดูแลรักษาป่าและป้องกันไฟป่า
3.) สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ อบต. นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สนับสนุนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยการชิงเก็บ เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมในการประชุม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ได้อนุมัติงบประมาณ ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) 17 จังหวัดภาคเหนือ วงเงิน 33 ล้านบาท (จังหวัดละ 1 – 4 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่) เพื่อขับเคลื่อนการชิงเก็บในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ
4.) สำหรับจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัด กำหนดให้มีการจัดการเชื้อเพลิงโดยการชิงเผา ทส. มอบหมายให้ ทสจ. เป็นผู้สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้กับ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อบัญชาการการจัดการเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและไม่ส่งผลให้ฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ หากฝุ่นละอองสูงเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขอให้พิจารณางดการชิงเผาทุกกรณี
2. ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ร่วมกับ ทส. และ มท. ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “จิตอาสา” ตามโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ไปแล้วกว่า 1,200 คน ใน 12 จังหวัด และจะดำเนินการให้ครบทั่วประเทศภายในปี 2570 จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำชับและสนับสนุนการต่อยอดการฝึกอบรมไปสู่ระดับตำบลและชุมชน โดยให้ฝ่ายปกครอง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เกษตรอำเภอ ทหาร ตำรวจ และจิตอาสาพระราชทาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปขยายผลในรูปแบบของหลักสูตรชุมชนต่อไป
3. ขอให้จังหวัดลดและควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในปริมาณค่อนข้างสูง และกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายรับซื้ออ้อยไฟไหม้ไม่เกินร้อยละ 20 ในปี 2564 ขอให้กำชับหน่วยงานรับผิดชอบให้ดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย
4. ในพื้นที่เกษตรกรรมทั้งในและนอกเขตป่า ขอความร่วมมือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด จัดทำข้อมูล/แผนที่พื้นที่แปลงเกษตรที่มีการ “เผาซ้ำซาก” โดยระบุพิกัดที่ชัดเจนเป็นไฟล์ดิจิทัล เพื่อใช้ในการกำกับติดตาม และการสื่อสารทำความเข้าใจให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
5. ทส. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่รวบรวมแผน/ผลการป้องกันและแก้ไขไฟป่า หมอกควันและ PM2.5 ของหน่วยงานภายใน ทส. และรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเพื่อใช้ในการติดตามสถานการณ์ และประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาทุกสัปดาห์
6. ทส. ได้ส่งรายงานคุณภาพอากาศ ข้อมูลจุดความร้อน พร้อมทั้งการคาดการณ์สภาพอากาศในช่วง 1 – 3 วันข้างหน้า ให้ ทสจ. และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการกำหนดมาตรการในการรับมือสถานการณ์และแก้ไขปัญหา
7. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งรัดดำเนินการลดและควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศอื่นๆ ทั้งการจราจร การก่อสร้าง และภาคอุตสาหกรรม