สกู๊ปพิเศษ สำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชนเผ่า ” มนต์เสน่ห์ แห่งชาติพันธ์ “

สกู๊ปพิเศษ สำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชนเผ่า ” มนต์เสน่ห์ แห่งชาติพันธ์ “

- in Exclusive, ท่องเที่ยว

 

สกู๊ปพิเศษ                                      สำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชนเผ่า

                                                                ” มนต์เสน่ห์ แห่งชาติพันธ์ “

                                                          การท่องเที่ยวในวันธรรมดา  ที่ไม่ธรรมดา

 

เริ่มต้นการเดินทางสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชนเผ่า เพื่อสัมผัสวิถีชีวิต และวัฒนธรรมทริปนี้เริ่มต้นที่บ้านป่าตาล ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง ซึ่งที่นี่ทงหมู่บ้านป่าตาล หมู่ 4 ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกับทางวัดป่าตาล ร่วมกันจัดทำหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เพื่อให้นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษาและบุคคลทั่วไป ที่สนใจท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเรียนรุ้ภูมิปัญญาต่าง ๆ ได้มาสัมผัสวิถีชีวิตคนยอง

นายวันชัย จอมทัน ผู้สื่อความหมายวัฒนธรรมชุมชนไทยองบ้านป่าตาล เล่าว่า ตำบลบวกค้างนั้นเป็นชุมชนที่มีคนยองอาศัยอยู่เกือบ 95% และยังมีการอนุรักษ์ภาษาพูด การแต่งกายและวิถีชีวิตไทยอง โดยเฉพาะหมู่บ้านป่าตาล มีพระอาจารย์สมุห์มงคล ฐิตมฺงคโล เจ้าอาวาสวัดป่าตาลที่เป็นผู้ที่ริเริ่มในการอนุรักษ์และเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในวิถีชีวิตของคนยองมาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และเป็นผู้ที่มีบทบาทในการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยองให้ลูกหลานชาวยองได้รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวยอง ตลอดจนการพูดภาษายอง

ยองเป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทและมีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ที่เมืองยอง ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเชียงตุงประเทศพม่า ในภาคเหนือของไทยมีชุมชนชาวยองกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ กันหลายแห่ง เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย น่านและแพร่ มีความเห็นต่าง ๆ กันเกี่ยวกับชื่อยองและลื้อ มีการแบ่งแยกระหว่างภาษาลื้อและยอง นำไปสู่การแบ่งกลุ่มคนที่พูดภาษาลื้อว่าเป็น “ไทลื้อ” ที่พูดภาษายองว่าเป็น “ไทยยอง” โดยอ้างถึงข้อแตกต่างเล็กน้อยของสองภาษา เช่น การแตกตัวของเสียงวรรณยุกต์ ในภาษาลื้อมีการแตกตัวเป็นสอง ขณะที่ภาษายองแตกตัวเป็นสาม ในประเด็นนี้ยังมีความสับสนอยู่มากเพราะคนที่พูดภาษายองบางกลุ่มเรียกตนเองเป็นลื้อ เช่น ยองที่ลำปาง ดังนั้นการใช้ลักษณะทางภาษาศาสตร์อาจไม่สามารถแบ่งกลุ่มชนได้อย่างชัดเจนตายตัวนัก หรืออาจจะไม่สามารถแบ่งอย่างตายตัวได้เลยไม่ว่าจะใช้หลักวิชาการใด ๆ อย่างไรก็ตามนักวิชาการจำนวนมากลงความเห็นว่ายองคือลื้อกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่เมืองยอง

ส่วนคำว่าไท หรือไต นั้นโดยทั่วไปนักวิชาการจะใช้เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท แล้วเติมหน้าชื่อเฉพาะเพื่อกำหนดกลุ่มคนให้ชัดเจน เช่น ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ ไทดำ ไทแดง และไทหย่า เป็นต้น แต่ชาวบ้านใช้คำว่า ไต ให้ความหมายว่า คนหรือชาวไตบ้านม่อน คือคนบ้านม่อน ชาวเชียงใหม่ได้ไปเยี่ยมเยี่ยนสิบสองปันนาจะได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีมาก หากอ้างตัวว่า เป็น “ปี้น้องไต” คำว่าไทยยองสำหรับชาวบ้านไม่มีความหมายในทางชาติพันธุ์ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่หมายถึง ชาวยองที่ต่างจากฮ่อ เพราะเป็นไต และเป็นคนที่มาจากเมืองยอง

