สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหมม่จัดเสวนา “คนล้านนาจะปฏิบัติอย่างไรเมื่อการเปลี่ยนไปของวันพญาวัน”ระดมโหราจารย์ โหรหลวงและผู้รู้ร่วมหาทางออกร่วมกัน หลังจาก 13 ปีที่จันทรและสุริยคติเปลี่ยนจากเดิม สะท้อนปัญหาความเชื่อของล้านนาไม่สอดคล้องกับวันหยุดและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว
ที่ห้องประชุม 4 อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นางสิริยา บุญญศิริพฤกษ์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่ประเพณีล้านนาได้มีการกำหนดวันปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีสงกรานต์ ตามการเคลื่อนของดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษ วันแรกเรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง” วันที่สองเรียกว่า “วันเนาว์หรือวันเน่า” และวันที่สาม เรียกว่า “วันพญาวัน” ซึ่งเป็นวันเถลิงศก โดยการขอพรสระเกล้าดำหัวจากผู้ใหญ่ และผู้อาวุโส จะเริ่มในวันพญาวัน ที่เป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่ ให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัวนั้น
ทั้งนี้สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับการเผยแพร่คุณค่าและความหมายเชิงพิธีกรรม จึงจัดเสวนาสร้างการรับรู้เรื่อง คนล้านนาจะปฏิบัติอย่างไร เมื่อการเปลี่ยนไปของวันพญาวัน 16 เมษายนวันพญาวัน(วันเถลิงศก)ขึ้น ในวันอังคารที่ 6 มีนาคม 2561 เวลา 09.00 – 15.00 น. ที่ลานโพธิ์ วัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ในพิธีกรรม ความเชื่อมอันเป็นมงคลแก่ชีวิตที่ถูกต้องในการนับ วัน เดือน ปีทางสุริยคติ และจันทรคติ ตามปฏิทินโทรหลวง และโหราจารย์ล้านนา เพราะวันสงกรานต์ ได้เคลื่อนจากเดิมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา
ด้านนายวัลลพ นามวงพรหม รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กิจกรรมเสวนาที่จัดขึ้น ทำให้มองเห็นปัญหา 3 ส่วนคือ ความไม่สอดคล้องกันของความเชื่อทางวัฒนธรรมล้านนา การจัดวันหยุดของส่วนราชการ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไม่ตรงกัน ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา เพราะได้กำหนดให้วันที่ 13 – 15 เม.ย. เป็นการจัดกิจกรรมวันปี๋ใหม่เมือง หรือวันปีใหม่ไทย สงกรานต์ แต่ลูกหลานคนล้านนาที่ไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดเมื่อกลับมาในช่วงเทศกาลเพื่อมาหาครอบครัว ก็จะอยู่ได้ถึงวันที่ 15 เม.ย. หากจะไปทำบุญ หรือทำพิธีสระเกล้าดำหัว ขอพรจากผู้ใหญ่ และผู้อาวุโสก็จะทำไม่ได้ เพราะจะเป็นวันเนาว์หรือวันเน่า เป็นวันไม่ดีที่ไม่ควรทำ แม้แต่พระสงฆ์เองก็ยังเห็นว่าไม่ควรทำบุญในวันเนาว์หรือวันเน่า
“อย่างใดก็ตามที่ผ่านมาจำเป็นต้องทำ เพราะวันหยุดกำหนดไว้แบบนั้น เมื่อคนล้านนาที่ทำบุญไป ก็จะมีความคิดว่าทำบุญไปจะดีหรือไม่และเกิดความไม่สบายใจ เพราะความเชื่อและประเพณีโบราณได้กล่าวไว้ ด้วยเหตุนี้ทางสภาวัฒนธรรมฯจึงได้มีการจัดเสวนาขึ้นมาในวันที่ 6 มี.ค. 61 นี้ โดยเชิญโหรหลวง และโหราจารย์ล้านนา พร้อมกับผู้เกี่ยวข้องมาร่วมเสวนา เพื่อที่จะได้คำนวณวัน เวลาให้ตรงกัน ทั้งแบบของไทย และแบบของล้านนา รวมถึงดูดวงดาวให้ตรงกันว่าควรจะเป็นวันไหน และควรหาทางออก หรือเลื่อนวันอย่างไร ให้สอดคล้องกันทั้งจารีตประเพณี ความเชื่อ วันหยุดของราชการ และการส่งเสริมวัฒนธรรม”รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว.