หัวหน้าคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนแถลงผลสำเร็จของการประชุมครั้งที่ 21 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

หัวหน้าคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนแถลงผลสำเร็จของการประชุมครั้งที่ 21 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

- in headline, อาเซียน +3

รมว.วัฒนธรรมแถลงผลสำเร็จของไทยในการผลักดันแผนงานหลักประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เผยเดือนก.ค.นี้นำศิลปินในอาเซียนออกสู่สายตาประชาคมโลกเพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสานเปนอัตลักษณ์ พร้อมจัดตั้ง 4 ศูนย์อาเซียนในประเทศไทย แจงเตรียมเอกสารผลลัพท์สำคัญ 9 ฉบับเข้าสู่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนมิ.ย.นี้

วันนี้ (17 พ.ค. 62 ) เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมแชงกรีลา นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ในฐานะหัวหน้าคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เป็นประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 21 (21st ASCC Council)  ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของ ประเทศไทย และเป็นลำดับสุดท้าย ของการประชุมอาเซียนที่จัดต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 13 – 18 พฤษภาคม 2562 จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ในฐานะประธานคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Chair of SOCA)และนางสาวอุษณี กังวารจิตต์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) รวมทั้ง คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คณะผู้แทน และผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน จำนวนกว่า 60 คน เข้าร่วมประชุมด้วย

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ในฐานะหัวหน้าคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน กล่าวภายหลังการประชุมว่า การจัดประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมที่สำคัญของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยในปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพิจารณาและให้การเห็นชอบต่อแผนงานและเอกสารผลลัพธ์สำคัญภายใต้ ASCC ก่อนจะมีการนำเสนอต่อการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34  ซึ่งประกอบด้วยการประชุมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน จำนวน 4 รายการ ดังนี้ 1)การประชุมคณะทำงานเรื่องวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน ครั้งที่ 2  2)การประชุมประสานงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 14  3)การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 และ 4) การประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคม  และวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 21 รวมทั้งการศึกษาดูงานทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

การประชุมในครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยสามารถสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้ 1. ด้านการจัดการประชุม มีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย คณะผู้แทนระดับรัฐมนตรี คณะผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คณะผู้ติดตามจากประเทศสมาชิกอาเซียน                     คณะผู้แทนจากหน่วยงานในระดับภูมิภาคและผู้แทนองค์การสหประชาชาติ ผู้แทนหน่วยงานของประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง บุคลากรของกระทรวง พม. และผู้มีเกียรติฝ่ายไทย จำนวนทั้งสิ้น กว่า 500 คน

  1. ด้านผลลัพธ์การประชุม ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการผลักดันแผนงานหลักประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 (ASCC Priority Areas 2019) และมีกรอบการดำเนินงาน “3/4/14” ดังนี้ “3 แนวทางหลัก” ได้แก่ ความเชื่อมโยงภาคประชาชน (People – to – People Connectivity) และหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnerships) ความยั่งยืน (Sustainability) การเตรียมความพร้อมและวางแผนด้านความมั่นคงของมนุษย์สำหรับอนาคต (Future – Oriented Actions for Human Security) โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม คือ ข้อริเริ่ม “ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2562” ภายใต้แนวคิด “หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน”  เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสานจนเป็นอัตลักษณ์ของอาเซียน และนำไปสู่สายตาผู้คนทั่วโลก ด้วยการผนึกกําลังของประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมเผยแพร่วัฒนธรรมในเวทีนานาชาติ   ร่วมส่งเสริมให้เห็นถึงความเข้มแข็ง และสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง โดยจะนำวัฒนธรรมอาเซียนสู่โลกเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีการคัดเลือกศิลปินไปแสดงในแถบประเทศยุโรปและ จีน เกาหลีรวมทั้งญี่ปุ่นด้วย

