ฝนหลวงเร่งทำปฏิบัติการเพิ่มน้ำต้นทุน เผย 20 เขื่อนยังมีน้อย หวั่นปัญหาภัยแล้งที่จะถึง

ฝนหลวงเร่งทำปฏิบัติการเพิ่มน้ำต้นทุน เผย 20 เขื่อนยังมีน้อย หวั่นปัญหาภัยแล้งที่จะถึง

รมช.เกษตรฯติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ เป้าหมายเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อน 20 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งเขื่อนแม่กวงและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งพื้นที่ประสบภัยแล้งภาคเหนือ

วันที่ 26 ตุลาคม 2562 เวลา 10.30 น. ที่บริเวณเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร บรรยายสรุปภาพรวมของการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำและพื้นที่ประสบภัยแล้ง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ บรรยายการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ที่รับผิดชอบ พื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ และพื้นที่ประสบภัยแล้ง ผู้แทนกรมชลประทาน บรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำต้นทุนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และการจัดสรรน้ำด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

จากนั้นในช่วงบ่าย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เดินทางไปยังพื้นที่ บ้านเวียงทอง หมู่ที่ 25 ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นประธานในพิธีการส่งมอบหนังสืออนุญาตการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) จำนวน 30 ราย ส่งมอบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนในพื้นที่อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 6 แห่ง และพบปะอาสาสมัครฝนหลวง (มะม่วงแปลงใหญ่) พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ด้านการเกษตรในพื้นที่ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนและผลการปฏิบัติการฝนหลวง ประจําปี 2562 โดยมีภารกิจในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ ตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจําปี 2562 โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจําภาคทั้ง 5 ศูนย์ฯ ได้ดําเนินการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 20 ตุลาคม 2562 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จํานวนทั้งสิ้น 223 วัน โดยมีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฯ คิดเป็นร้อยละ 89.44 และขึ้นบินปฏิบัติงาน จํานวน 6,113 เที่ยวบิน (8,668 : 32 ชั่วโมงบิน) โดยมีผลการปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้ 1) จังหวัดที่มีการรายงานฝนตกรวม 59 จังหวัด 2) พื้นที่ประสบภัยแล้งที่ได้รับการช่วยเหลือ คิดเป็นร้อยละ 78.04 และ 3) มีการเพิ่มปริมาณน้ําต้นทุนให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ จํานวน 2,923.22 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จํานวน 43.21 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นทําให้มีปริมาณน้ำสะสมทั้งหมด 2,966.43 ล้าน ลบ.ม.

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร  กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จํานวน 11 หน่วยปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก ลพบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ ระยอง สุราษฎร์ธานี และสงขลา และมีฐานเติมสารฝนหลวง จํานวน 3 ฐาน ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว บุรีรัมย์ และนครสวรรค์ มีอากาศยาน จํานวน 28 ลํา ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จํานวน 20 ลํา (Caravan จํานวน 10 ลํา Casa จํานวน 6 ลํา Super King Air จํานวน 2 ลํา และ CN-235 จํานวน 2 ลํา) อากาศยานของกองทัพอากาศ จํานวน 7 ลํา (BT-67 จํานวน 3 ลํา และ AU-23 จํานวน 4 ลํา) และอากาศยานของกองทัพบก จํานวน 1 ลํา (Casa จํานวน 1 ลํา) เพื่อเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำด้านการเกษตรในช่วงปลายฤดูฝน

รวมทั้ง เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ จํานวน 20 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่มอก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลําพระเพลิง เขื่อนลําตะคอง เขื่อนลําแชะ เขื่อนลํานางรอง เขื่อนมูลบน อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดํา อ่างเก็บน้ำป่าพะยอม และอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง

ทางด้าน ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย.

You may also like

มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม” ภายใต้แนวคิด The Golden of Lanna

จำนวนผู้