สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ตามโครงการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์ วิจัยและใช้ประโยชน์ เพื่อรวบรวมและจำแนกชนิดพืชสมุนไพร
วันที่ 14 มีนาคม 2561 ที่ห้องประชุม 3 อาคารศูนย์สารนิเทศ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ นายรณรงค์ เส็งเอี่ยม ผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กับ นายสมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โครงการ “ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์ วิจัย และใช้ประโยชน์” ระหว่าง องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำหรับการลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและจัดจำแนกทางพฤกษศาสตร์ชนิดพืชสมุนไพรในบัญชีรายชื่อสมุนไพรแห่งชาติและสมุนไพรอื่นๆ ที่มีการใช้ประโยชน์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสนับสนุนการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชในสภาพปลอดเชื้อและการจัดทำ DNA barcode ของธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ วิจัย และส่งเสริมการวิจัย พัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่มรวมทั้งใช้ประโยชน์เชื้อพันธุกรรมพืชอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีการจัดตั้งธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ Biobank ขึ้นเพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านความมั่นคงของประเทศและเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย Biobank จะเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมของทรัพยากรชีวภาพในสภาพปลอดเชื้อเพื่ออนุรักษ์ วิจัยและใช้ประโยชน์ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียจากปัจจัยต่างๆ เช่นภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับทาง องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) ก็เป็นศูนย์กลางข้อมูลทางการศึกษาทางด้านพืชและเป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชสมุนไพรไทย พืชหายากใกล้สูญพันธุ์และพืชภูมิปัญญาของประเทศ
โดยทั้งสองหน่วยงานมีความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรพรรณพืชสมุนไพรและเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการรวบรวมพันธุ์สมุนไพรเพื่อนำไปสู่การศึกษาวิจัย ตลอดจนวางแผนและใช้ประโยชน์เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ร่วมมือกันในการดำเนินการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชในสภาพปลอดเชื้อ เพื่อเก็บรักษาพืชสมุนไพรในธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ รวมถึงการพัฒนาเครื่องหมายพันธุกรรม หรือ DNA barcode เพื่อใช้ร่วมกับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ในการจำแนกพันธุ์พืชที่มีความแม่นยำสูงเพื่อรองรับการนำพืชสมุนไพรไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน.