รฟม.เดินหน้ารถไฟฟ้าเชียงใหม่สายสีแดง ระยะทาง 12 กม.คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 64 จากนั้นอีก 3 ปีได้ใช้แน่

รฟม.เดินหน้ารถไฟฟ้าเชียงใหม่สายสีแดง ระยะทาง 12 กม.คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 64 จากนั้นอีก 3 ปีได้ใช้แน่

รฟม.ลงพื้นที่สำรวจเบื้องต้นหลังคจร.อนุมัติให้สร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง  เริ่มต้นรพ.นครพิงค์-สนามบินระยะทาง 12 กม.เผยหากครม.เห็นชอบเดินหน้าจ้างที่ปรึกษาออกแบบ ประกวดราคา คาดภายในปี 64 เริ่มก่อสร้างและไม่เกิน 67 แล้วเสร็จ ขณะที่หลายฝ่ายห่วงแรงต้านและผลกระทบเขตเมืองเก่าแนะศึกษาให้รอบคอบ ยอมรับเส้นทางที่เลือกยังไม่สนองห่วงความคุ้มทุน

วันที่ 5 ก.ค.61 ที่ห้องศูนย์ปฏิบัติการ อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชน ซึ่งนายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ   รฟม.นำทีมงานมาแนะนำตัว โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนจากอบจ.เชียงใหม่,แขวงทางหลวงเชียงใหม่,สำนักทางหลวงชนบทเชียงใหม่,ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ   รฟม.กล่าวว่า เนื่องจาก รฟม.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้มาดูเรื่องระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาค ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดที่จัดอยู่ในลำดับความสำคัญแรก ซึ่งในแผนแม่บทที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)ได้มีมติเห็นชอบ ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ได้มีการว่าจ้างศูนย์วิชาการจัดระบบการจราจรและขนส่งภาคเหนือ(ตอนบน) ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ โดยสรุปและนำเสนอเมื่อเดือนตุลาคมปี 2560 โดยให้รฟม.ดำเนินการในโครงข่าย A จาก 3 เส้นทางโดยให้ดำเนินการในสายสีแดงก่อน

“ทางรฟม.มาเชียงใหม่ครั้งนี้ 2 วัน 1 คืนเพื่อจะทำการสำรวจเส้นทางเบื้องต้น ตามที่ทางมช.ได้ศึกษาแผนแม่บทและเลือกเส้นทางที่เหมาะสม แต่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับระบบที่ชัดเจน ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลมอบหมายให้รฟม.ดำเนินการ ก็จะมีการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษา ออกแบบระบบ ส่วนรูปแบบการลงทุนก็จะเป็นการให้สัมทานกับเอกชนด้วย โดยรฟม.จะทำการศึกษารูปแบบและความคุ้มทุนเสนอต่อรัฐบาลต่อไป”ผช.ผู้ว่าการรฟม.กล่าว

ด้านนายธีรพงษ์ ขจรเดชากุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะฝากให้รฟม.ไปพิจารณาด้วยคือปัญหาของเมืองเชียงใหม่ในเรื่องของพื้นที่การจราจรหรือพื้นที่ถนน ซึ่งหากดำเนินการตามที่มช.ศึกษาแล่ะทำแผนแม่บทไว้ก็จะเฉือนเอาพื้นที่เขตทางไปดำเนินการด้วย แต่ปัญหาคือบางเส้นทางไม่มีเขตทางเหลือแล้ว โดยเฉพาะเส้นทางสายสีแดงที่จุดเริ่มต้นจากรพ.นครพิงค์ไปถึงสนามบินนั้น เฉพาะเส้นทางถนนโชตนาจากรพ.นครพิงค์จะใช้เขตทางหลวงหมายเลข 107 ไปถึงสี่แยกข่วงสิงห์ แต่จุดนี้มีทางลอดข่วงสิงห์ซึ่งวางแนวไว้ค่อนข้างยาวด้วย และต่อจากแยกข่วงสิงห์ไปทางม.ราชภัฎเชียงใหม่ก็ไม่มีเขตทางเหลือแล้ว และยิ่งในเขตสี่เหลี่ยมคูเมืองหรือสี่เหลี่ยมเมืองเก่าการที่จะเอารถบบลงใต้ดิน ก็ต้องดูเรื่องระบบสาธารณูปโภคอื่น รวมทั้งโบราณสถานอีก

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ทางรฟม.จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวเชียงใหม่ให้ครอบคลุมด้วย ซึ่งเชียงใหม่มีปัญหาระหว่างการปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ขณะเดียวกันก็ต้องการอนุรักษ์เมืองเก่าไว้ด้วย และเชียงใหม่เองก็ขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกอีก ที่เป็นห่วงคือเส้นทางสายสีแดงที่ รฟม.เลือกจะดำเนินการก่อนเป็นอันดับแรกนั้น เป็นเส้นทางที่ผ่านรอบคูเมืองเชียงใหม่ เกรงว่าถ้าออกพระราชกำหนดขึ้นมาแล้วแต่ไม่สามารถลงมือก่อสร้างหรือดำเนินการได้เพราะเกิดกระแสต่อต้าน เนื่องจากเป็นเขตเมืองเก่า ดังนั้นขอให้รอบคอบด้วย

