สสจ.เชียงใหม่เตือนระวังบริโภคเห็ดป่าหน้าฝน คนแม่แจ่มสังเวยไป 1 พิษเห็ดทำลายตับไตจนเสียชีวิต

สสจ.เชียงใหม่เตือนระวังบริโภคเห็ดป่าหน้าฝน คนแม่แจ่มสังเวยไป 1 พิษเห็ดทำลายตับไตจนเสียชีวิต

สังเวยแล้ว 1 ราย คนแม่แจ่มนำเห็ดกระโดงตีนตันมาทำอาหาร ไม่ฟังเสียงเตือนเพื่อนบ้าน ทานไป 5 ดอกส่งโรงพยาบาลไม่ทันการพิษทำลายตับ ไต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ออกโรงเตือนกินเห็ดป่าระวังเสี่ยงอันตราย

ดร.ทรงยศ  คำชัย   นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ  กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนทุกปีจะมีเห็ดป่าออกมาวางขายในท้องตลาดและริมถนนข้างทางหลวงอย่างแพร่หลาย จากสถิติสถานการณ์โรค ข้อมูลงานระบาดวิทยา กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2562     พบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษแล้ว 1 ราย เป็นชาวบ้านในเขตอำเภอแม่แจ่ม บริโภคเห็ดกระโดงตีนตัน ซึ่งมีพิษร้ายแรงทำลายตับและไต

“เบื้องต้นทราบว่าชาวบ้านรายนี้ได้นำเห็ดกระโดงตีนดันมาทำอาหาร ซึ่งเพื่อนบ้านก็ตักเตือนแล้วว่าเป็นเห็ดพิษ แต่ก็ไม่เชื่อ โดยทานอาหารประมาณ 4 ทุ่มไปประมาณ 5 ดอก ญาติได้นำตัวส่งโรงพยาบาลแต่ก็ไม่ทันเพราะเห็ดชนิดนี้มีพิษและทำให้ไตวาย  สำหรับข้อมูลสถิติในปี 2561 ที่ผ่านมา พบมีผู้ป่วย ที่รับประทานเห็ดพิษและเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวนจำนวน 26 ราย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต”นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ  กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวและว่า

สำหรับประชาชนที่ชอบหรือนิยมบริโภคเห็ด ขอให้เลือกเฉพาะเห็ดที่ตนเองรู้จักและเคยรับประทานเท่านั้น    หากไม่มั่นใจว่าเห็ดที่พบเห็นสามารถรับประทานได้   ไม่มีใครเคยนำมากิน หรือมีรายงานประวัติความเป็นพิษของเห็ดดังกล่าว ก็ไม่ควรรับประทาน   และให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของเห็ดให้แน่ชัด เพราะเห็ดบางชนิดก็มีพิษร้ายแรง สามารถทําลายเซลล์ของตับ ไต ระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด ระบบหายใจ ระบบสมอง และทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ความตายได้ อาการที่แสดงหลังจากได้รับสารพิษคือ  คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว  ท้องร่วง ความรุนแรงขึ้นกับเพศ อายุ และปริมาณในการรับประทาน

อย่างไรก็ตาม เห็ดเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็นมีสรรพคุณ     แก้ไข้  แก้ช้ำใน บำรุงร่างกาย  และช่วยให้เจริญอาหาร คุณสมบัติเด่นของเห็ด คือ มีไฟเบอร์สูงและแคลอรี่ต่ำ มีปริมาณโปรตีนสูงถึง   5-34 %   มีไขมันต่ำเพียง 1-8 % ของน้ำหนักแห้ง 100 กรัม มีแร่ธาตุ และวิตามินสูง ตัวอย่างเห็ดป่าที่กินได้และรู้จักกันดีในประเทศไทย เช่น เห็ดระโงกขาว เห็ดโคนเห็ดขอน และเห็ดเผาะ เป็นต้น

ดร.ทรงยศ กล่าวด้วยว่า สำหรับวิธีการสังเกตเห็ดพิษด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบต่อกันมา ให้สังเกตว่าหากเห็ดชนิดนั้นขึ้นอยู่ใกล้มูลสัตว์ มีสีน้ำตาลหรือสีสันฉูดฉาด หมวกเห็ดมีปุ่มปม มีวงแหวนใต้หมวก หรือเมื่อดอกแก่ มีกลิ่นเอียนหรือกลิ่นค่อนข้างแรง ก็ให้พึงระวังว่าจะเป็นเห็ดพิษ สารพิษในเห็ดโดยส่วนใหญ่จะสลายตัวด้วยความร้อน ดังนั้นจึงควรปรุงให้สุก ไม่ควรกินเห็ดดิบโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ เมื่อได้รับสารพิษจากเห็ด การปฐมพยาบาลเบื้องต้น นอกจากล้วงคอเพื่ออาเจียนแล้ว การดื่มน้ำคั้นจากใบรางจืดก็สามารถล้างพิษเห็ดได้เบื้องต้น  และรีบไปพบแพทย์ในทันที ข้อห้ามที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หลังจากบริโภคเห็ดป่าโดยเด็ดขาด เพราะมีผลต่อระบบประสาท อาจทำให้พิษกระจายรวดเร็วขึ้น ถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้.

 

 

You may also like

คณะแพทยศาสตร์ มช. แถลงข่าว 65 ปี ตอกย้ำบทบาทและความก้าวหน้า

จำนวนผู้