นอกจากการเรียนในห้องเรียนแบบปกติแล้ว การเรียนรู้นอกห้องเรียนนับว่ามีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน เพราะความรู้ทางวิชาการได้จากในห้องเรียนแล้ว นอกห้องเรียนยังเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ให้เด็กๆ ได้ค้นคว้าหาความรู้ไม่มีสิ้นสุด และให้ครูผู้สอนได้หยิบจับมาสอนได้มากมาย รวมไปถึงทักษะการใช้ชีวิตซึ่งหาไม่ได้ในตำราอีกด้วย
เช่นที่ โรงเรียนบ้านป่าไผ่ ต.ไทรย้อย อ.เด่นชัย จ.แพร่ โรงเรียนขยายโอกาส สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต 2 ที่ได้ให้เด็กนักเรียนทั้งหมดจำนวน 21 คน ลงมือปลูกผักไว้รับประทานในมื้อกลางวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมโครงการส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ เพื่อสุขภาพนักเรียน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ทางโรงเรียนได้เข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการ ก็เพื่อให้เด็กตระหนักและเห็นคุณค่าผักผลไม้ ตลอดจนส่งเสริมการกินผักผลไม้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เติบโตอย่างสมวัย ครูนวรัตน์ จิตบุณยเกษม ครูประจำโรงเรียนบ้านป่าไผ่ กล่าวว่า การสอนเด็กปลูกผักและผลไม้เป็นโครงการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ทำมาก่อนแล้ว การเข้าร่วมโครงการจึงเป็นการนำเอาสิ่งที่ทำอยู่เข้ากระบวนการ และบูรณาการเข้าสู่การเรียนรู้ในสาระวิชา โดยใช้เวลาในช่วง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ให้เด็กทุกคนช่วยกันลงมือปลูกผักหลายๆ ชนิด เช่น คะน้า ชะอม กะเพรา โหระพา วอเตอร์เครส พริก มะเขือ ตะไคร้ ถั่วฝักยาว เป็นต้น ซึ่งผสมผสานตามฤดูกาลและหลากหลาย
“เราไม่เน้นปลูกเยอะค่ะ เพราะผักบางชนิดไม่เหมาะกับดินของโรงเรียน ซึ่งบางส่วนเราก็ปลูกในกระถางบ้าง กะละมังไปบ้าง ส่วนผลไม้ที่ปลูก เช่น กล้วย และแก้วมังกร ซึ่งผักทั้งหมด เด็กๆ จะต้องช่วยกันปลูก ช่วยกันดูแลและรดน้ำ พรวนดิน ซึ่งเมื่อผักและผลไม้เติบโตสามารถเก็บใบ เก็บผลได้ ก็จะนำมาทำเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารกลางวันให้เด็กได้รับประทาน รับประกันว่าเด็กจะได้รับประทานอาหารที่มาจากผักที่ปลอดสารพิษ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและเติบโตอย่างสมบูรณ์” ครูนวรัตน์ เล่า นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังได้มอบเมล็ดพันธุ์พืชผัก ให้นักเรียนนำกลับไปปลูกที่บ้าน เพื่อให้พ่อแม่กับลูกช่วยกันดูแล ช่วยสร้างความสัมพันธ์อบอุ่นในครอบครัว ถ้าเหลือก็จะนำมาขายในราคาถูกให้กับทางโรงเรียน เพื่อนำมาทำอาหารกลางวัน ซึ่งผักที่นักเรียนช่วยกันปลูกและส่วนที่ต้องซื้อจากผู้ปกครองช่วยโรงเรียนประหยัดค่าอาหารกลางวันได้ด้วย
