ภัยพิบัติ และภาวะฉุกเฉิน ที่หลายเหตุการณ์เคยเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย หากวันนี้หลายเหตุการณ์กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วม ดินถล่ม ฝุ่นควัน (PM 2.5) หรือโรคติดต่ออย่างโควิด-19 การเตรียมรับมือและแก้ไขสถานการณ์อย่างมีข้อมูล และรู้เท่าทัน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตโดยเกิดความเสียหายน้อยที่สุด ดร.อรุณณี ใจเที่ยง จากศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า จากการทำวิจัยชุมชน RECAP ที่ศึกษาเพื่อเรียนรู้ศักยภาพในชุมชน ว่ามีคนดี คนเก่ง คนสำคัญ หน่วยงาน เครือข่ายใดบ้าง ที่มีความเชี่ยวชาญ และสามารถจัดบริการ จัดกิจกรรมพัฒนา นวัตกรรม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นการรับมือภัยพิบัติ และรับมือภาวะฉุกเฉินได้นั้น ผลจากการสรุปข้อมูลของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมดราว 586,000 ครัวเรือน ประชากรรวมประมาณ 1,600,000 คน พบว่าในจำนวนนี้มีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจำนวน 177,000 ครัวเรือน หรือร้อยละ 31.18
โดยแบ่งผลกระทบตามประเภทภัยพิบัติ ได้ 7 ประเภท คือ ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ร้อยละ 61.32 น้ำท่วมร้อยละ 41.5 7 พายุร้อยละ 26.06 อัคคีภัยร้อยละ 8 นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ดินถล่ม และน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเล เมื่อพิจารณาตามรายภาค ก็พบว่าภาคอีสาน ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งบ่อยที่สุด ถึงร้อยละ 78 ส่วนภาคใต้เป็นกรณีภัยพิบัติน้ำท่วม ร้อยละ 84 ขณะที่ภาคเหนือเจอวาตภัย ร้อยละ 30ขณะเดียวกัน มีครัวเรือนร้อยละ 29.7 ที่เตรียมรับมือจัดการภัยพิบัติ โดยวิธีการจัดการ คือการเตรียมอุปกรณ์และของใช้เมื่อจำเป็นยามเกิดภัยพิบัติ ร้อยละ 55 รองลงมาคือการซ่อมแซมบ้านและปรับปรุงบ้านเรือน หลังเกิดภัยพิบัติ ร้อยละ 37 ซึ่งข้อมูลสะท้อนว่าในเครือข่าย มีพื้นที่ ที่สร้างระบบการจัดการภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง มีการใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนา นำใช้ศักยภาพของบุคคลในพื้นที่ โดยเฉพาะอาสาสมัครช่วยเหลือ ซึ่งมีกว่า 19,000 ครัวเรือน มีการนำใช้ประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้นำชุมชน ที่มีการสั่งสมความเชี่ยวชาญ ทำให้คนในชุมชนมีความมั่นคงในชีวิต สามารถผ่านพ้นวิกฤต รับมือภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินได้
อย่างไรก็ตามในการทำงานมีการขับเคลื่อนสานพลังระหว่าง 4 องค์กรหลัก ได้แก่ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานรัฐ และภาคประชาชน ดังนั้นจึงมีนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหาร พนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการพัฒนาตำบล และหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยบริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาล สถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และภาคประชาชน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงาน โดยมีคนจิตอาสา กลุ่มทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาสาสมัครกู้ภัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อปพร. ผู้นำศาสนา เยาวชน ปราชญ์ชาวบ้าน และกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานร่วมกัน และปรับตัวเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ทั้งที่เป็นสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ที่เป็นภาวะวิกฤต“กรณีการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ covid-19 ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของภัยพิบัติ ซึ่งจากข้อสรุปของเวทีรายภาค ทำให้เห็นว่าผู้นำมีส่วนสำคัญมากในการรับมือกับภัยพิบัติ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาระบบข้อมูลและนำใช้ข้อมูลในการค้นหากลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการทำกฎ กติกา หาข้อตกลงร่วม และสร้างความร่วมมือของ 4 องค์กรหลัก ทำให้เกิดปฏิบัติการครอบคลุมทุกพื้นที่” ดร.อรุณณี อธิบาย