ขณะที่นายธีรยุทธ กุคําใส สถาปนิกชํานาญการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตอนนี้กฎหมายผังเมืองกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง ถ้าหากผลการศึกษาออกแบบของรฟม.เสร็จเรียบร้อยแล้วขอให้ส่งให้สำนักงานโยธาฯเพื่อที่จะได้บรรจุลงในผังเมืองจังหวัด รวมถึงเรื่องของการดีไซน์จุดจอดสถานี อาคารต่างๆ ให้เหมาะสมและสอดรับกับผังเมือง

“วันที่ 9 ก.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการที่ดำเนินการเรื่องให้เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกก็คงจะมีการพูดกันในเรื่องนี้ด้วย แต่อยากให้รฟม.ได้รู้ว่าในโครงข่ายที่จะดำเนินการนั้น ในเส้นทางสายสีน้ำเงินถือเป็นบั๊บเบิ้ลโซนทั้งหมดเลย และในสายสีแดงที่ทำก่อนนั้น ตั้งแต่ท่าอากาศยานเชียงใหม่มาจนถึงสนาม 700 ปีก็เป็นบั๊บเบิ้ลโซนเช่นกันเพราะมีความเชื่อมโยงของลุ่มน้ำ มีการเชื่อมโยงระหว่างดอยสุเทพกับเมือง ที่สำคัญในเขตเมืองเก่าถ้าหากใช้ระบบใต้ดินก็ต้องทำลงไปลึกมากๆ และในส่วนที่โผล่ขึ้นมาบนดินไม่ว่าจะเป็นจุดจอด สถานีต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงทัศนียภาพและการออกแบบให้สอดรับกับพื้นที่ ทางรฟม.ควรจะมีตุ๊กตาออกมาในช่วงที่เปิดรับฟังความคิดเห็นด้วย”สถาปนิกชํานาญการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ทางด้านนายชาญชัย กีฬาแปง ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องของระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่นั้น ชาวเชียงใหม่เรียกร้องมานานก็อยากให้เกิดผลสัมฤทธิ์ แต่อย่างไรก็ตามอย่างกรณีรถเมล์หรือขนส่งสาธารณะขณะนี้มีรถเมล์ปรับอากาศมาวิ่งให้บริการ แต่ปรากฏว่าชาวเชียงใหม่ใช้บริการน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว สำหรับรถไฟฟ้าที่สนข.ได้ศึกษาได้มีการประชาพิจารณ์ไป 3-4 ครั้งทุกคนก็อยากให้มี แต่อนาคตข้างหน้าไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่เชียงใหม่นั้นจะต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีขึ้น ที่เป็นห่วงคือเรื่องความคุ้มค่าและคิดว่าหากลงทุนในเส้นสีแดงก่อน การได้ทุนคืนคงจะยาก เพราะต่างจังหวัดไม่เหมือนกรุงเทพฯ บริบทต่างกันโดยเฉพาะที่เชียงใหม่ยิ่งชัดเจนมาก คนเชียงใหม่อยากให้มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีแต่พอมีก็ไม่ใช้บริการ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามากๆ อย่างกรณีรถเมล์ที่วิ่งให้บริการขณะนี้ก็คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อยถึง 2 ปีกว่าจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้รถส่วนตัวหันมาใช้บริการสาธารณะได้

ส่วนทางด้านนายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในฐานะที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับบริการรถโดยสารประจำทางมีข้อสังเกตให้รฟม.ไปพิจารณาด้วย ซึ่งเชียงใหม่มีบริการขนส่งสาธารณะคือรถเมล์ รถสี่ล้อแดงและ Grab โดยมีรถเมล์ RTC เข้ามาใหม่แต่ยังไม่ค่อยตอบสนองความต้องการของคนเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยบริเวณรอบนอกตั้งแต่วงแหวนรอบ 1-3 ค่อนข้างมากและเป็นกลุ่มที่ใช้รถส่วนตัวเข้ามาในเขตเมือง

“การที่รฟม.จะเริ่มต้นที่เส้นสีแดงก่อน ก็ควรจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเป็นคนท้องถิ่นเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวเท่าไหร่ แล้วฟีดเดอร์ รวมถึงจุดจอด จุดขนถ่ายรับ-ส่งก็สำคัญเนื่องจากต้องรองรับคนส่วนใหญ่จาก 6 อำเภอกับ 1 จังหวัดที่มุ่งเข้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งดูแล้วจะตรงกับเส้นสีน้ำเงินกับสีเขียว แต่เส้นสีแดงจะเป็นที่อยู่ของส่วนราชการมากกว่า ถ้าหากเริ่มจากเส้นสีดงก่อนการดำเนินการและผลตอบแทนติดลบแน่นอนแต่ไม่รู้ว่าจะกี่ปี และเส้นสีเขียวกับสีน้ำเงินจะใช้เวลาอีกกี่ปีถึงจะเกิดขึ้นได้ รวมถึงระบบขนส่งในเส้นทางหลักและเส้นทางรองตามแผนแม่บทจะเกิดขึ้นได้เมื่อใดด้วย”รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่กล่าว

