ผู้ว่าฯเชียงใหม่จับเข่าชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำ วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนกแต่ขอให้เชื่อข้อมูลข่าวสารของทางราชการ แนะชะลอปลูกข้าวออกไปก่อน ยอมรับปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยกว่าปี 58 ที่เคยเกิดวิกฤตภัยแล้ง ผอ.ชลประทานที่ 1 ยอมรับแล้งสุดในรอบ 98 ปีของเชียงใหม่เกิดภัยแล้งในฤดูฝน
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 20 ก.ค.62 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 1 นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่,นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่,นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผจ.เชียงใหม่,พ.อ.อโณทัย ชัยมงคล รองผบ.มทบ.33 ,นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักชลประทานที่1 เชียงใหม่,นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวง เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาช่วงฝนทิ้งช่วง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า แม้ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝนแต่เมื่อดูปริมาณน้ำฝนพบว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยและยังเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ทั้งนี้จังหวัดเชียใหม่ได้มีการเตรียมความพร้อมและได้สั่งการไปเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนให้ทุกอำเภอตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และภัยแล้ง โดยมอบภารกิจให้สำนักงานชลประทานที่1 สำนักงานชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รับผิดชอบร่วมกันกับอำเภอด้วย
“ที่เชิญประชุมหารือเร่งด่วนก็เพราะฝนทิ้งช่วงและอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำกักเก็บน้อย จึงต้องการมารับฟังจากส่วนที่รับผิดชอบและขอให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประสานการทำงานร่วมกัน เป็นการประเมินสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าเพราะขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนมาแล้ว 2 เดือนแม้เชียงใหม่จะยังไม่ประสบปัญหาภัยแล้งเหมือนพื้นที่อื่นแต่ก็ต้องเฝ้าระวัง และขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกเนื่องจากยังมีเวลาเตรียมการอยู่ แต่ยอมรับว่าเป็นห่วงที่ฝนตกลงมาในพื้นที่น้อย แต่พื้นที่เกษตรโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 3 แสนไร่อยากจะให้ชะลอไว้ก่อน รวมถึงกระชังเลี้ยงปลาในลำน้ำปิง นอกจากนี้ก็ได้ขอให้ทางเกษตรจังหวัดเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย ซึ่งตอนนี้ถ้าดูตามแผนการบริหารจัดการน้ำแล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาการแย่งชิงน้ำเกิดขึ้นถ้าหากทุกฝ่ายเคารพกติตาและทำตามคำแนะนำของทางราชการ”ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว
ส่วนทางด้านนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักชลประทานที่ 1 กล่าวว่า ทางสำนักงานชลประทานที่1 ได้ติดตามสถานการณ์และเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน้ำในลำน้ำปิงปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว 78% เฉลี่ย1.2%ของลำน้ำ ขณะที่เขื่อนแม่กวงฯปีนี้เหลือน้ำ 17% แม่งัดฯเหลือน้ำ29% แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงที่มีปัญหาภัยแล้งเมื่อปี 2558 ซึ่งอ่างและเขื่อนเก็บน้ำมีปริมาณน้ำกักเก็บน้อย แม้น้ำต้นทุนของเขื่อนแม่งัดฯปีนี้จะมีมากกว่าปี 58 แต่เขื่อนแม่กวงฯน้ำต้นทุนมีน้ำต้นทุนน้อยกว่า 5%