ด้าน พ.จ.ท.อนุสร คำวัง นักจัดการงานทั่วไป อบต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน เล่าถึงการรับมือกับอุทกภัยในเขตพื้นที่ ว่าเนื่องจาก จ.น่าน มีแม่น้ำน่าน เป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา และมีความยาวถึง 750 กม. โดยมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหลวงพระบาง สปป.ลาว ไหลผ่านอำเภอทางตอนเหนือของ จ.น่าน ได้แก่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งช้าง อ.เชียงกลาง อ.ปัว อ.ท่าวังผา ก่อนไหลเข้าสู่ตัวเมืองน่าน พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นที่รองรับน้ำโดยปริยายที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ถึง 2 ครั้ง คือในปี 2549 และ 2554 ทำให้คนน่านตื่นตระหนก เพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน จุดกระแสให้ตื่นตัว โดยเฉพาะคนในพื้นที่ ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา ที่มีทั้งหมด 7 ชุมชุน แต่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 4 ชุมชน ซึ่งทั้ง 4 ชุมชนนี้ แม้ไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็เจอน้ำท่วมทุกปี เพียงแต่ไม่เสียหายมาก เพราะเข้ามาในพื้นที่การเกษตร และพื้นที่บ้านเรือนไม่สูงนัก แตกต่างจาก 2 ปีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ น้ำท่วมมิดหลังคารถ เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ในการเตรียมการที่ดีที่สุด และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่จะมาถึง จึงได้จัดการความเสี่ยงโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน จากเวทีผู้นำชุมชนที่ อบต.ป่าคา จัดขึ้น มีการนำประเด็นต่างๆ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาจากความไม่พร้อมของ อบต.ป่าคา ทั้งเรื่องบุคลากรที่จะออกไปช่วยเหลือ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มีแค่เรือเล็ก 2 ลำ พอสายน้ำไหลเชี่ยวมาก ก็นำเรือฝ่ากระแสน้ำข้ามแม่น้ำน่านไปไม่ได้เมื่อประเมินสถานการณ์ได้ ก็นำไปสู่เวทีชุมชน เชิญผู้นำชุมชน แกนนำคณะกรรมการชุมชน ทั้ง อปพร. อสม. หัวหน้าหมวด มานั่งคุยกัน ร่วมวิเคราะห์ วางแผนปัญหาที่เกิดขึ้น สืบค้นหาข้อมูลกลุ่มเปราะบางอยู่จุดไหนบ้าง ใครเป็นผู้ดูแล ในกรณีไม่มีผู้ดูแล ลูกหลานไปทำงานต่างจังหวัด ใครจะช่วยอพยพ มีการกำหนดแผนของชุมชน กำหนดสถานที่ปลอดภัย เส้นทางปลอดภัย รวมถึงมาตรการต่างๆ หลายด้าน เช่น การแจ้งข่าวสื่อสารให้คนในชุมชนทราบผ่านหอกระจายข่าว แอปพลิเคชั่น สร้างการตื่นตัว ทำให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจพร้อมกัน
ดังนั้นเมื่อมีการแจ้งเหตุภัยพิบัติ จาก อบต.ป่าคา หรือสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย คนที่ได้รับการแต่งตั้ง มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลครอบครัวไหน ก็จะลำเลียงคนที่อยู่ในความดูแล และคนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ไปตามเส้นทางอพยพที่ปลอดภัย โดยใช้อุปกรณ์ เทคโนโลยีเข้าช่วย ทำให้ไปสู่สถานที่ปลอดภัยได้อย่างทันสถานการณ์สำหรับครอบครัวหรือกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง ก็มีความรู้ เข้าใจทักษะที่จะดำรงชีพอยู่ได้ ก่อนที่ทางราชการจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจากการกำหนดแผนชุมชน และซักซ้อมเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน ก็ส่งผลให้แผนป้องกันภัยพิบัติของ อบต.ป่าคา เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น ชาวบ้านมีส่วนร่วม กอร์ปกับการสานพลังกับองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานจากสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ท้องถิ่น ภาคีที่ให้ความช่วยเหลือ ภาคเอกชนต่างๆ ก็จะลดความรุนแรงและความสูญเสียจากภัยพิบัติลงได้
นับเป็นตัวอย่างของความร่วมมือร่วมใจในการจัดการกับปัญหา และช่วยเหลือตัวเองเป็นอันดับแรก โดยมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง รู้จักใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ มีการประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ทำให้ภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น บรรเทาความรุนแรง พร้อมทั้งได้รับการช่วยเหลือ เยียวยาอย่างทันท่วงที.