เชียงใหม่ (25 พ.ค.58) / สกน.บุกยื่นหนังสือถึงประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผ่านศูนย์ดำรงธรรมเชียงใหม่ พร้อมออกแถลงการณ์จี้ยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับอนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้ ระบุกระทบสิทธิ-เป็นภัยคุกคามต่อชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 พ.ค. ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ และเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ ประมาณ 25 คน ภายใต้การนำขอนายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร ได้เดินทางไปที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึงประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผ่านผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ขอให้ยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับอนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้ ภายใต้คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ต่อมาน.ส.กัญจนา กลิ่นทอง แรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าเวรศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงใหม่ ได้ออกมารับหนังสือ ระหว่างนั้น ได้มีอ่านแถลงการณ์ โดยนางหน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง เนื้อความโดยสรุปคือการผูกขาดการแก้ไขปัญหาทุกอย่างไว้ที่ระบบราชการ ทำให้พื้นที่ป่าลดลงและเสื่อมสภาพ ทั้งยังทำให้ปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของประชาชนทวีความรุนแรงมากขึ้น
ระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ที่ภาคประชาชนพยายามผลักดันเรื่องการเข้าไปมีส่วนร่วมดูและรักษา จัดการ และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน จนเกิดร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน (ภาคประชาชน) แต่กลับไม่สามารถผลักดันกฎหมายดังกล่าวได้ และยังถูกรัฐตั้งเงื่อนไขในการมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดภาวะถดถอยในการแก้ปัญหาบุกรุกทำลายป่า ขณะเดียวกันในฐานะผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน (ฉบับประชาชน) ต่างเห็นพ้องว่า ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ…..ฉบับอนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้ เป็นร่างที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540, 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เกี่ยวกับสิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง ซ้ำยังมีเนื้อหาคุกคามชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ อันจะนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งอย่างไม่สิ้นสุด
ในนามเครือข่ายภาคประชาชนจึงเรียกร้องประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสมาชิก ยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ…..ฉบับอนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้ภายใต้คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทันที จนกว่าจะมีกระบวนการทบทวน นำข้อเสนอจากทุกภาคส่วนมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนำไปสู่การปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติณ การกระจายอำนาจ และการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง สอดคล้องกับเจตนารมณ์และเนื้อหาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540, 2550 และร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
หลังจากนั้น น.ส.สุขศรี ชิติพัทธ์ และนายสรศักดิ์ ได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือพร้อมทั้งยืนยันเจตนารมณ์ว่าทางกลุ่มจะติดตามความคืบหน้าของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ให้ถึงที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของคนจน.