“วราวุธ”กำชับกรมควบคุมมลพิษเน้นความแม่นยำของข้อมูลpm2.5 การพยากรณ์อากาศและแจ้งเตือนประชาชน เผยนโยบายปี 65 เน้นป้องกันมากกว่าแก้ปัญหา ยันไม่ต้องการให้จับคนเผาหรือก่อเหตุมาดำเนินคดี แต่ไม่อยากให้มีการเผาเกิดขึ้น ระบุจะอ้างวิถีชีวิตแบบเดิมไม่ได้ชี้ กลุ่มชาติพันธุ์อดีตยังไม่ใช้สมาร์ทโฟน แต่ตอนนี้ยังใช้เลย แนะให้ดึงNGO-สภาลมหายใจและกูรูโซเซียลมาช่วยทำงาน แจงไม่ได้ดับไฟทางโซเซียลแต่ดับไฟในป่า ขอผู้ว่าฯทุกจังหวัดบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม และหากตรวจสอบพบก็ให้ยึดพื้นที่ทำกินคืน
เมื่อวันที่10 ธันวาคม 2564 ที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน (ส่วนหน้า) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานประชุมและเปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง PM 2.5 ของหน่วยงานในสังกัด ทส. (Kick off) โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายธัญญาเนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอรรพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ , พลตรี ถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3/รองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้าและหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายจงคล้าย วรพงศธร รองปลัดกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงานผลการดำเนินงานป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และการเตรียมความพร้อมการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยสรุปตอนหนึ่งว่าในปี 65 นี้มีการเตรียมกำลังพลไว้ 3,000 นายและยังใช้มาตรการชิงเผาตามหลักวิชาการและเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลผ่านการจัดการที่ดินทำกินในพื้นที่ตามมาตรา 44 และมาตรา 121 ตามพรบ.ป่าสงวนฯประมาณ 4 ล้านไร่และพื้นที่คทช.ด้วย
รองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ รายงานอีกว่า สำหรับจุดความร้อนทั่วประเทศในปี 2564 มีจำนวนลดลงจากปี 63 ถึงร้อยละ 50.38 โดยพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจุดความร้อนลดลงเหลือ 61,776 จุดจาก 129,328 จุดของปี 63 และในปี 2565 จะให้ลดลงตามเป้าหมายคือร้อยละ 20
ทางด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ในความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนในเรื่องปัญหาหมอกควันข้ามแดนเมื่อปีที่ผ่านมาสามารถลดจุดความร้อนลงได้ อาทิ พม่าลดลงร้อยละ 15, ลาวลดลงร้อยละ 20 และเวียดนามลดลงร้อยละ 28 สำหรับค่าpm2.5 โดยเฉลี่ยค่าที่เกินค่ามาตรฐานก็ลดลงร้อยละ 13 หากเทียบกับจำนวนจุดความร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาฝุ่นpm2.5 เกิดจากหมอกควันข้ามแดนค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตามพื้นที่เผาไหม้ใน 9 จังหวัดภาคเหนือมีจำนวน 9,742 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่เผาไหม้มากที่สุดคือลำปาง 1.33 ล้านไร่รองลงมาคือจังหวัดแม่ฮ่องสอน 1.32 ล้านไร่ สำหรับเป่าหมายในปีนี้จะให้มีการลดการเผาวัสดุทางการเกษตรลง โดยเฉพาะไร่อ้อยซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิ่มพื้นที่ลดการเผาจากเดิม 75% เป็นร้อยละ 90 ในปี 2565 รวมทั้งพื้นที่ปลูกข้าวและข้าวโพดก็จะลดการเผาลงด้วย
“ปัญหาที่ควบคุมไม่ได้คือหมอกควันข้ามแดนซึ่งได้มีการหารือกันผ่านกรองความร่วมมืออาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ขณะที่ทางฝ่ายทหารก็ใช้เวทีของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ซึ่งตั้งเป้าหมายให้ลดจุดความร้อนลงกว่าร้อยละ 20 และทุกประเทศก็เห็นด้วยและแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบถึงสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันด้วย สำหรับปี 65 จะมีการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศโดยยังอิงค่าpm2.5 ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ในรอบ 24 ชม.ส่วนสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วประเทศมี 77 สถานี สำหรับภาคเหนือปีนี้จะนำรถโมบายมาประจำตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เพื่อเพิ่มจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศมากขึ้นด้วยโดยเฉพาะพื้นที่สำคัญ ”อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว
