เชียงราย / สสส. จับมือ เครือข่ายวัฒนธรรมลาหู่ และศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย หนุนลาหู่ฟื้นฟูวัฒนธรรมการละเล่น “ก่าเคอะ” และ “ป้อยเตเว” ในงานปีใหม่ หวังเป็นฐานสร้างสุขภาวะชุมชนบนพื้นที่สูงนายวิชัย คงอมรพนา ผู้รับผิดชอบโครงการกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่ต๋ำแม่น้ำขุ่น เสริมสร้างสุขภาวะชุมชน ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เปิดเผยว่าในโอกาสงานประเพณีปีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวลาหู่ ที่จะเริ่มเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ขึ้นอยู่กับสมาชิกในชุมชนจะตกลงกันว่าจะจัดวันไหน นอกจากกิจกรรมสำคัญ คือการขอพรจากผู้อาวุโสแล้ว ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการละเล่นกับชุมชนอื่นๆ เช่น ลูกข่าง สะบ้า ลูกช่วง เป็นต้น รวมทั้งเกิดเวทีการนำเต้นก่าเคอะและปอยเตเวด้วยซึ่งในส่วนของ “ก่าเคอะ” และ “ป้อยเตเว” นั้น เป็นการละเล่นของชนเผ่าลาหู๋ที่สืบทอดกันมา และในระยะ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2559 เครือข่ายวัฒนธรรมลาหู่ได้รณรงค์ให้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ต๋ำได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ก่าเคอะ” และ “ป้อยเตเว” จนเกิดผู้รู้รุ่นใหม่ที่สามารถเป็นผู้รู้ถ่ายทอดไม่น้อยกว่า 25 คน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนและชุมชนบริเวณใกล้เคียงดีขึ้นสำหรับปี 2561 นี้ ชุมชนห้วยน้ำขุ่น ได้จัดงานมหกรรมสืบสานประเพณีปีใหม่ลาหู่ โดยมีชุมชนลาหู่ ใน จ.เชียงใหม่ และเชียงราย ที่ทำโครงการ“เสริมสร้างสุขภาวะชุมชนบนพื้นที่สูงบนฐานวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง” เข้าร่วม ขณะที่ชุมชนลาหู่ใน จ.แม่ฮ่องสอน ก็นำโครงงานมาจัดแสดง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกันอย่างคึกคักและกว้างขวาง รวมทั้งมีการนำเสนอผลงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส.ทั้งสิ้น 6 โครงการ ซึ่งเน้นกิจกรรมของเยาวชนลาหู่ที่ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมตนเองด้าน นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สสส. กล่าวถึงโครงการ“เสริมสร้างสุขภาวะชุมชนบนพื้นที่สูงบนฐานวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง” ว่า สสส. ได้รับความร่วมมือจากสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) ซึ่งเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ และทำงานสนับสนุนการแก้ปัญหาของชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองมานานกว่า 20 ปี ทำให้สมาคมมีชุดประสบการณ์การทำงานกับชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง และมีฐานข้อมูลของชุมชนที่สนใจเข้าร่วมดำเนินงานโครงการอยู่แล้วส่งผลให้การดำเนินงานของโครงการนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ สสส. คือเน้นพัฒนา เสริมสร้างศักยภาพ และขีดความสามารถขององค์กรชุมชน รวมถึงเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อสุขภาวะ และร่วมกันดำเนินงานกิจกรรมพัฒนาแบบมีส่วนร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างแท้จริง เพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาวะชุมชนพื้นที่สูงบนฐานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตนนอกจากนี้การที่ ศ.ว.ท.ดำเนินงานในกลุ่มองค์กรชุมชน และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ ด้วย ยังเป็นการกระจายโอกาสการทำงานสร้างเสริมสุขภาพสู่ภาคีองค์กรและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อขยายแนวร่วมการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมการทำงานอย่างสร้างสรรค์ตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับจุดเน้นของแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะเป็นอย่างยิ่ง.