ฝ่าละอองฝน ชมทุ่งนาเขียวขจี ที่ป่าปงเปียง

ฝ่าละอองฝน ชมทุ่งนาเขียวขจี ที่ป่าปงเปียง


ในเช้ามืดวันอาทิตย์ที่หลายคนยังนอนหลับสบายอยู่บนที่นอน แต่คณะเรานัดกันออกไปสูดโอโซนกันที่ “ป่าปงเปียง”นาขั้นบันไดของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงกลุ่มเล็กๆ ที่อาศัยทำกินในอ.แม่แจ่ม ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินนนท์ รถตู้ล้อหมุนในเวลาตีห้าจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปถึงอ.แม่แจ่มประมาณเก้าโมงกว่า แวะเปลี่ยนรถจากรถตู้มาขึ้นรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อของน้องเป้ก เด็กหนุ่มชาวแม่แจ่มที่มีอาชีพขับรถสองแถวจากแม่แจ่ม-จอมทองและรับงานนำเที่ยวแม่แจ่ม พาเราไปจิบกาแฟและซื้อเสื้อทอกะเหรี่ยงไปใส่ถ่ายภาพสวยๆจากตัวอำเภอแม่แจ่มขึ้นไปป่าปงเปียงใช้เวลาเกือบชั่วโมง แต่ยอมรับว่าเส้นทางในครั้งนี้ดีกว่าเมื่อ 3-4 ปีก่อนที่เคยมา เส้นทางที่เคยเป็นหินและดินภูเขามีการปรับในบางจุดให้รถสามารถวิ่งและหลบสวนทางกันได้ แต่ต้องให้สัญญาณแตรในบางจุดแต่ไม่ได้หวาดเสียว หรือโหดเหมือนแต่ก่อน

ทิวทัศน์สองข้างทางยังเต็มไปด้วยต้นข้าวโพดทั้งอ่อนและที่กำลังเติบโต บางจุดก็เริ่มออกดอก และมีแปลงนาข้าวกับพืชไร่บ้าง สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นี่ แม้จะมีหลายหน่วยงานพยายามเข้าไปช่วยเหลือแนะนำด้วยหวังจะลดปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาหมอกควันละบุกรุกป่าว่ายังต้องใช้ความพยายามอีกมาก โดยเฉพาะอาชีพใหม่และรายได้ที่จะมาทดแทน

มองไปไกลสุดสายตา ยังเห็นดอยหัวโล้นที่มีสีเขียวๆ แต่ไม่ใช่ป่าไม้ แต่เป็นต้นข้าวโพดที่เริ่มโต พอถึงจุดหมาย “บ้านป่าปงเปียง” ณ วันนี้แม้จะยังคงเหลือเสน่ห์ของนาขั้นบันไดที่กำลังโตและส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ของต้นข้าวที่กำลังเติบโต อากาศที่เย็นสบายและสดชื่น พร้อมๆกับสายหมอกที่ปกคลุมและกำลังเคลื่อนตัวเนื่องจากแสงแดดที่กำลังจะสาดส่อง แต่จะด้วยความนิยมของนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากมายในช่วง 3-4 ปีหรือ 4-5 ปีที่ผ่านมา จากป่าปงเปียงที่ใช้ “ร้างหรือฮ้างนา”ซึ่งเป็นที่พักหลบแดด หลบฝนของเจ้าของที่นาในยามที่มาดูแลแปลงนาของตัวเองไม่กี่หลัง ก็มีการปรับแต่งให้เป็นบ้านพักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่อยากมานอนดูดาว สูดกลิ่นข้าว พระอาทิตย์ยามเช้าหรือแม้กระทั่งแสงแดดยามที่พระอาทิตย์ตกดิน จนทำให้ขณะนี้มีการสร้างที่พักบนแปลงนามากมายนับสิบหลัง

มนต์เสน่ห์ที่คณะเราเคยมาสัมผัสในครั้งแรก จาก “ฮ้าง/ร้างนา”ที่เป็นห้องโล่งๆ นอนบนพื้นแตะที่อาศัยผ้าห่มนวมมาปูนอนกับหมอนคนละใบ ไม่มีไฟฟ้า มีเตาฟืน กาน้ำ ที่ให้เราต้มน้ำร้อน และหุงข้าว ทำกับข้าวเองโดยเก็บผักจากเจ้าของร้างนาที่ปลูกบนแปลงนามาทำกิน ณ วันนี้เปลี่ยนสภาพไปเกือบจะสิ้นเชิง หลังคามุงจาก ฟากไม้ไผ่ก็เปลี่ยนไปให้ดูมั่นคงแข็งแรงขึ้นแต่ก็ขาดเสน่ห์ของคนพื้นถิ่นไปอย่างน่าใจหาย

บ้านของชาวกะเหรี่ยงมีดัดแปลงทำเป็นร้านค้าของชำ ขายบะหมี่สำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยว อาจจะมีเครื่องดื่มรวมอยู่ด้วยแต่คณะเราไม่ได้สำรวจ ได้แต่สะท้อนและเป็นห่วงลึกๆ ถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น จุดที่เคยเป็นลำธารที่เชื่อมต่อจากน้ำตกทรายเหลืองมาถึงแปลงนา ที่ๆ พวกเราเคยนุ่งกระโจมอกอาบน้ำที่เย็นเฉียบหายไปกลายเป็นห้องน้ำสาธารณะ นายอรรถชา กัมปนาถแสนยากร นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า พื้นที่ของอ.แม่แจ่มส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก และพื้นที่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในเขตป่า มีการบุกรุกพื้นที่ป่าค่อนข้างมาก ดังนั้นสิ่งที่ทางราชการกำลังดำเนินการแก้ปัญหาการบุกรุกป่าคือจัดระเบียบไม่ให้ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่ามากไปกว่านี้ นอกจากนี้ต้องจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก  และส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และเสริมปศุสัตว์เข้าไปด้วยและสุดท้ายคือส่งเสริมการท่องเที่ยว