ทางด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในที่ประชุมว่า สิ่งที่อยากฝากให้กรมควบคุมมลพิษให้เร่งทำความเข้าใจเมื่อเกิดการเผาแก่ผู้นำชุมชนและประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในเมืองและในป่าซึ่งมีปัญหาต่างกัน ไฟที่เผาในป่ามาสร้างปัญหาในเมือง เพราะฉะนั้นต้องมีความแม่นยำของข้อมูล การพยากรณ์อากาศและแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าสำคัญ pm2.5 ในส่วนที่ควบคุมได้อย่างเมื่อปี 64 ที่ฝ่ายปกครอง ทหารและจนท.ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันสามารถลดการเผาได้กว่า 50% แต่สำหรับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือหมอกควันข้ามแดนก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่าตอนนี้เป็นฤดูฝุ่นแล้ว และบอกให้รู้ว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ทำอะไรไปบ้าง และอย่ากลัวที่จะพยากรณ์ล่วงหน้า
“ปัญหาหมอกควันข้ามแดนต้องมีแอคชั่นให้ประชาชนเห็นว่าส่วนราชการไม่ได้นิ่งนอนใจหรือนิ่งดูดายกับปัญหา ส่วนกรมอุทยานฯก็ให้เน้นชิงเก็บลดการเผา ต้องทำต่อเนื่องปี 65 เป้าหมาย 3 พันตันถ้าได้มากกว่านี้ยิ่งดี การแอพพลิเคชั่นมาช่วยตรวจสอบพื้นที่เผาหากช่วยได้จริงยิ่งดี ซึ่งผมให้นโยบายกับกระทรวงทรัพย์ไปแล้วว่าไม่ได้ต้องการให้จับคนเผาหรือก่อเหตุมาดำเนินคดี แต่ไม่อยากให้มีการเผาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการป้องกันคือสิ่งที่ดีที่สุด”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวและว่า
ต้องมีการสื่อสาร ทำความเข้าใจลงไปถึงระดับอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ต้องย้ำว่าไม่ได้แก้ตัวแต่ให้ประชาชนรู้ว่าpm2.5 คืออะไรจะมาอ้างวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไม่ได้ เพราะทุกวันนี้วิถีชีวิต้องเปลี่ยนไปแล้วเหมือนลอยกระทงที่ยังมีการลอยกระทงออนไลน์ได้ กลุ่มชาติพันธุ์เมื่อก่อนไม่มีสมาร์ทโฟน แต่ตอนนี้ยังใช้เลย เพราะฉะนั้นจะมาอ้างวิถีชีวิตไม่ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ กล่าวต่อไปอีกว่า โดยเฉพาะกลุ่มเอ็นจีโอ สภาลมหายใจเป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่จะให้เขามามีส่วนร่วม ที่ผ่านมาสภาลมหายใจพูดแทนคนในเมือง แต่พี่น้องในป่าก็จะมีอีกแนวคิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ต้องดึงสภาลมหายใจมาช่วยพูดด้วย และใครที่เป็นกูรูทางโซเซียลก็ให้เชิญมาช่วยทำงาน เพราะเราไม่ได้ดับไฟทางโซเซียลแต่ดับไฟในป่า สำหรับพื้นที่ทำกินหรือคทช.ขอฝากผ่านผู้ว่าฯทุกจังหวัดหากพื้นที่ใดมีการเผาขอให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม และหากตรวจสอบพบก็ให้ยึดพื้นที่ทำกินคืน แนวทางในปี 65 คือจะเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา
จากนั้นรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เยี่ยมชมการสาธิตการดับไฟ การเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและปล่อยแถวชุดดับไฟป่า และให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีได้มีการถอดบทเรียนว่าใน 2564สามารถดำเนินงานได้ดีกว่า 2563 อย่างไร การทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานอื่นๆ ทำให้ปี 2564 มีจุดความร้อนลดลงน้อยกว่าปี 2563 อยู่ร้อยละ 50 พร้อมกับนำบทเรียนการดำเนินงานของปี 2564 มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานปี 2565 ต่อไป พร้อมกับมีความมั่นใจว่าแนวการดำเนินงานต่างที่จะใช้ในปี 2565 จะทำให้สามารถลดจุดความร้อนได้มากขึ้นถึงร้อยละ 20 แต่อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปัจจัยอื่นๆ โดยแผนงานในปี 2564 จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดใช้ในปีต่อไปและปรับการทำงานตามสถานณ์ต่อไป
ขณะนี้แผนการดำเนินงานต่างๆ ได้เข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในวันที่ 17 ธ.ค. 64 ที่จะถึงนี้ แผนงานประกอบด้วยการสื่อสาร การป้องกัน และการเผชิญเหตุ เมื่อผ่านคณะกรรมการฯแล้ว จะนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป แต่เมื่อผ่านคณะกรรมการฯแล้ว แทบจะสามารถนำมาใช้เป็นแผนการดำเนินงานได้ทันที และยังได้กำชับอุทยานแห่งชาติต่างๆ ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น การเข้าไปในป่าของประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเผา
นายวราวุธ ศิลปะอาชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชน 17 จังหวัดภาคเหนือในการเผชิญเหตุหมอกควัน ทางกระทรวงฯจะทำงานป้องกันและแก้ไขอย่างเต็มที่ หลายครั้งมีปัจจัยการเกิดหมอกควันที่อยู่เหนือการควบคุมในส่วนนี้กราบขออภัยด้วย เช่นหมอกควันไฟป่าที่ข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนนี้ได้มีการประสานงานไปที่หน่วยงานต่างประเทศช่วยพูดคุยทำความเข้าใจ รวมถึงประสานงานกับเลขาธิการอาเซียน ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน.