สสจ.จังหวัดเชียงใหม่ เฝ้าระวังโรคฉี่หนู และโรคที่มากับฤดูฝน พร้อมแนะนำวิธีรับมือภัยสุขภาพ

สสจ.จังหวัดเชียงใหม่ เฝ้าระวังโรคฉี่หนู และโรคที่มากับฤดูฝน พร้อมแนะนำวิธีรับมือภัยสุขภาพ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เตือนประชาชนให้ระมัดระวังโรคฉี่หนูและโรคอื่น ๆ ที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง หรือบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสเชื้อโรคจากสัตว์พาหะ

นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วงนี้ หลายพื้นที่เริ่มฟื้นฟูจากสภาวะอุทกภัย และดินโคลนถล่ม อาจทำให้มีการแพร่ระบาดของ “โรคฉี่หนู” หรือ “โรคเลปโตส
ไปโรสิส” เนื่องจากเชื้อโรคจะปนเปื้อนมากับน้ำ หากเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่า อาจทำให้เชื้อไข้ฉี่หนูเข้าสู่ร่างกาย สสจ.เชียงใหม่ เตือนประชาชนอย่าลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท
หากไม่มีให้สวมถุงพลาสติกสะอาดทุกครั้ง เมื่อลุยน้ำเสร็จต้องทำความสะอาดรีบล้างมือล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำโดยเร็ว
สถานการณ์โรคฉี่หนูในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 11 กันยายน 2567 พบผู้ป่วยจำนวน 66 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 4.12 ต่อแสนประชากร ผู้เสียชีวิต 3 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 5.55
พบผู้ป่วยอายุน้อยสุด 2 ปี อายุมากสุด 85 ปี กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่ม วัยทำงานอายุ 35-54 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป และอายุ 55-64 ปี ตามลำดับ อำเภอที่พบอัตราผู้ป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด ได้แก่ อำเภอสะเมิง อำเภอแม่แตง อำเภอพร้าว อำเภอดอยหล่อ และอำเภอจอมทอง สำหรับ 2 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดน้ำท่วม ได้แก่ อำเภอแม่อาย พบผู้ป่วย จำนวน 3 ราย และอำเภอฝาง จำนวน 5 ราย
โดยผู้ป่วยรายล่าสุดทั้ง 2 อำเภอ พบในเดือนกันยายน 2567 จึงเน้นย้ำให้ทั้ง 2 อำเภอ ดำเนินการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงให้ครอบคลุม
นายแพทย์จตุชัย แนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู ให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง ขณะลุยน้ำท่วมขัง ย่ำดินชื้นแฉะ หรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือลงแช่น้ำ ให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัวหรือปวดกล้ามเนื้อ หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือลงแช่น้ำ 1-2 สัปดาห์ อย่าซื้อยา มารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดและแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ จะช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ หากเข้ารับการรักษาภายใน 1-2 วัน หลังเริ่มป่วย
นอกจากนี้ ฤดูฝนยังเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคอื่น ๆ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคตาแดง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร โรคน้ำกัดเท้า ประชาชนควรป้องกันตนเองโดยการหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ สวมชุดป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนัง ใส่รองเท้าบูทกันน้ำ ล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่มีสิ่งปนเปื้อน ทายากันยุงป้องกันไม่ให้ยุงหรือสัตว์อื่นๆ กัด ดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ รักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม กำจัดขยะและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการป้องกันตัวเองจากดินถล่ม ภัยจากไฟดูด ไฟช็อต ป้องกันโดย ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า/ตัดไฟฟ้าในบ้านก่อนที่น้ำจะท่วมถึง ไม่สัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียก สำหรับวิธีการป้องกันการจมน้ำ ควรอพยพไปยังพื้นที่สูง ไม่ควรขับรถผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วม ระดับน้ำเพียง 6 นิ้ว สามารถทำให้รถเสียหลักล้มได้ สำหรับดินถล่มแนะ 1.อพยพทันทีไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยให้พ้นจากการไหลของดิน อย่างน้อย 2-5 กิโลเมตร 2.หลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำเชี่ยว
3.ควรอยู่ห่างลำน้ำ ป้องกันดิน หิน ต้นไม้ ที่อาจไหลตามน้ำมา 4.เมื่อพลัดตกน้ำ ให้หาจุดยึดเกาะและปีนให้พ้นน้ำ ทั้งนี้ในช่วงฤดูฝนนี้ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตลอดเวลา หากมีข้อสงสัยหรือพบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

You may also like

SUN รุกตลาดต่างประเทศ มุ่ง Go West ร่วมงาน Americas Food & Beverage Show & Conference 2024

จำนวนผู้