“ปีนี้ต้องยอมรับว่าเป็นปีที่มีปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน และเป็นปรากฏการณ์แล้งสุดในรอบ 98 ปีของจังหวัดเชียงใหม่ จากที่เคยเจอสภาพปัญหาแล้งสุดในปี 2558 มาแล้ว ซึ่งในปีนั้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงช่วงต้นฤดูแล้งยังมีน้ำเก็บกักอยู่ 70% แต่ปีนี้มีน้ำ 100% แต่พอเข้าสู่วันที่ 20 พ.ค.เป็นต้นมาก็เริ่มมีการใช้น้ำจนน้ำต้นทุนลดลงและตอนนี้ก็ฝากความหวังไว้กับช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.ว่าจะมีมรสุมและทำให้น้ำไหลเข้าอ่างฯได้ “ผอ.สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า
ในส่วนของเขื่อนแม่กวงฯน้ำที่นำไปใช้หลักคือผลิตน้ำประปาเดือนละกว่า 1 ล้าน ลบ.ม.แต่ถ้าหากเกิดวิกฤติก็ยังไม่น่าห่วงมากนักเพราะประปาได้ย้ายโรงกรองน้ำไว้เหนือเขื่อน ถึงน้ำในเขื่อนจะวิกฤติแต่ประชาชนก็จะไม่ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค ส่วนพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะไม้ยืนต้นที่ปลูกแล้ว 2.5 หมื่นไร่ก็จะมีการบริหารจัดการน้ำให้โดยหวังว่าจะรอดได้เหมือนปี 2558
สำหรับโครงการแม่แตงซึ่งต้องบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุม 5 อำเภอนั้นจะแบ่งน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาเดือนละ 1 ล้านลบ.ม.เท่ากับเขื่อนแม่กวงฯ โดยจะปล่อยน้ำผ่านคลองชลประทานมาผ่านสนามฯ 700 ปีซึ่งประปาจะมีสถานีสูบน้ำดิบอยู่ที่อุโมงค์ นอกจากนี้ก็ยังต้องจัดสรรน้ำเข้าสู่คูเมืองและจัดสรรน้ำให้ภาคเกษตร
“ปัญหาในการบริหารจัดการน้ำคือ เป็นการบริหารตามทางยาวเนื่องจากแม่น้ำปิงไหลผ่านเป็นแนวยาวผ่าน 15 อำเภอ 200 กว่ากิโลเมตรและตลอดแนวมีการใช้น้ำตลอดเส้นทาง แต่พื้นที่การปกครองจะมีลักษณะเป็นวงกลมพื้นที่หรือเขตปกครองแยกกัน สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการและวางแผนไว้ก็คือไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น ปีนี้ข้าวราคาดี เกษตรกรมีการปลูกกันมากประกอบกับจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นอีก ต้องควบคุมไม่ให้มีการนำประเด็นสถานการณ์น้ำเข้าไปเกี่ยวข้อง เราไม่อยากให้มีประเด็นปัญหาเหมือนพื้นที่อื่นที่มาชุมนุมกดดันกัน แต่ควรจะมาแสวงหาความร่วมมือกันเพื่อให้ทุกส่วนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เสมอภาคกัน”นายจานุวัตร กล่าว
ทางด้านนายอภิวัฒน์ ภูมิไธสงค์ ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำฯ สำนักงานชลประทานที่1 กล่าวว่า ปีนี้คาดการณ์าจะมีพายุเข้ามาอีก 2 ลูกซึ่งปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบันฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 100-200 มิลลิเมตรหรือ 50-65% และฝนก็มีการตกเป็นหย่อมๆ โดยปัจจุบันแหล่งน้ำขนาดเล็กมีน้ำเก็บกัก 47% แหล่งน้ำขนาดกลาง29% ซึ่งการบริหารจัดการน้ำจะเน้นน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ให้เพียงพอทั้งปี และส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนโดยให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและใช้น้ำชลประทานมาเสริม และจะบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน
สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปีนี้มีพื้นที่เพาะปลูก 492,401 ไร่โดยจะมีการใช้น้ำรวม 493.44 ล้านลบ.ม.น้อยกว่าปีที่แล้วแสนกว่าไร่ โดยขอแนะนำให้ปลูกในเดือนสิงหาคมและจะพยายามเก็บกักน้ำให้มากที่สุด โดยคาดว่าเมื่อสิ้นฤดูฝนจะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนแม่งัดฯถึง90 ล้านลบ.ม. ส่วนเขื่อนแม่กวงปัจจุบันมีน้ำเหลือ 15 ล้านลบ.ม.น้อยกว่าปีที่แล้ว26% แต่ก็ยังมากกว่าปี58 จำนวน15 ล้านลบ.ม.
