เชียงใหม่ / เมื่อนักศึกษากลายเป็นฝุ่น ชุมนุมนักกิจกรรม ได้ฤกษ์จับมือขบวนการเยาวชนประชาธิปไตยนักกิจกรรมภาคเหนือ จิบกาแฟ ถก “สิทธิและเสียงของนักศึกษาต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากวิ่งไล่ลุง สู่ไวรัสโคโรน่า ถึง Sport-day Spirit Night กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่”เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 ก.พ.63 ที่ห้องศึกษาสัมพันธ์ ตึก 2 ชั้น 2 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางชุมนุมนักกิจกรรม ได้ร่วมกับขบวนการเยาวชนประชาธิปไตยนักกิจกรรมภาคเหนือ ได้จัดเสวนาจิบชาจิบกาแฟ นั่งพูดคุยถึงสิทธิและเสียงของนักศึกษาต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากวิ่งไล่ลุง สู่ไวรัสโคโรน่า ถึง Sport-day Spirit Night กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยให้นิยามว่า “คำว่านักศึกษามันกลายเป็นฝุ่นไปแล้ว”
ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงความหมายของนักศึกษากลายเป็นฝุ่นว่า เดิมในช่วงปี 2510-2516 คำว่านักศึกษา ถูกนิยามว่าเป็นปัญญาชน นั่นคือผู้นำทางปัญญาของสังคม กล้าคิด กล้าทำ แต่หลังจากนั้นความหมายของนักศึกษาก็ลดลงเรื่อยๆ จนกลายเป็น “เด็ก” ซึ่งเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้นักศึกษากลายเป็นเด็ก เพราะโครงสร้างสังคมไทยกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว เริ่มคิดว่าการศึกษาคืออนาคตของลูกหลาน จึงส่งเสริมการศึกษา และผลักให้ลูกเรียนอย่างเดียว ไม่ผูกกับเรื่องอื่น หรือเชื่อมโยงเด็กกับชุมชน และตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กระแสนี้ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จนคลุมไปทั่วสังคม ชีวิตเด็กรุ่นใหม่มีด้านเดียวคือเรียนระบบการศึกษาไทยไม่ได้จัด “การเรียนรู้” กับ “ความรู้” ไว้ด้วยกัน หากฝังชุดความคิดหนึ่งให้กับเด็กตามที่รัฐไทยต้องการ ทำให้เด็กคิดไม่ได้ และการศึกษาก็วนอยู่แค่นั้น ฉะนั้นในนิยามที่เรียกว่า “เด็ก” จึงตัวเล็ก ทำอะไรไม่ได้ ไม่รู้อะไร ต้องพึ่งพิงคนอื่น และทำตามอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองเป็นที่ตั้ง กระนั้นสิ่งที่รัฐกลัวก็คือ “หน่ออ่อน” ที่ไม่ได้มีมากนัก แต่โผล่ขึ้นมาให้เห็นเป็นกลุ่มเล็กๆ เช่น ดาวดิน โรม จ่านิว ฯ เป็นต้น กรณีของการวิ่งไล่ลุง จึงต้องคุมหน่ออ่อนไม่ให้โผล่ขึ้นมาเชื่อมโยงกับนักศึกษา หรือคนในสังคมได้ เพราะรัฐเชื่อว่ามีนักวิชาการส่วนหนึ่งเป็น Back up ให้ และยังโยงไปถึงพรรคอนาคตใหม่ด้วย ทั้งที่ส่วนใหญ่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรค
ดังนั้น เมื่อปัจจุบันนักศึกษาถูกนิยามว่าเป็น “ฝุ่น” ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ฝุ่นกลายเป็นก้อนดินอิสระที่มีพลัง และสามารถรวมตัวกันเป็นพายุฝุ่น หรือไต้ฝุ่นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐกลัว และสกัดไม่ให้เกิดขึ้น แต่ถ้านักศึกษามีการปรับตัวด้านการเรียนรู้ อ่านหนังสืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 เล่ม แล้วนำมาพูดคุยถกเถียงกัน เมื่อครบ 1 ปี ก็จะมีความรู้เท่ากับครึ่งหนึ่งของอาจารย์มหาวิทยาลัย และยกระดับศักยภาพของตนเองได้เป็นอย่างดีขณะที่สถานการณ์ไวรัสโคโรน่า ยังเพิกเฉยไม่ได้ แม้ WHO จะบอกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อลดลงแล้วก็ตาม ยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะส่งผลกระทบในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่แค่สุขภาพ หากยังรวมถึงเศรษฐกิจ สังคมด้วย