การตั้งถิ่นฐานของชาวยองในเขตตำบลบวกค้างนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับบริเวณอื่น ๆ ของล้านนา กล่าวคือ มีหลักฐานไม่ชัดเจนนัก ระบุการตั้งถิ่นฐานก่อนยุคเจ้ากาวิละ “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” เช่น ตำนานเกี่ยวกับพุทธทำนาย หากจะยอมรับการใช้สัญลักษณ์ในตำนานที่ตีความว่ายักษ์ คนป่า หรือสัตว์ป่านี้หมายถึงคนในท้องถิ่นหรือคนพื้นเมืองที่ยังป่าเถื่อน ก่อนหน้าที่จะรับนับถือพุทธศาสนา แล้วกลายมาเป็นชุมชนที่มีอารยธรรมวัฒนธรรมขึ้นมา เมื่อนับถือพุทธศาสนาแล้ว พญาค่างเผือกและบริวารก็สามารถที่จะตีความว่าเป็นคนป่าเถื่อนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนี้ แล้วอาจจะได้รับนับถือพุทธศาสนาพร้อม ๆ การเข้ามาสู่หริภุญไชยของพระนางเจ้าจามเทวีก็เป็นได้

นอกจากนี้ยังมีตำนานหมู่บ้านที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรัฐหริภุญไชย การที่ขบวนเสด็จของพระนางเจ้าจามเทวีผ่านสถานที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดชื่อหมู่บ้าน อาทิ หมู่บ้านช้างเว้น หรือช่างเพี้ยน หมู่บ้านโป่งช้างคต หรือบ้านโป่งในปัจจุบัน แสดงว่ามีการตั้งถิ่นฐานมานานก่อนสมัยกาวิละ แต่ไม่แน่ว่าจะเป็นกลุ่มคนใดเพราะเขตออนใต้เองเป็นเขตที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและมีชุมชนหนาแน่นมาตั้งแต่สมัยราชวงค์มังราย มีความเป็นไปได้ว่าและมีย้ายถิ่นออกไปในบางยุคบางสมัยที่มีศึกสงครามหรือข้าวยากหมากแพง

การตั้งถิ่นฐานชาวยองที่ตำบลบวกค้าง อาจสืบสาวมาจากความเป็นมาได้จากประวัติวัดบวกค้าง เพราะการสร้างหมู่บ้านมักสร้างควบคู่ไปกับการสร้างวัด แต่ก็มีปัญหาตรงที่ว่าตำนานวัดฉบับเก่าแก่ตั้งเดิมนั้นได้สูญหายไป เหลือแต่คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านว่า วัดบวกค้างเป็นวัดเก่าแก่ สร้างเป็นวัดแรกของตำบลนี้ เคยมีคัมภีร์ใบลานจารึกไว้แต่สูญหายไปแล้ว เหลือเพียงจารึกไม้ ระบุคร่าว ๆ ว่า จ.ศ.๑๑๘๒ สาธุหลวงเจ้ายาสิริ พระเจ้าสุริยวงศา พร้อมด้วยบริวารท้าวขุนได้ร่วมกันสร้างพระอุโบสถหนึ่งหลังพร้อมด้วยพระพุทธรูปอีก ๒๐๐ องค์ มีผู้สันนิษฐานว่าวัดนี้อาจเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือสร้าง เพราะปรากฏมีเครื่องสูงสำหรับแห่ธรรม ทำด้วยไม้แกะสลักสวยงามเก็บไว้

อย่างไรก็ตามธรรมเนียมที่วัดมีเครื่องสูงทำด้วยไม้แกะสลักไว้แห่ในพิธีกรรมต่าง ๆ นั้น เป็นธรรมเนียมของวัดลื้อและยองในสิบสองปันนาและเชียงตุง เมื่อตรวจสอบกับตำนานเมืองเชียงใหม่แล้ว เจ้ากระหม่อมสุริยวงค์นั้นไม่น่าจะเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ แต่เป็นเจ้าสุริยะวงค์เมืองยองที่ได้เดินทางมาเชียงใหม่พร้อมกับ “ลูกหลานคนครัวเมืองยอง” เมื่อครั้งเจ้ามหาอุปราชธรรมลังกาไปรบพม่าที่เมืองยาง จึงน่าจะเป็นไปได้ว่า ผู้คนที่มาจากเมืองยองโดยมี “เจ้ากระหม่อมสุริยะวงค์เป็นเค้า” นั้นอาจจะเป็นบรรพบุรุษของชาวยองตำบลบวกค้างก็เป็นได้