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง “4 ศูนย์อาเซียน” ที่จะมีการจัดตั้งหรือปรับปรุงพัฒนา ได้แก่ คลังสิ่งของช่วยเหลือและระบบโลจิสติกส์เพื่อช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียนในประเทศไทย    ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน และศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม และ “14 เอกสารผลลัพธ์สำคัญ” ประกอบด้วย 1. เอกสารผลลัพธ์สำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 (ASEAN Summit) จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ 1.1 เอกสารเพื่อการรับรอง (For Adoption) จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย    (1) ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน (Bangkok Declaration on Combating Marine Debris in ASEAN Region) และ (2) แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2562 (ASEAN Leaders’ Statement on the ASEAN Cultural Year 2019) 1.2 เอกสารเพื่อทราบ (For Notation) จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย (1) กรอบปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล (ASEAN Framework of Action on Marine Debris)  (2) ถ้อยแถลงรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องอนาคตของงาน : การส่งเสริมเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วม (ASEAN Labour Minister’s Statement on the Future of Work: Embracing Technology for Inclusive and Sustainable Growth) และ (3) ถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยข้อริเริ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อ                   การประชุมใหญ่แรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 108 (ASEAN Labour Ministers’ Joint Statement on Green Initiative to the 108th  International Labour Conference)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ในส่วนของเอกสารผลลัพธ์สำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 จำนวน 9 ฉบับ ได้แก่ 2.1 เอกสารเพื่อการรับรอง (For Adoption) จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย (1) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to the 25th COP to the UNFCCC)  (2) ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ทุกรูปแบบในอาเซียน (Declaration on the Protection of Children against All forms of Online Child Exploitation and Abuse in ASEAN)

(3) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กโยกย้ายถิ่นฐาน (ASEAN Declaration on the Rights of Children on                      the Move)  (4) ปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยังยืน (Bangkok Declaration to Advance Partnership on Education for Sustainability)  และ (5) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยืนยันคำมั่นในความก้าวหน้าการดำเนินงานสิทธิเด็กในอาเซียน (Joint Statement on Reaffirmation of Commitment to Advancing the Rights of the Child in ASEAN) และ

นอกจากนี้ยังมีเอกสารเพื่อทราบ (For Notation) จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย (1) แนวทางและกระบวนการในการตอบสนองต่อความต้องการของ                             เหยื่อการค้ามนุษย์ตามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (Regional Guidelines and Procedures to Address the Needs of Victims of Trafficking in Person, Especially Women and Children)  (2) เอกสารแสดงเจตนารมณ์ว่าด้วยการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการเร่งยกระดับภาคราชการพลเรือนในยุคดิจิทัล (ASEAN Statement on Promotion of Good Governance and Acceleration of an Agile Civil Service in a Digital Economy)  (3) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อที่ประชุมสุดยอดของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Joint Statement on Climate Change for UN 2019 Climate Summit)  และ (4) แผนปฏิบัติการภูมิภาคว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่ เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น (Regional Action Plan on Strengthening Education for the Out-of-School Children and Youth)

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองร่างแบบสอบถามและขอบเขตอำนาจหน้าที่ (TOR) ของคณะผู้แทนประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในการเยือนติมอร์-เลสเต เพื่อศึกษาสำรวจความพร้อมเกี่ยวกับการเข้าเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนของติมอร์เลสเตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ทั้งนี้ การประชุมต่างๆ ในการประชุมอาเซียน        ครั้งนี้ นอกเหนือจะเป็นการดำเนินการตามบทบาททางนิตินัยที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียนที่ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนต้องปฏิบัติตามแล้ว ยังเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งในการแสดงบทบาทนำทางพฤตินัยในเวทีอาเซียนของประเทศไทย และผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทนำและเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานสำคัญในด้านต่างๆ ของอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป

สำหรับประโยชน์ในภาพรวมในมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม  ประเทศไทยและประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จะได้รับประโยชน์โดยตรงทั้งด้านรายได้และการส่งเสริมการท่องเที่ยว จากการที่ผู้นำประเทศ คณะผู้แทน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวนมาก จากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ร่วมเดินทางเข้ามาประชุมยังประเทศไทย นอกจากการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียนผ่านการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ประเทศไทย ยังจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ ด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้านราชการพลเรือน ด้านการศึกษา ด้านแรงงาน และ ด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา อันเป็นผลจากการนำเอกสารผลลัพธ์สำคัญ ซึ่งผู้นำอาเซียนให้การรับรองและรับทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียนไปสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้การสนับสนุนผู้นำเยาวชนอาเซียนที่พบปะผู้นำในคราวที่ประเทศไทยจะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนมิถุนายน 2562 ที่ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นการเปิดโอกาสและเวทีให้ผู้นำเยาวชนได้มีปฏิสัมพันธ์ และเสนอข้อคิดเห็นต่อผู้นำของประเทศอาเซียนอีกด้วย.