บ้านน้ำปาน หมู่ 3 ต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน เป็นชุมชนชาวขมุ มี 130 ครัวเรือน 530 คน แม้ว่าส่วนใหญ่จะยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ มาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่กระแสบริโภคนิยม ก็เข้ามามีอิทธิพลต่อชาวขมุ ส่งผลให้คนรุ่นใหม่กว่า 40% ออกจากถิ่นฐาน ไปเรียนหนังสือ หรือทำงานในเขตเมือง จนช่วงหนึ่ง องค์ความรู้ และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนเผ่าถูกละเลย แทบกลืนหายไปกับสังคมภายนอก เป็นที่น่าวิตกว่าวัฒนธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจะสูญหายไป เนตย์ เสารางทอย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชนแดน เล่าถึงแนวทางแก้ปัญหาว่า กลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ได้หารือกัน และเห็นพ้องว่าต้องฟื้นฟูภูมิปัญญาดั้งเดิมให้กลับมา จึงได้ทำโครงการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ กับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของชนเผ่า ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในชุมชน เมื่อพืชพันธุ์หลายชนิดที่เป็นพืชประจำถิ่นและหายาก ถูกค้นหาและนำมาขยายพันธุ์เพาะปลูกตามไร่สวน หรือพื้นที่ว่างของบ้าน เช่น ผักแค บอน ผักขี้อ้น มะนอบต๊อบ หวายขม หวายฝาด ต๋าว จะค่าน มะไฟ มะขม รวมถึงผักสวนครัวทั่วไป จำพวกมะเขือ บวบ ผักกาด พริก ส่วนเนื้อสัตว์ นอกจากเลี้ยงไก่ไว้ตามไต้ถุนบ้าน มักจะหาจากในป่าด้วย เช่น หมูป่า อีเห็น กระรอก เมื่อชาวบ้านล่าได้ ไม่เพียงแต่จะใช้เนื้อสด บางส่วนยังถูกถนอมไว้ใช้ประกอบอาหารในระยะยาวด้วย เช่น ปลาร้าหมูป่า กระรอกย่างตากแห้ง เป็นต้นนายก อบต.ชนแดน บอกว่า ความพยายามของผู้เฒ่าผู้แก่ที่จะปลูก รักษาพืชผักพื้นบ้าน และสมุนไพรไว้ในชุมชน ไม่สูญเปล่า คนรุ่นใหม่เริ่มซึมซับและเรียนรู้ในการนำพืชผัก ตลอดจนเนื้อสัตว์ที่แปรรูปถนอมอาหารไว้ มาประกอบอาหารรับประทานในชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ออกไปอยู่ภายนอกชุมชน เมื่อถึงช่วงสิ้นปีก็จะกลับบ้าน ในตำบลจึงจัดงานประจำปี 3 ชาติพันธุ์ คือ ขมุ ไทยลื้อ และถิ่น เนื่องจากทั้งตำบลมี 9 หมู่บ้าน เป็นขมุ 7 หมู่ ไทยลื้อ 1 หมู่ กับถิ่น 1 หมู่ ผู้คนที่มาร่วมงาน จะแต่งกายด้วยชุดของชนเผ่า พร้อมกับแสดงภูมิปัญญาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ดนตรี การแสดง“สิ่งสำคัญคือเมื่อมีการปลูกพืชผักสมุนไพร เมนูอาหารของชนเผ่าที่ถูกละเลย ก็พลอยได้รับการรื้อฟื้นอาทิ หลามบอน หลามปู แกงแคกระรอก น้ำพริกหวาย น้ำพริกฮ้าที่ทำจากหมูป่าหมัก แกงต๋าว แกงปลี เพราะหาวัตถุดิบได้ง่าย และนับเป็นเมนูที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีธาตุอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ช่วยให้ชาวบ้านได้กินผักที่หลากหลายมากขึ้น” นายเนตย์ กล่าวย้ำ สุพจน์ หลี่จา ผู้จัดการโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า ชนเผ่าขมุที่บ้านน้ำปาน ยังคงวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย และรักษาขนบประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมา ไม่ว่าจะด้านอาหารการกิน ทุกเช้าชาวบ้านจะนึ่งข้าวเหนียวใส่ “แอ็บ” (กระติ๊บ) ไว้กินทั้ง 3 มื้อ มีเกลือและพริก เป็นเครื่องชูรสที่ขาดไม่ได้ อาหารยอดนิยมคือน้ำปู เป็นเครื่องจิ้มสำหรับผักและข้าวเหนียว ส่วนเนื้อสัตว์มักจะกินในโอกาสพิเศษ หรือ เซ่นผี ขณะเดียวกันก็ยังผูกพันกับผืนป่า และธรรมชาติ ใช้พืชสมุนไพรในการป้องกันรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และประกอบพิธีกรรมรักษาโรค เพื่อสร้างความรู้สึกสบายใจ และกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งการปลูกพืชผักสมุนไพร พร้อมกับอนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองไว้ และยังล่าสัตว์มาเป็นอาหารประเภทโปรตีนด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาจากแหล่งอาหารภายนอก ถือเป็นวิถีวัฒนธรรมที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชนเผ่า ทำให้หมู่บ้านมีอาหารที่สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมีไว้รับประทานตลอดทั้งปี