อีกด้านหนึ่งก็มีการเล่าต่อกันมาว่าชาวยองจากเมืองยองได้อพยพมาอยู่ที่โยนก เชียงแสน ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ่อก้าง ปัจจุบันในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นจึงอพยพมาอยู่ที่วกค้าง สันกำแพง ปรากฏว่าชาวยองนิยมสร้างเรือนแบบที่คนเมืองเรียกว่า เรือนแบบเชียงแสน ทำให้น่าคิดว่าชาวยองที่เชียงใหม่หรือลำพูนนี้อาจเป็นคนมาจากเชียงแสนก็ได้ หากพิจารณาดูความอุดมสมบูรณ์ของทั้งสองแห่งแล้ว น่าจะเป็นการย้ายจากบวกค้างไปอยู่บ่อก้างที่เชียงรายมากว่า เพราะที่นั่นอุดมสมบูรณ์กว่าเหมาะแก่การเพาะปลูก อย่างไรก็ตามการอพยพกลับย้อนขึ้นไปเชียงแสนอาจเกิดขึ้นได้ เพราะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้เจ้านายล้านนาอพยพผู้คนไปตั้งถิ่นฐานที่เชียงแสนเพื่อดูแลชายแดนตอนเหนือ เจ้านายเมืองลำพูนได้รับหน้าที่อพยพคนที่เดิมเคยอยู่เชียงแสนกลับไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านเดิม

การอพยพและการตั้งถิ่นฐานของชาวยองที่ตำบลบวกค้างนี้คล้ายคลึงกับกลุ่มไท ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณอื่น ๆ เช่น ลื้อที่น่าน ซึ่งมักจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นชุมชนสำคัญในอดีต แต่ก็ไม่สามารถจะบอกได้เป็นการจั้งถิ่นฐานที่สืบทอดมา เป็นไปได้ว่าเป็นการตั้งถิ่นฐานใหม่ในชุมชนเก่าที่ร้างไปในสมัยสงครามพม่า และฟื้นตัวขึ้นมาตามนโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”

นายวันชัย จอมทัน ผู้สื่อความหมายวัฒนธรรมชุมชนไทยองบ้านป่าตาล บอกอีกว่า ที่ป่าตาล บ้านแต่ละหลังคาเรือนจะมีคนในชุมชนทำหัตถกรรมภูมิปัญญาต่าง ๆ อาทิเช่น การทำกระดาษสา การทำจักสาน สานข้าวกล่องจากใบตาล สานตะกร้า สานไม้กวาด ทำโคม ทำหมวกกะโล่โบราณ การทำน้ำหนัง การทอผ้า การตัดเย็บเสื้อผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้าน การปลูกผัก ทำสวนเศรษฐกิจพอเพียง ที่นี่ยังมีบริการไกด์นำเที่ยวในชุมชน มีรถถีบให้เช่าปั่นรอบหมู่บ้าน รวมทั้งให้เช่าชุดยองถ่ายรูป มีที่พักแบบโฮมสเตย์ มีร้านป้อหลวงที่มีอาหารและกาแฟ เครื่องดื่ม มีของฝากของที่ระลึก พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทางชุมชนต้องการที่จะอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบทอดภูมิปัญญาให้คนรุ่นใหม่ได้มาศึกษาเรียนรู้ สืบต่อไปให้มั่นคงถาวร รวมทั้งเพื่อเป็นการแสดงออกถึงชาติพันธ์ อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของคนยอง และยังเป็นการสนับสนุนการเที่ยวเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนชาวยองบ้านป่าตาลและก่อให้เกิดรายได้ของคนในชุมชน เกิดความรักความสามัคคี และมีความสุขร่วมกันของคนในชุมชนด้วย