“ปีนี้ฝนน้อยทำให้น้ำไหลตามธรรมชาติผ่านแม่น้ำปิงน้อยตามไปด้วย แต่ก็ยังมากกว่าปี 58 โดยช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้รับการประสานให้เขื่อนแม่งัดฯเปิดระบายน้ำมาให้แม่น้ำปิง 2 ครั้ง3.5 ล.ลบ.ม.และจากการเฝ้าระวังสถานีผลิตน้ำประปา 8 แห่งมีสถานีวิกฤติและเฝ้าระวัง เพราะประปาต้องการใช้น้ำสัปดาห์ละ 1.02 ล.ลบ.ม.ในการเตรียมการรับมือช่วงนี้ นโยบายของกรมชลประทานสั่งการให้เน้นเรื่องอุปโภค-บริโภคก่อน โดยให้ระบายน้ำจากเขื่อนฯมาช่วยโดยวางแผนบริหารจัดการน้ำไว้ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม”ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำฯกล่าว
ขณะที่นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.แม่กวงฯ กล่าวว่า ภาคเหนือมีฝนน้อยกว่าที่อื่น 28% แต่พื้นที่เขื่อนแม่กวงฝนตกน้อยกว่าปีที่แล้ว 72% โดยตั้งแต่เข้าฤดูฝนมา 2 เดือนมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพียง 2 ล.ลบ.ม.ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งพื้นที่เกษตรรับน้ำรอบแรกใช้ไปแล้ว 16.26 ล.ลบ.ม.น้ำ ต้องสำรองน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคไว้ 11 ล.ลบ.ม.และมีน้ำก้นอ่าง 14 ล.ลบ.ม. โดยปัจจุบันน้ำในเขื่อนแม่กวงฯมีน้ำเหลือ 45 ล.ลบ.ม.ดังนั้นเหลือน้ำให้บริหารจัดการเพื่อการเกษตรเพียง 20 ล.ลบ.ม.หากฝนไม่ตกลงมาเพิ่มเติมขณะที่ความต้องการใช้น้ำปกติในช่วงฤดูฝนเฉลี่ย 85 ล.ลบ.ม.จากความจุของเขื่อน 263 ล.ลบ.ม.ถ้าไม่มีฝนมาเพิ่มเติม แต่ยังมีมาตรการให้ไปสำรวจแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ เช่น แก้มลิง สระน้ำ รวมถึงบ่อดินทั้ง 5 อำเภอ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองในกรณีวิกฤต
“ตอนนี้ชาวบ้านยังไม่เข้าใจ และคิดว่าเข้าฝนแล้วขอปลูกไปก่อน ซึ่งในส่วนของแม่กวงฯเองได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน(JMC)และทางอำเภอดอยสะเก็ดไปแล้ว และมีแผนที่จะลงพื้นที่ไปประชุมกับอีก 4 อำเภอในพื้นที่รับน้ำ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ รวมถึงเข้าไปอยู่ในกลุ่มไลน์ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อจัดส่งข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ทราบ ทุกเช้าก่อน 09:00 น.เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ สิ่งที่จะเน้นย้ำคือขอให้ชาวบ้านเชื่อข้อมูลข่าวสารของทางราชการด้วย หากยังดื้อที่จะปลูกข้าวกันตอนนี้ มีโอกาสเสี่ยงที่ปลูกไปแล้วเกิดเสียหาย จะเป็นการสูญเปล่า เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง การบริหารจัดการน้ำก็มีการจัดรอบเวรที่ชัดเจน หากทำตามมติที่ประชุมและข้อตกลงก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น”นายเจนศักดิ์ กล่าว