มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดึงบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น “Taisei Advanced Center of Technology,Taisei Corporation” ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดันนโยบายคาร์บอนฯ เป็นศูนย์
วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ณ NSP Exhibition Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ Taisei Advanced Center of Technology, Taisei Corporation ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีเป้าหมายร่วมกันพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากเครือข่ายความร่วมมือ และร่วมกันพัฒนาให้เกิดงานวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในการยกระดับความสามารถด้านวัสดุการก่อสร้าง (Construction Material) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว นำโดย ศาสตราจารย์
ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. พร้อม Mr.Tsuyoshi MARUYA Executive Fellow Deputy Chief of Taisei Advanced Center of Technology และ MR.NAOHITO OHBA กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) จำกัด และคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. กล่าวว่า มช. มีวิสัยทัศน์ที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม อันสอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ในเรื่องการพัฒนากลไกเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม (Innovation Mechanisms Development) ที่สามารถขับเคลื่อนและผลักดันให้มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ให้เกิดผลงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้ในเวลารวดเร็วขึ้น ตอบโจทย์ในเรื่องการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Carbon Neutral University) และการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือและยกระดับงานวิจัยให้สอดคล้องกับพันธกิจ โดยมี อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. (STeP) และคณะวิทยาศาสตร์ มช. เป็นกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานหลักในการพัฒนางานวิจัยให้ออกสู่รั้วมหาวิทยาลัย ควบคู่กับการแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรม นั่นคือ Taisei Corporation ผู้เชี่ยวชาญและผู้นำด้านการผลิต Carbon Free Concrete เพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากร องค์ความรู้ทางปัญญาร่วมกัน และผลักดันให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยีนวัตกรรมซึ่งกันและกัน อีกทั้งพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการสร้างคุณค่าใหม่ (New Value) ด้วยการจัดหาโซลูชั่นที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาสังคมเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพลังงาน “อันจะก้าวสู่หมุดหมายเดียวกัน คือ การทำให้ความร่วมมือนี้สำเร็จเกิดเป็นการวิจัยเป็นสากลที่มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกในการแสวงหาการพัฒนาที่ยั่งยืน”
“และด้วยความร่วมมือนี้ เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายและปลูกฝังความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป ผ่านการผสานองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตและนำงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเชื่อมโยงการวิจัยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป อธิการบดี มช. กล่าวทิ้งท้าย
Mr.Tsuyoshi MARUYA Executive Fellow Deputy Chief of Taisei Advanced Center of Technology กล่าวว่า “Taisei Corporation” มีแนวทางอย่างชัดเจนในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน
โดยการจับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและองค์ความรู้ทางปัญญาเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม และการส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือของเราในวันนี้ จะกำเนิดเป็นผลสำเร็จของงานวิจัยระดับสากลจากผสานองค์ความรู้ของทั้งสองฝ่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและการผลิตนวัตกรรมสมัยใหม่ อีกทั้งการคิดค้นโซลูชั่นที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังที่จะมีส่วน ในการลดมลภาวะการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการร่วมกันในอนาคต พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตและผลักดันสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์
ที่จับต้องได้ เพื่อเชื่อมโยงการวิจัยและการใช้งานจริงได้อย่างราบรื่น
Mr.Haruka OZAWA เลขานุการโทประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวถึงความยินดี
และชื่นชมในวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลโดยให้ความสำคัญกับผู้คนและการสร้างความยั่งยืน ของทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Taisei Corporation จากการทำข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอีกขั้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมีส่วนช่วยต่อสังคมในการลดการปล่อยคาร์บอน และยิ่งมากไปกว่านั้น ยังถือเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและไทยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านขอบเขตการทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมระดับชาติต่อไป
ด้าน รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในฐานะคณะดำเนินงานหลัก เผยถึง การดำเนินงานจากความร่วมมือในช่วงเวลาที่ผ่านมาของการวิจัยและพัฒนาคอนกรีตชนิด Carbon Free อย่างต่อเนื่อง โดยการใช้คอนกรีตที่ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งหรือผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งคอนกรีตชนิดนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างการผลิตด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านงานวิจัยทั้งสองฝ่าย และเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารและคณาจารย์จากมช. ได้เข้าศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ พร้อมหารือแนวทางการดำเนินงานอื่น ๆ ในอนาคต ณ Taisei Advanced Center of Technology, Taisei Corporation เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นการจุดประกายความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ เพื่อเน้นย้ำการดำเนินงานร่วมกันอย่างไม่หยุดยั้งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาและก้าวสู่เป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง คือ การสนับสนุน Carbon Net Zero ของทั้งประเทศไทยและระดับนานาชาติ ผ่านการวิจัยขั้นสูงด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่และค้นหาโซลูชั่นในการพัฒนาคอนกรีตชนิด Carbon Free จากวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างต่อไป
ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของเจตนารมณ์อันแน่วแน่ทั้งสองฝ่ายในวันนี้ จะเกิดเป็นสะพานเชื่อมต่อการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะสามารถผลักดันงานวิจัยให้เกิดการต่อยอดและถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงมากขึ้นและยังเป็นการเน้นย้ำให้กับหลายๆ หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม
ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”