“ป่าปงเปียง”เป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งที่มีชื่อเสียงของอ.แม่แจ่ม การแก้ไขวันนี้ได้มีการพูดคุยกับชาวบ้าน 2 รอบแล้ว โดยที่นี่เป็นนาขั้นได ซึ่งพื้นที่นี้จะสวยตลอด 4 เดือนจวบจนถึงช่วงเกี่ยวข้าวก็จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาตลอดเวลา แต่ปัญหาคือพอเกี่ยวข้าวแล้ว ป่าปงเปียงก็จะว่างเปล่าไปถึง 8 เดือน ดังนั้นในช่วงนี้กำลังคิดที่จะนำไม้ดอกไปปลูก โดยเฉพาะปอเทืองที่ใช้น้ำน้อยใช้เวลาปลูก 45 วันแต่จะออกดอกสวยงามตลอด 1 เดือนกว่า ซึ่งเราจะปลูกปอเทือง 2 รอบ ก็จะทำให้ป่าปงเปียงมีดอกเหลืองเต็มดอยและที่เคยเป็นแต่นาขั้นบันได ก็จะเป็นทุ่งปอเทืองป่าปงเปียง เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ และทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม

นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ก็จะมีการจัดระเบียบเรื่องสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ เดิมที่ป่าปงเปียงจะมีบ้านพักเพียง 4-5 หลังเท่านั้น แต่ปัจจุบันพบว่ามีการปลูกสร้างเพิ่มขึ้น และรูปแบบจากที่เคยดัดแปลงร้างหรือฮ้างนาให้เป็นที่พักที่คงวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ ก็เริ่มปรับเปลี่ยนไป ในจุดนี้ก็ได้มีการพูดคุยกันแล้วว่าอาจจะต้องเอาสถาปนิกเข้าไปช่วยให้คำปรึกษา

ทางมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาก็มีคณะเข้ามาอยู่ที่อำเภอ ก็จะมาช่วยวางรูปแบบที่แตกต่างๆ ที่ป่าปงเปียงนี้เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนแต่คงไว้ซึ่งธรรมชาติ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ที่สำคัญ ถนนไม่ดี ไฟฟ้าไม่มี น้ำประปาไม่มี ข้อแก้ไขเหล่านี้คงต้องคุยกันต่อไป

“ในเวลานี้ เจ้าของโฮมสเตย์ซึ่งเป็นชาวบ้านไม่กี่สิบหลังคาเรือนได้พูดคุยจนตกผลึกแล้ว ว่าเราจะปลูกปอเทือง ภายในสัปดาห์หน้าเราจะเริ่มจากพื้นที่ว่าง 1 ไร่ ที่เอาปอเทืองมาโรย 45 วัน ถ้าปอเทืองออกดอกเหลืองอร่ามเต็มพื้นที่ และทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเห็นและชอบ ในช่วงที่พื้นที่ว่างจากทำนาก็จะปลูกปอเทืองกันให้เต็มพื้นที่ 200 ไร่”นายอรรถชากล่าวและว่า

แต่ถ้าหากนักท่องเที่ยวหรือชาวบ้านหรือไม่ชอบ ในพื้นที่ 500 ไร่ แบ่งเป็นปลูกปอเทือง ปลูกพืชผักที่ให้นักท่องเที่ยวทานได้ อีก 300 ไร่เป็นที่เลี้ยงวัวหรือควาย กลางคืนมีการแสดงของชาวบ้านให้ดู มีจักรยานให้นักท่องเที่ยวปั่นเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียง หรือแม้กระทั่งช่วงเกี่ยวข้าวมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม รวมไปถึงร่วมกันปลูกปอเทือง ซึ่งก็ต้องมาช่วยๆ กันคิดว่าจะเอาแบบไหนดี แต่ทั้งนี้ก็จะเริ่มทดลองจากจุดแรกก่อนหากชอบก็จะขยายต่อไป

เมื่อมนต์เสน่ห์ของทุ่งนาขั้นบันไดกลายเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว เมื่อผู้คนหลั่งไหลเข้าไป ความเปลี่ยนแปลงก็เคลื่อนคลานเข้าหา อีกไม่นานทุ่งนาขั้นบันไดป่าปงเปียงอาจจะถูกเรียกเป็นทุ่งปอเทืองป่าปงเปียง เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนจากภายนอกที่อยากไปใช้ชีวิตในห้วงเวลาหนึ่งในการเสพย์สุข “แหงนหน้ามองฟ้า นอนดูดาว มองทุ่งนาข้าวกับปอเทือง หรือก้มดูควายที่กำลังแทะเล็มหญ้า”ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนในแม่แจ่มจะเลือกเอาแบบไหน. ขอบคุณสำหรับภาพสวยๆ จาก

คุณสุภาพ รอดละมูล

เพจนำเที่ยวแม่แจ่ม

และ Pee Too

 

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้