ดร.ทรงยศ กิจธรรมเกสร ทีมศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะของเมืองเชียงใหม่แบ่งออกเป็น 3 ระบบย่อยคือ โครงข่ายระบบหลักที่เน้นการรองรับปริมาณการเดินทางส่วนใหญ่ของประชาชนเชียงใหม่ภายในเขตเมืองด้วยรูปแบบระบบขนส่งสาธารณะที่มีความจุสูงรองรับผู้โดยสารจำนวนมาก เชื่อมต่อศูนย์กลางของแหล่งกิจกรรมที่สำคัญในเมือง โครงข่ายระบบรอง ที่รองรับปริมาณการเดินทางจากอำเภอรอบนอกเพื่อเข้ามาใช้บริการยังเส้นทางระบบหลักและโครงข่ายระบบเสริม เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางภายในเขตเมือง ขยายขอบเขตพื้นที่การให้บริการของระบบหลักให้สามรรถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ของเมือง ให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตเมืองสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ในระยะไม่เกิน 400 เมตร

โครงข่ายที่เลือกเป็นโครงข่าย Aระบบหลักเป็น LRT มีโครงสร้างทางวิ่งผสมระหว่างระดับดินและใต้ดิน 3 เส้นทาง คือสายสีแดงวิ่งแนวทิศเหนือ-ใต้ เริ่มต้นจากรพ.ประจำจังหวัดผ่านศูนย์ราชการ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ม.ราชภฎเชียงใหม่ รพ.มหาราชไปยังท่าอากาศยานเชียงใหม่ สิ้นสุดเส้นทางที่อ.หางดงซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยขนาดใหญ่ สายสีน้ำเงินวิ่งแนวตะวันออก-ตก เริ่มจากสวนสัตว์ผ่านมช.มทร.ล้านนา รพ.มหาราช เมืองเก่า ย่านไนท์บาร์ซ่า สถานีรถไฟ สิ้นสุดที่อ.สันกำแพงสายใหม่(พรอมเมนาดา)และสายสีเขียว วิ่งเชื่อมย่านธุรกิจ เริ่มต้นที่สี่แยกรวมโชค ผ่านเซ็นทรัลเฟสติวัล สถานีขนส่ง มุ่งหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ ผ่านตลาดวโรรส ไนท์บาร์ซ่าและสิ้นสุดที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่

จากการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ มูลค่าการลงทุนซึ่งเป็นการลงทุนร่วมแบบ PPP รัฐลงทุนงานโยธาและภาคเอกชนลงทุนงานระบบให้บริการเดินรถ เก็บค่าบริการและซ่อมบำรุง โดยรัฐลงทุน 76,557 ล้านบาท เอกชน 29,178 ล้านบาท เงินลงทุนรวม 105,735 ล้านบาท มูลค่าปัจจบันสุทธิ(NPV)63,418 ล้านบาท โครงข่าย A จะใช้ความเร็วเฉลี่ย 26-30 กม.ต่อชม. โดยสายสีแดงจากรพ.นครพิงค์-สนามบิน ระยะทาง 12 กม.ใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยมี 12 สถานีจอด

อย่างไรก็ตามนายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า สำหรับเส้นทางดำเนินการนั้น ทาง คจร.มีมติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ให้ดำเนินการเส้นสีแดงก่อน ก็คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเส้นทาง และในการศึกษาออกแบบก็จะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมEIA ด้วย ดังนั้นการออกแบบในจุดที่ผ่านเมืองเก่าก็จะใช้ความระมัดระวัง และหากเป็นไปตามแผนงานจากนี้ถึงสิ้นปี ทางรฟม.ก็จะจัดจ้างบ.ที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและออกแบบระบบ รวมทั้งศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

“ในปี 2562ก็จะมีการลงพื่นที่เพื่อออกแบบระบบ หลังจากนั้นก็จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีประมาณปลายปีหรือต้นปี 2563 และตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้สัมปทานกับเอกชน ถ้าครม.อนุมัติแล้วไม่เกินกลางปี 63 ก็จะเริ่มประกวดราคา และในต้นปี 2564 ก็จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่าไม่เกินปี 2567 ก็จะดำเนินการแล้วเสร็จ”ผช.ผู้ว่าการรฟม.กล่าว.

You may also like

คณะแพทยศาสตร์ มช. แถลงข่าว 65 ปี ตอกย้ำบทบาทและความก้าวหน้า

จำนวนผู้