สำหรับการบูรณาการเข้ากับสาระวิชาการเรียนรู้ ครูนวรัตน์ บอกว่า นอกจากเด็กจะได้ทานผักและผลไม้ที่ปลอดสารพิษ ทำให้ การปลูกผักและผลไม้ สามารถเชื่อมโยงได้ทุกรายวิชา เช่น คณิตศาสตร์ สามารถสอนเด็กนับจำนวนต้น จำนวนแถว จำนวนเมล็ดได้ วิชาสังคมได้เรื่องของการอยู่ร่วมกัน ช่วยกันทำ ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ ก็พูดถึงการสังเคราะห์แสง การเจริญเติบโตของพืช หรือโครงงานอาชีพ การปลูกผักสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ เป็นต้น “สิ่งที่มีอยู่รอบตัวสามารถเชื่อมโยงได้หมดแล้วแต่ว่าครูจะนำไปบูรณาการในแต่ละรายวิชา บางครั้งการเรียนในห้องเรียนเด็กก็จะรู้สึกเบื่อหน่าย แต่ถ้าเราลองนำเด็กออกไปเรียนรู้ข้างนอกห้อง ฝึกสังเกต หรือนำเอาสิ่งรอบตัวมาสอน เขาก็จะรู้สึกสนุก ไม่น่าเบื่อ และเรียนรู้อย่างมีความสุข” ครูนวรัตน์ กล่าว
นอกจากแปลงผักและผลไม้แล้ว แปลงนาสาธิตของโรงเรียนที่ประธานคณะกรรมการสถานศึกษามอบให้ ยังเป็นอีกหนึ่งแหล่งผลิต “ข้าว” เพื่อป้อนโครงการอาหารกลางวัน และให้เด็กๆ ได้เชื่อมโยง เรียนรู้วิถีชีวิตกับชุมชน อำนวย คลี่ใบ หรือ “หนานนวย” ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา ร.ร.บ้านผ่าไผ่ กล่าวว่า ได้กันพื้นที่นาส่วนหนึ่ง เพื่อให้เป็นแปลงนาสาธิต ทุกๆ ปี เด็กและผู้ปกครองและคนในชุมชน จะต้องมาช่วยกันทำนาปลูกข้าว เด็กๆ จะได้เรียนรู้ ได้สนุกกับสิ่งที่ทำ โดยแต่ละปีจะได้ผลผลิตข้าวประมาณ 20 ถังนำไปทำเป็นข้าวกล้องหุงให้นักเรียนกินได้ประมาณครึ่งเทอม ส่วนที่ขาดไปทางตนเองก็ได้บริจาคข้าวให้และทางโรงเรียนก็จัดซื้อส่วนหนึ่ง ซึ่งได้งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามโครงการอาหารกลางวัน
ขณะเดียวกันพื้นที่รอบแปลงนา ซึ่งเป็นป่าชุมชน ทางครูและกลุ่มผู้ปกครองในหมู่บ้านจะพาเด็กเข้าป่าเรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิตในป่า และการหาประโยชน์จากป่า เช่น สอนเก็บเห็ด สอนเรื่องพันธุ์ไม้ สมุนไพร เป็นต้น ทำให้เด็กรู้สึกใกล้ชิดป่าชุมชน เกิดความรู้สึกหวงแหน และช่วยกันรักษาป่าให้อยู่กับชุมชนต่อไป “เด็กๆ ได้ฝึกทำนา ได้ปลูกผักด้วยตัวเอง ช่วยสอนให้เขาได้มีทักษะในการใช้ชีวิต และที่สำคัญเขาจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เกิดความเชื่อมโยงกันของคนสามวัยในชุมชน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนชรา ที่จะต้องช่วยกันรักษารากเง้านี้ไว้ต่อไป” หนานนวย กล่าว
โรงเรียนบ้านป่าไผ่ แม้จะเป็นเพียงโรงเรียนห่างไกล แต่ก็มีความตั้งใจในการสร้างสรรค์โครงการ เพื่อเสริมสุขภาพและเพิ่มพูนทักษะชีวิตให้กับนักเรียน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันชีวิตติดตัวตลอดไป.