มูลนิธิบ้านครูน้ำ จับมือ 20 องค์กร เตรียมทำฐานข้อมูลไขปัญหาเด็กเร่ร่อน

มูลนิธิบ้านครูน้ำ จับมือ 20 องค์กร เตรียมทำฐานข้อมูลไขปัญหาเด็กเร่ร่อน

เชียงราย (4 ม.ค.61) / มูลนิธิบ้านครูน้ำ พลิกกลยุทธช่วยเด็กเร่รอน หันมาทำงานเชิงรุก สกัดเด็กจากต้นทางตามแนวชายชอบ แทนการตั้งรับกลางเมืองใหญ่  พร้อมร่วมมือกับ 20 องค์กร สร้างฐานข้อมูลเด็ก ปูทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบน.ส.นุชนารถ บุญคง  ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านครูน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ปัญหาเกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กเร่ร่อน เด็กถูกล่วงละเมิด ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ก่อนปี 2540 จะพบเด็กออกมาเร่ร่อนค่อนข้างมากในเมืองใหญ่ ไม่ว่ากรุงเทพฯ เชียงใหม่ หากนับตั้งแต่ช่วงปี 2541 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน กลับพบว่าปริมาณเด็ก เมือง และเด็กชาติพันธุ์น้อยลง กลายเป็นเด็กไร้สัญชาติตามชายขอบที่ทะลักเข้ามา

ส่วนการเร่ขายบริการทางเพศ เมื่อก่อนจะเห็นทั้งเด็กหญิงเด็กชาย แอบขายบริการย่านประตูท่าแพในตัวเมืองเชียงใหม่ บ้างก็ขอทาน ขายดอกไม้ตามร้านอาหาร หลังปี 2541 เด็กชายส่วนใหญ่จะถูกส่งไปขายบริการทางเพศให้ชาวต่างชาติ ในแถบพัทยามากกว่าขณะที่เด็กผู้หญิงให้รับแขกไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น แถวเชียงราย เชียงใหม่ เพราะแขกกลุ่มนี้ยังมีความเชื่อว่าการได้เปิดบริสุทฺธิ์ทำให้อายุยืน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานกับเด็ก หันไปสกัดที่ต้นทาง คือตามแนวเขตแดน แทนการตั้งรับภายในเมืองใหญ่อย่างเดียว

ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิบ้านครูน้ำ ได้ช่วยเหลือกลุ่มที่หนีมาจากชายแดนเมียนมา ทำให้ทราบว่ามีการใช้วิธียัดยาบ้าเพื่อไล่ที่กลุ่มชาติพันธุ์ หากไม่หนีก็จะโดนจับติดคุก หลายคนจึงเลือกที่จะหนีมาไทย และถึงขณะนี้มูลนิธิบ้านครูน้ำ มีเด็กอยู่ในความดูแล 154 คน กับอีกส่วนหนึ่งกลับไปอยู่บ้าน แต่ทางมูลนิธิยังคอยติดตามดูแลอยู่ราว 300 คน โดยเด็กที่รับไว้ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขต 5 หมู่บ้านของชายแดนเมียนมา ที่สำคัญ 3 ใน 5 หมู่บ้าน ทางเมียนมาไล่ชาวบ้านออก และขายที่ดินให้นายทุนไปแล้ว เด็กไม่มีบ้านให้กลับไปอย่างแน่นอนนอกจากนี้ยังมีศูนย์ Drop in ที่ อ.แม่สาย เป็นเหมือนบ้านพักฉุกเฉิน และสอนทักษะชีวิตให้กับเด็ก ที่ส่วนใหญ่ไร้สัญชาติ เดินทางมาจากฝั่งเมียนมา โดยประสานงานกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เพื่อมอบใบรับรองให้หลังเรียนจบหลักสูตร

“นับวันสถานการณ์จะแย่ลงเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐเข้มงวดเรื่องการเข้า-ออกเมือง โดยเฉพาะ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์มากขึ้น ซึ่งองค์กรด้านสิทธิต่างๆ ไม่สามารถเข้าไปช่วยได้เหมือนเดิม เพราะติดข้อกฎหมาย” น.ส.นุชนารถ กล่าว

เด็กวัยรุ่นที่ไม่มีบัตร ขาดสัญชาติ ก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงมักจะทำงานตามร้านคาราโอเกะ เมื่อเจอกันก็อยู่ด้วยกันโดยไม่มีความรู้ และขาดการป้องกัน ทำให้มีลูก แล้วไม่มีคนรับผิดชอบ จนเคยเกิดกรณีนายจ้างนำเด็กไปขายให้คนจีนที่เมืองลา อันเป็นแหล่งขึ้นชื่อ เรื่องการซื้อขายอะไหล่มนุษย์ ส่งผลให้เด็กเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์อย่างเต็มตัวทั้งนี้ มาถึงปัจจุบันกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะเด็กจะถูกเกณฑ์ไปทำงานสวนกล้วยในฝั่ง สปป.ลาว ส่วนใหญ่เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งจะมีอาการป่วยเนื่องจากใช้สารเคมีในปริมาณมาก อย่างไรก็ตามกลุ่มแรงงานยังต้องการที่จะไปทำงานสวนกล้วย เพราะมีรายได้เฉลี่ยถึง 500 บาท/วัน

น.ส.นุชนารถ กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาว่า รัฐบาลควรมีการจัดการหารือในประเด็นคนชายขอบทั้งเรื่องเด็ก ผู้หญิง และแรงงาน โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง และจังหวัดที่เป็นพื้นที่ชายขอบทั้งหมดมาร่วมหารือ  ขณะเดียวกันรัฐต้องรับฟังข้อเท็จจริง และบูรณาการทำงานร่วมกัน ระหว่างรัฐกับ NGOs หรือองค์กรด้านสิทธิในพื้นที่ นอกจากนี้รัฐบาลไทยควรมีการหารือร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเป็นต้นเหตุของปัญหาอย่างแท้จริงทั้งนี้ มูลนิธิบ้านครูน้ำเตรียมร่วมมือกับเครือข่าย 20 องค์กรบ้านพักเด็กเร่ร่อนและคนชายขอบในพื้นที่ 5 อำเภอ (แม่สาย แม่จัน แม่แม่ฟ้าหลวง เชียงแสน เชียงของ) จะรวมตัวกันสร้างฐานข้อมูลเด็กชายขอบ โดยขอความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยมหิดล  กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และกรมสุขภาพจิต เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวเข้าหารือกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงราย และ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย หาทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.

You may also like

เริ่มแล้วงาน “ฤดูหนาวและงาน OTOP ของดีอำเภอหางดง” ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 20-29 พฤศจิกายน 2567 เปิดให้ชมฟรีตลอดงาน

จำนวนผู้