พิงคนครลงนามบันทึกความเข้าใจกับรฟม. เพื่อศึกษาระบบขนส่งรถไฟฟ้า

พิงคนครลงนามบันทึกความเข้าใจกับรฟม. เพื่อศึกษาระบบขนส่งรถไฟฟ้า

พิงคนครลงนามบันทึกความเข้าใจกับรฟม. เพื่อศึกษาระบบขนส่งรถไฟฟ้า ตามแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ว่าการรฟม.เผยบอร์ดมีมติให้รฟม.ขยายแผนลงทุนใน 5 หัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ขณะที่พ่อเมืองเชียงใหม่เผยปี 59 สนข.ได้งบศึกษาออกแบบระบบรถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูง

ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างนาย  พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กับ ดร.ศราวุฒิ ศรีศกุน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีพื้นที่ใหญ่อันดับ 2 รองจากนครราชสีมาแต่ในด้านความเจริญและการเติบโตถือเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ แต่เชียงใหม่กลับถูกละเลยในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งมวลชน จนทำให้ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาด้านการจราจร

“ในการไปชี้แจงประกอบคำของบประมาณในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการควบคุมการจราจรทางบกที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณก็ได้ชี้แจงไปแล้วว่าเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 แต่กลับถูกละเลยจากรัฐบาล ขณะที่กรุงเทพฯซึ่งเป็นเมืองหลวงมีระบบขนส่งมวลชนทั้งใต้ดิน บนดินและอากาศที่ค่อนข้างสมบูรณ์ หากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาปีละหมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีมาตรฐานก็จะไม่เป็นปัญหาที่ตอ้งตามแก้ภายหลัง”ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นทางกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรหรือสนข.ตั้งงบศึกษาและออกแบบระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ซึ่งมีการศึกษาแล้วว่าระบบที่เหมาะสมคือระบบรางและรถไฟฟ้า เบื้องต้นปีงบประมาณ 2559 ตั้งไว้จำนวน 25 ล้านบาท แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ที่กระทรวงคมนาคมจะเกลี่ยงบฯจากส่วนอื่นมาเพื่อศึกษาออกแบบระบบและเส้นทาง หากเส้นทางยาวก็อาจจะตั้งเป็นงบประมาณต่อเนื่อง สำหรับระบบที่ศึกษาให้เชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูง และจะไปประสานกับทางสนข.เพื่อขอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลฃนแห่งประเทศไทยหรือรฟม.มาร่วมด้วย

ด้านดร.ศราวุฒิ ศรีศกุน ปฏิบัติหน้าที่ผอ.สำนักงานพัฒนาพิงคนคร กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานพัฒนาพิงคนครกับรฟม.ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือและส่งเสริม สนับสนุนและสร้างความสัมพันธ์ เชิงพันธมิตรในการใช้ทรัพยากรระหว่างทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจหลักของสำนักงานพัฒนาพงคนครที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม การขนส่งและสาธารณูปโภค นอกจากนี้ยังร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนได้อย่างเป็นรูปธรรม แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่และสนับสนุนส่งเสริมบุคลากรให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการดำเนินโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ด้านการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างกันและสนับสนุนการดำเนินงานตลอดจนประเมินผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ขณะที่นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า รฟม.จะขอศึกษาเรื่องการออกแบบระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าก่อนว่าจะมีเส้นทางอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งการลงทุนของ รฟม.เองทางคณะรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้สั่งการ และการที่รฟม.มาทำบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ก็เนื่องจากบอร์ดของรฟม.มีมติออกมาว่าในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯเริ่มจะอยู่ตัว จึงได้ให้ไปศึกษาในหัวเมืองใหญ่ 5 แห่งคือเชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และภูเก็ต

“โดยหลักการการศึกษาออกแบบควรจะใช้เวลาไม่เกิน 8-12 เดือน ไม่เช่นนั้นรายละเอียดและกำหนดจะไม่ครบถ้วน เพราะรถไฟฟ้ามีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ทั้งตามแนวเส้นทางและจุดขึ้นรถ จุดจอด และจุดซ่อมบำรุง ซึ่งต้องรวมไปหมด โดยต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะเดินหน้าด้วย โดยต้องทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อให้ครม.อนุมัติ นอกจากนี้รูปแบบการลงทุนก็ต้องชัดเจนว่าเป็นอย่างไร ร่วมทุนระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่นหรือส่วนกลาง แม้กระทั่งให้เอกชนลงทุนโดยดูผลตอบแทน และลงลึกไปถึงการศึกษาความคุ้มทุนด้านเศรษฐกิจด้วย”ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวและชี้แจงอีกว่า

รฟม.เป็นหน่วยงานพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ และดูว่าควรจะไปลงทุนที่ไหน โดยยอมรับว่าทางคณะกรรมการบริหารรฟม.ได้มอบหมายให้มาศึกษาระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าในภูมิภาค เป็นการวางแผนในอนาคต ประกอบกับได้รับการประสานงานกับทางสำนักงานพัฒนาพิงคนครด้วย ซึ่งในการพิจารณาโครงการภาครัฐจะดูเรื่องความค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลักประกอบด้วย.

You may also like

การแข่งขัน “สุดยอดเชฟสร้างสรรค์ อาหารเหนือ” โดยเชฟชุมชน (Local Chef)ทีมหมู่บ้านสร้างดาว คว้ารางวัล 3 หมื่นบาทปรุงเมนู”ผักเชียงดา”ถูกปาก+ใจชาวต่างชาติที่เป็นกรรมการ

จำนวนผู้