ลำพูน (30 ก.ย.60) / ชาวมอญบ้านหนองดู่ปลื้ม ฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมสำเร็จ กระตุ้นเยาวชน-ชุมชนให้ภาคภูมิใจวิถี เป็นที่ยอมรับจากมอญทั่วประเทศ แถม อบจ.หนุนงบ ช่วยต่อยอดจัดงานตักบาตรน้ำผึ้ง หวังโปรโมทเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งใหม่นายจันทร์ เขียวพันธุ์ ผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนน่าอยู่ หมู่บ้านหนองดู่ ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เปิดเผยว่า ใน จ.ลำพูน มีคนไทยเชื้อสายมอญอาศัยอยู่ 2 หมู่บ้าน คือบ้านหนองดู่ และบ้านบ่อคาว ถือเป็นชาติพันธุ์มอญที่เก่าแก่ แต่เด็กและวัยรุ่น 65% มักจะออกไปเรียนหนังสือ หรือประกอบอาชีพนอกชุมชน เหลือ 35% อยู่ในหมู่บ้าน หากก็ไม่ใส่ใจประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม
เมื่อนำโครงการชุมชนน่าอยู่ ของ สสส.เข้ามาดำเนินการในหมู่บ้าน จึงต้องขอความร่วมมือจากผู้สูงอายุเป็นหลัก ในการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาในด้านต่างๆ ให้กับเด็กมอญรุ่นใหม่ เช่น การแห่งหงส์ แห่ธงตะขาบ แกงขี้เหล็ก แกงดอกส้าน แกงกล้วยดิบ ทำข้าวแช่ กกเกรียก เม็ดขนุน ลอดช่องโบราณ เป็นต้น
“ผลที่เกิดขึ้นเมื่อทำโครงการได้ระยะหนึ่ง เหนือความคาดหมายอย่างยิ่ง เด็กและเยาวชนในพื้นที่หันมาสนใจรากเหง้าของตนเองมากขึ้น กล้าแสดงออก บอกคนภายนอกว่าตนเองเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยรู้สึกอาย และเมื่อถึงเทศกาลสำคัญก็กระตือรือร้นที่จะแต่งกายด้วยชุดมอญ ทำอาหารแบบมอญไว้รับประทานภายในบ้าน มีธรรมนูญหมู่บ้าน ในวัดพระสวดโดยใช้ภาษามอญ” นายจันทร์ กล่าวและเมื่อทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเห็นว่าชาวบ้านหนองดู่เอาจริงเอาจังในการฟื้นฟูจารีตประเพณีมอญดั้งเดิม และงบประมาณสนับสนุนที่ได้รับจาก สสส.สิ้นสุดแล้ว จึงได้เข้ามาสนับสนุนบางกิจกรรม อาทิ การตักบาตรน้ำผึ้ง ที่ชาวมอญจะจัดขั้นทุกวันเพ็ญเดือน 10 (เดือน 12 เหนือ) เพื่อโปรโมทให้เป็นงานประจำปี และเข้าสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัด
ซึ่งน้ำผึ้ง ถือเป็นเภสัช หรือยาอายุวัฒนะ คนมอญมีความเชื่อว่าเมื่อนำมาตักบาตรจะได้บุญมาก เพราะในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์ทะเลาะกัน พระพุทธองค์ทรงห้ามปรามแต่พระสงฆ์ไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าจึงปลีกตัวไปจำพรรษาในป่า ครั้งนั้นมีช้างกับลิงนำของมาถวาย โดยลิงได้นำน้ำผึ้งมาถวาย อานิสงค์ผลบุญนั้นเมื่อลิงตายก็ได้ไปเกิดในสวรรค์
ดังนั้น ตามปกติในวันเพ็ญเดือน 10 ชาวบ้านจะร่วมใจกันเตรียมน้ำผึ้งไปตักบาตรพระสงฆ์ตั้งแต่เช้าตรู่ พอสายก็เลี้ยงอาหารมอญ และทำบุญถวายสลากภัตก่อนเที่ยงวัน แต่ในปีนี้มีการตั้งขบวนแห่ตั้งแต่เช้า เยาวชนและชาวบ้านที่มาร่วมตักบาตรน้ำผึ้งแต่งกายด้วยชุดมอญอย่างสวยงาม พอสายแต่ละคุ้ม ซึ่งมีทั้งหมด 8 คุ้ม ก็ทำอาหารมอญทั้งคาว หวาน คุ้มละ 10 อย่าง มาร่วมรับประทานกันและเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมงานผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนน่าอยู่ หมู่บ้านหนองดู่ กล่าวต่อไปว่า แม้จะมีเรื่องการตั้งขบวนแห่ และการท่องเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เชื่อว่าโครงการชุมชนน่าอยู่ที่ริเริ่มไว้ตั้งแต่ต้นคือการจุดประกาย ทำให้วัฒนธรรมของมอญยังคงอยู่ และได้รับการสืบสานจากเยาวชนรุ่นใหม่ด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนเอง ที่สำคัญ เมื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมได้ ชาวมอญบ้านหนองดู่ก็เป็นที่ยอมรับของชาติพันธุ์มอญด้วยกัน และจะมีตัวแทนของชาวมอญจากทั่วประเทศ เดินทางมาประชุมจัดทำ “ธรรมนูญมอญสากล” ที่วัดหนองดู่ ในวันที่ 15 ต.ค. ที่จะถึงนี้ด้วย.