ด้านนายสมคิด จิตดำริห์ ประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันนักศึกษาถูกทำให้กลายเป็นฝุ่น และมีโคลนหลายก้อนคอยควบคุมไม่ให้กลายเป็นพายุฝุ่นได้ เริ่มจากเข้ามาเป็นนักศึกษาใหม่ก็จะมีระบบรับน้อง Sotus ที่เดิมน้องอาจจะสมยอมไปกับพี่ แต่ขณะนี้นักศึกษารุ่นใหม่มีแนวคิดเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จึงกลายเป็นเรื่องที่ต่อสู้ และวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่สำหรับกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ตนและเพื่อนนักศึกษา ได้ร่วมกันยื่นหนังสือขออนุญาตใช้สถานที่ต่อทางผู้บริหาร และมีเจ้าหน้าที่มารับ พร้อมทั้งบอกถึงข้อกังวลว่าเป็นกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งสถานศึกษาไม่มีนโยบายเลือกข้างทางการเมือง ต่อมา 1 สัปดาห์ ทางมหาวิทยาลัยก็มีประกาศว่ามหาวิทยาลัยต้องดำรงความเป็นกลาง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นได้ให้ กปปส.จัดกิจกรรมทางการเมืองได้ ซ้ำยังมีผู้บริหารเข้าร่วมด้วย จึงคิดว่ามหาวิทยาลัยควรมีอิสระในการตัดสินใจให้ทุกกลุ่มได้ใช้สถานที่จัดกิจกรรม เพราะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มาจากเงินภาษีของประชาชน และบทเรียนของเรื่องนี้ก็ทำให้รู้ว่าไม่ใช่แค่การเกิดหน่ออ่อน และการตื่นตัวมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษาเท่านั้น รัฐเองก็เรียนรู้วิธีควบคุมฝุ่น และหน่ออ่อนด้วย
เกี่ยวกับไวรัสโคโรน่า มหาวิทยาลัยยังขาดนโยบายดูแลนักศึกษา ขณะเดียวกันก็ห่วงใยรายได้ ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูป หรือทำกิจกรรมในพื้นที่ ทำให้นักศึกษาที่เสียค่าเทอมเข้ามาเรียน รู้สึกขาดความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพ นอกจากนี้ด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM.2.5 ก็พบว่าในปีที่ผ่านมา นักศึกษาตื่นตัวกันมาก เรียกร้องผู้บริหารแจกหน้ากาก และบนบานขอศาลช้างช่วยคุ้มครอง ออกมาเรียกร้องหน้ามหาวิทยาลัยให้ทุกฝ่ายเร่งแก้ไขส่วนกิจกรรม Spor- Day Spirit Night ถือเป็นตัวแทนหนึ่งของอำนาจนิยมในสถานศึกษา เพราะมีการตั้งคำถามกันตลอดมาถึงความคุ้มค่า คุ้มทุน ยิ่งปีนี้จัดหลังงานรับปริญญา มีภาวะฝุ่นควันเกินมาตรฐาน และมีการระบาดของไวรัสโคโรน่า ทำให้หลายคณะตัดสินใจไม่เข้าร่วมตั้งแต่ต้น และมีจำนวนมากกว่าคณะที่ยืนยันจะจัด มติที่ประชุมสภานักศึกษาจึงไม่จัดในส่วนกลาง แต่คณะใดจะจัดก็สามารถหาสถานที่จัดของตนเองได้ หากผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือความเจ็บปวด เพราะบางคณะเตรียมงานมานานหลายเดือน เมื่อส่วนกลางประกาศยกเลิกก่อนจัดกิจกรรมเพียงวันเดียว จึงทำใจยอมรับไม่ได้ หากนั่นต้องยอมรับว่ามีการพูดคุยกันมาหลายครั้งแล้ว และมติส่วนใหญ่ไม่จัดมาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพ เพียงแต่การประกาศกระชั้นชิดเกินไป.