เชียงใหม่ / สสส.เร่งปักหมุดขยายพื้นที่อาหารปลอดภัย หนุนภาคีสร้างความเชื่อมโยงครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางการผลิตแบบอินทรีย์ ไปสู่ผู้ประกอบการร้านอาหาร-ผู้บริโภค หวังให้เกิดความมั่นคงทางอาหารทุกพื้นที่นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส. เปิดเผยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สสส. ได้รณรงค์เรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นทาง คือกระบวนการผลิต มาสู่กลางทาง กระบวนการจัดการตลาด การกระจายสินค้า แล้วก็ปลายทาง การเข้าถึงผู้บริโภค ดังนั้นจึงสนับสนุนโครงการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างต้นแบบนิเวศเกษตรและชุมชนแห่งการเรียนรู้ระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล ของ ศ.ดร. พวงรัตน์ แก้วล้อม เพราะสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างครบวงจร มีภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทำกระบวนการตั้งแต่การผลิตแบบอินทรีย์ แล้วเชื่อมโยงเข้ากับการกระจายการผลิต ไปสู่ผู้ประกอบการที่เป็นภาคธุรกิจ และเชฟ (Chef) เนื่องจากเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว เมื่อมีเรื่องของอาหารสุขภาพ ก็เป็นจุดขายอีกด้านหนึ่งด้วย
“ทาง ดร.พวงรัตน์ มองเห็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาว่าสนใจบริโภคอาหารล้านนา อาหารพื้นถิ่น จึงเชื่อมประสานต้นทาง จากกระบวนการผลิตที่เป็นเกษตรปลอดภัย ผู้ประกอบการร้านอาหารปลอดภัย ไปถึงกลุ่มเป้าหมาย (Target) เช่น กลุ่มผู้ประกอบการริมปิง หรือขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับนักท่องเที่ยว และคนไทย ให้รู้แหล่งอาหารปลอดภัย ผู้ผลิตก็จะมีที่ขายและเข้าถึงผู้บริโภคได้ ส่วนผู้บริโภคก็ได้อาหารปลอดภัย อาทิ เรื่องของลำไย ที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของเกษตรกรเชียงใหม่ กลุ่มเชฟจากโรงแรม หรือร้านอาหารต่างๆ ก็จะยกระดับคุณภาพเป็นอาหารปลอดภัย รังสรรค์เป็นอาหารฟิวชั่นหลากหลายเมนู เป็นทางเลือกเพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาช่วยส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของพื้นที่ สุดท้ายก็จะยกระดับมูลค่า แทนที่จะขายได้กิโลกรัมละ 20-30 บาท ก็ได้ราคาสูงกว่านั้น เป็นประโยชน์ต่อระบบการผลิตอาหารทั้งห่วงโซ่” นางประภาศรี กล่าวฉะนั้นความมั่นคงทางด้านอาหาร ก็คือทุกคนมีโอกาสเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพได้โดยทั่วไป ซึ่งการผลิตแบบอินทรีย์ยังสามารถขยายพื้นที่ได้อีกมาก และที่ สสส.รณรงค์ คือพยายามจะทำในพื้นที่ต่างๆ ที่มีภาคีเครือข่ายรับทุน สสส. และเน้นในเรื่องของอาหารอินทรีย์ เกษตรอินทรีย์ เมื่อมีต้นทาง สสส.ก็จะเข้าไปช่วยสนับสนุน โดยใช้รูปแบบของการเชื่อมประสาน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ให้ความสำคัญตลอดห่วงโซ่การผลิต แนวคิดนี้ถูกขยายไปในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น ที่ จ.สุรินทร์ ในภาคอีสาน โรงแรมในเขตภาคกลาง กลุ่มเหล่านี้ล้วนเป็นภาคีที่ช่วยรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัย และ สสส.ก็พยายามเชื่อมร้อยกับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผลิตออกมาแล้วมีที่ขาย ได้ราคาดี โดยพยายามขยายการปักหมุดไปทั่วทุกภูมิภาค ขณะเดียวกันนอกจากจะเป็นศูนย์การเรียนรู้แล้วเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้ว ก็จะให้แนวความคิดเรื่องการให้ความรู้ทางด้านวิชาการด้วย เขาจะได้นำไปเป็นแนวทางทำงาน และเกิดความมั่นคงของอาหารในพื้นที่อย่างแท้จริง.