ออกจากชุมชนไทยองบ้านป่าตาล คณะเราเดินทางไปยังอ.กัลยาณิวัฒนา อำเภอที่ 25 ของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งแยก 3 ตำบลจากอ.แม่แจ่มคือ ตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่แดด และตำบลแจ่มหลวง มีเนื้อที่ 674.58 ตารางกิโลเมตร และประชากร 10,561 คน มีคำขวัญว่า “กัลยาณิวัฒนา ดินแดนในฝัน ป่าสนพันปี ประเพณี วัฒนธรรม บริสุทธิ์ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สามัคคี สมานฉันท์”ดเด่นสำคัญของ อ.กัลยาณิวัฒนา คือ ที่นี่มีป่าสนธรรมชาติอันกว้างใหญ่กว่าแสนไร่ ถือเป็นป่าสนผืนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ป่าสนวัดจันทร์มีความผูกพันมาช้านานกับชาว“ปกาเกอะญอ” หรือ “กะเหรี่ยง”ชนเผ่าดั้งเดิมของพื้นที่แห่งนี้ และศูนย์กลางของ           อ.กัลยาณิวัฒนา อยู่ที่ชุมชนบ้านจันทร์ ซึ่งมี “วัดจันทร์” เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธา

วัดจันทร์ เป็นวัดเก่าแก่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาได้กว่า 300 ปีแล้ว ซึ่งชื่อของวัดจันทร์ บ้านจันทร์นั้น ตามตำนานเชื่อว่ามาจากชื่อของ “นายจันทร์” (ตำนานหนึ่งว่าเป็นคนจากล้านนา อีกตำนานหนึ่งว่าเป็นคนพื้นที่ที่นี่) วัดจันทร์ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุวัดจันทร์สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน ขณะที่วิหารของที่นี่นับว่าดูแปลกจากวิหารทั่วๆไป หลายคนเรียกวิหารหลังนี้ว่า “วิหารแว่นตาดำ” หรือ “วิหารเรย์แบน” เพราะเมื่อมองจากด้านหน้าแล้วดูคล้ายมีแว่นตาขนาดใหญ่ สวมอยู่ นักท่องเที่ยวหรือใครที่มาที่อ.กัลยาฯจะต้องมาถ่ายรูปตรงจุดนี้เป็นสัญลักษณ์ว่าได้มาถึงแล้ว

ป่าสนวัดจันทร์ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม อยู่ใกล้เส้นทางไปอำเภอปาย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์ ธรรมชาติ สวยงาม เป็นป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แม้คณะเรามาในช่วงนี้ที่มีฝนโปรยปรายแต่ยังสัมผัสสายหมอก ไอเย็นและความชุ่มชื้นได้และเชื่อว่าในช่วงฤดูหนาวดินแดนกลางหุบเขาแห่งนี้ จะได้เห็น ภาพสายหมอกลอยพริ้วปกคลุมทิวสนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งสีสันสดสวยของใบเมเปิ้ลที่พร้อมใจกันผลัด เปลี่ยนสีกับต้นซากุระที่ออกดอกบานสะพรั่งในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือน ธ.ค. -ก.พ. เชื่อว่าใครก็ตามที่ได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้ต้องชอบอย่างแน่นอน

สูดโอโซน ดื่มด่ำกับธรรมชาติที่งดงาม จิบกาแฟและเก็บความทรงจำดีๆ ที่มาสัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอแล้ว คณะเราเดินทางไปชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด ซึ่งบ้านลวงเหนือ หมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 5 ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ต่อมาในภายหลังได้มีการแบ่งแยกเขตการปกครองออกเป็นสองหมู่บ้าน ที่นี่เป็นถิ่นอาศัยของชาวไทลื้อ ที่อพยพมาจาก เขตสิบสองปันนา (สาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน) ซึ่งบรรพบุรุษได้อพยพย้ายถิ่นฐานมายังเมืองเชียงใหม่ เพื่อหลบลี้หนีภัยสงคราม โดยมาตั้งหลักปักฐาน ที่บริเวณบ้านลวงเหนือ เมื่อวันที่ 3 เมษายน  พ.ศ.1932  ตามจารึกที่ปรากฏในฐานเสื้อบ้านซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างหลักปักฐานของชุมชนไทลื้อที่อพยพมา

