มท.1ประชุมมอบนโยบายขับเคลื่อนขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้กับผู้ว่าฯและทีมงานที่เกี่ยวข้องในภาคเหนือ ย้ำ”บิ๊กตู่”ตั้งใจให้สำเร็จสั่งทีมงานลงพื้นที่ และทำแผนวางแนวทาง 3 ระดับ ”อยู่รอด พอเพียงและยั่งยืน” ตั้งเป้าแก้ปัญหาระดับอำเภอให้จบภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.65 ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประชุมและมอบนโยบายในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและรับมอบนโยบายอย่างพร้อมเพรียง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งไม่แค่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะดำเนินการเท่านั้น กระทรวงต่างๆ และหน่วยงานในพื้นที่จะต้องมีแผนดำเนินการด้วย โดยให้แก้ปัญหาแบบมีเป้าหมาย สิ่งสำคัญคือจะไม่รอว่าเมื่อไหร่ อย่างไร เพราะปัจจุบันปัญหาเกิดขึ้นแล้ว
“งบฯตั้งแล้วปี 67 แต่จะรออีก 2 ปีเลยหรือเพราะปัญหามันเกิดขึ้นแล้วและหากรอจะแก้ยาก ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงเน้นให้ทำในปีงบฯ65 หลักคิดคืองบประมาณเดินไปแล้วแต่ยังเหลือเวลาอีกครึ่งปี โดยให้ปรับเอางบฯอบรมมาพุ่งเป้าแก้ปัญหาขจัดความยากจนนี้แทน และต้องแก้ระดับอำเภอให้ได้ ผู้ว่าฯต้องใช้กลไกลนายอำเภอที่มีอยู่ ให้จบที่อำเภอแต่หากบางจุดแก้ไม่จบที่อำเภอก็ให้จบที่จังหวัด”พลเอกอนุพงษ์ กล่าวและว่า
หน้าที่หลักของคนทำงานในพื้นที่ให้เอาเป้าที่มีไปพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่คือตรวจสอบ วิเคราะห์และดูแนวทาง ซึ่งจะต้องดูให้หลายจุด และบ่ายนี้ทีมพื้นที่ทั้งหมดต้องไปหาคนพิสูจน์ว่าเป้าตัวเลขที่มีจริงหรือไม่ และเอาข้อมูลเข้าดาต้าแมทเป็นบิ๊กเดต้าซึ่งจะดีในระยะยาวทั้งหมดในอนาคต หลังประชุมครบ 4 ภาคโดยเฉพาะภาคเหนือให้เริ่มเลย โดยทีมพื้นที่หรือทีมพี่เลี้ยงจะมีข้อมูลหมดแล้วและมีการแบ่งทีมๆ หนึ่งรับผิดชอบ 10-15 ครอบครัวให้ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บข้อมูลตามแบบฟอร์มของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) และมีแบบฟอร์มเพิ่มตามแบบของกระทรวงมหาดไทยด้วย ซึ่งจะทำให้รู้ว่าที่ประชาชนตกเกณฑ์ความยากจนเพราะอะไร และหากไม่ตกเพราะอะไร ซึ่งหากสามารถทำได้ดีก็จะไปถึงระดับตำบล
ทีมระดับตำบลจะต้องได้ร่างแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งต้องมีแนวคิดเริ่มต้นระดับตำบลด้วย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำมาแล้วว่าให้ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เป็นคนทำ โดยสภาพัฒน์มีเมนูแก้จนเป็นแนวทางให้ โดยมองออกเป็น 3 ระดับคือ อยู่รอด พอเพียงและยั่งยืน ซึ่งทั้ง 3 ระดับไม่จำเป็นต้องไปทำขั้นหนึ่งให้เสร็จแล้วไปทำขั้นที่สอง แต่สามารถทำพร้อมๆ กันได้ แต่ให้เน้นให้ประชาชนอยู่รอด พอเพียงและยั่งยืน
สภาพัฒน์ไปรวบรวมแผนงานของทุกกระทรวง ทบวง กรมเหมือนเช็คลิสต์มาให้ ซึ่งสามารถดำเนินการได้เลย และกรมพัฒนาชุมชนก็มี 4 ท. เนื่องจากมีเวลาถึง 30 ก.ย.65 เท่านั้น ดังนั้น 15 มี.ค.ทีมทุกระดับจะเริ่มปฏิบัติตามไทม์ไลน์ โดยช่วง 15-31 มี.ค.ทีมทั้งหมดจะเอาข้อมูลรายครัวเรือนมาวิเคราะห์และกำหนดแนวทางแก้ปัญหา โดยให้ทำร่างระดับตำบลให้ ส่วนไฟนอลจะอยู่ที่อำเภอซึ่งจะทำให้เสร็จในเดือนเม.ย.เมื่อกำหนดแนวทางแล้วจะเอาข้อมูลไปบันทึกที่ระบบ และเริ่มดำเนินการในเดือนพ.ค.ไปจนถึงเดือนก.ย.
พลเอกอนุพงศ์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า จะต้องมีการสื่อสารให้ประชาชนได้รู้ว่ารัฐจะทำอะไร ให้ประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบเพื่อเข้าถึงประชาชนให้ได้ ต้องสร้างการรับรู้และสื่อให้ได้ทุกระดับ และที่อยากกำชับในตอนท้ายขอให้จำกรณีที่เกิดขึ้นกับหมอกระต่าย ที่ต้องเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกไม่ได้ ในเรื่องนี้ได้ประชุมทางไกลมารอบหนึ่งแล้ว ฝากผู้ว่าฯไปกำกับท้องถิ่นด้วย หากทางม้าลายไม่ชัดก็ไปทำให้ชัด และการบังคับใช้กฎหมายขอให้เคร่งครัดด้วย ต้องทำให้คนขับรถมีวัฒนธรรม รู้กฎ กติกา มารยาทและความปลอดภัยของคนอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ให้ทำตามกฎเช่นขับรถไม่เกินความเร็วกำหนด นอกจากนี้ยังกำชับผู้ว่าฯในเรื่องหมอกควันไฟป่า โดยเฉพาะภาคเหนือ การลดจุดความร้อน การลดปัญหาจากแหล่งกำเนิดต้องทำได้แล้ว รวมถึงภัยแล้ง
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้ 15 จังหวัดภาคเหนือขาดนครสวรรค์และอุทัยธานีที่ขอให้ไปประชุมร่วมกับภาคกลาง ซึ่งผู้ว่าฯมาเอง 14 จังหวัดยกเว้นน่านมอบรองผวจ.มาประชุมรับนโยบายจึงอยากแนะนำผู้ว่าฯและแม่บ้านมหาดไทยของทุกจังหวัดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ทราบ