บ้านลวงเหนือตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 25 กิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทเชื้อสายไทลื้อ ที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชาวไทยล้านนา แต่มีอัตลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเป็นชาวไทลื้อที่ชัดเจนคือ ภาษา การแต่งกาย อาหารการกิน เป็นต้น นอกจากจะมีความน่าสนใจทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นแล้ว บ้านลวงเหนือยังพรั่งพร้อมด้วย องค์ความรู้ภูมิปัญญาของคนในชุมชน ที่เป็นอาชีพของคนในชุมชนอีกด้วย เช่น การแกะสลักตุ๊กตาไม้ การทำผลิตภัณฑ์กระดาษสา การทำข้าวควบข้าวแคบ(อาหารพื้นบ้านชาวไทลื้อ) การทอผ้าไทลื้อ เป็นต้น

เนื่องจากเป็นทริปสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนชาติพันธุ์ของสื่อมวลชน เป้าหมายจึงมุ่งมาที่ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อบ้านใบบุญ ซึ่ง ร.ต.ท.อนันต์ บัวมะลิ ที่เกษียณอายุราชการแล้วได้จำลองทั้งบ้านเรือน วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ วัฒนธรรมของไทลื้อไว้ในที่แห่งเดียวกัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ในรูปแบบท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  โดยเริ่มต้นจากการต้อนรับด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อยกับถ้อยคำ “อยู่ดี กิ๋นหวาน” ก่อนพาขึ้นเฮือนไทลื้อ เพื่อรับขวัญผูกข้อมือ ซึ่งที่ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อบ้านใบบุญ มีครูภูมิปัญญาหลายคนช่วยกันถ่ายทอดข้อมูลและวิถีต่างๆ ให้ด้วยการสาธิตและพาไปสัมผัสของจริง ซึ่งก็สร้างความประทับใจให้กับสื่อมวลชนที่ร่วมกิจกรรมนี้กันอย่างมาก

นางสาวปราณปริยา  พลเยี่ยม  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า  ปี 2561 กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชนเผ่าจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ชื่อกิจกรรมว่า “มนต์เสน่ห์ แห่งชาติพันธ์”  เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชนเผ่า ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในวันธรรมดา…น่าเที่ยว  และเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนและท้องถิ่น จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความหลากหลายทั้งทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และชาติพันธุ์มากถึง 19 ชนเผ่า มีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละชนเผ่าที่สวยงาม และมีชุมชนเมืองหลายๆ ชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว มีต้นทุนทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่

จังหวัดเชียงใหม่ได้เห็นถึงคุณค่า และความสำคัญในความหลากหลายของชนเผ่า อันเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว ขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บนพื้นฐานความต้องการส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพบุคลากร และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว สามารถแข่งขันในระดับสากลของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สร้างเป็นเครือข่ายระหว่างกันแลกเปลี่ยนแนวความคิด ประสบการณ์ ความร่วมมือในการวางแผนประสานงาน การจัดการองค์ความรู้ สนับสนุนซึ่งกันและกัน นำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการสร้างงาน และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และเป็นการเตรียมความพร้อมต่อผลกระทบจาก AEC ในอนาคตและเพื่อเป็นไปตามกรอบข้อตกลง ความร่วมมือการรวมกลุ่ม AEC ในการดูแลด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวของภูมิภาคต่อไปอีกด้วย

ปิดทริปสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชนเผ่า การเที่ยวในวันธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา บอกได้เลยว่าจะไม่ทำให้ผิดหวัง ไม่ต้องดั้นด้นค้นหา ไปไกลถึงต่างประเทศ เพียงแค่เปิดตา มีใจและก้าวออกไปสัมผัสเองด้วยการท่องเที่ยวที่อาจต้องใช้เวลาในการเดินทาง การใช้ชีวิตที่อาจไม่สะดวกสบายหรูหรา แต่จะได้ความสุข ความประทับใจ เหมือนกับได้ต่อชีวิตออกไปอีกหลายปี ถ้าไม่มาสัมผัสเองก็คงจะไม่รู้ว่า บนผืนแผ่นดินแห่งนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมที่หลากหลายของชาติพันธุ์ และมีเสน่ห์ให้หลงใหล หากไม่เชื่อก็ต้องลอง.

 

ณัชชา  อุตตะมัง  เขียน

You may also like

คณะแพทยศาสตร์ มช. แถลงข่าว 65 ปี ตอกย้ำบทบาทและความก้าวหน้า

จำนวนผู้