อธิบดีกรมชลประทานเปิดป้ายโครงการประตูระบายน้ำแม่สอยเผยพื้นที่รับประโยชน์กว่า 47,359 ไร่ เก็บกักน้ำได้ถึง 9.35 ล้านลบ.เมตร

อธิบดีกรมชลประทานเปิดป้ายโครงการประตูระบายน้ำแม่สอยเผยพื้นที่รับประโยชน์กว่า 47,359 ไร่ เก็บกักน้ำได้ถึง 9.35 ล้านลบ.เมตร

อธิบดีกรมชลประทานเปิดป้ายโครงการประตูระบายน้ำแม่สอย อ.จอมทอง สนองพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เผยพื้นที่รับประโยชน์กว่า 47,359 ไร่ เก็บกักน้ำได้ถึง 9.35 ล้านลบ.เมตร  พร้อมวางป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด

วันนี้(17ส.ค.60) ที่บริเวณโครงการประตูระบายน้ำแม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่  นายสัญชัย   เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน   เป็นประธานเปิด “โครงการประตูระบายน้ำแม่สอย”  โดยมีนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 (เชียงใหม่) รวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และกลุ่มผู้ใช้น้ำเข้าร่วม ซึ่งได้จัดกิจกรรมถวายราชสดุดีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85  พรรษา 12 สิงหาคม 60

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการประตูระบายน้ำแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่  เป็นโครงการที่เกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกลของรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถที่ทรงห่วงใยประชาราษฎร์   โครงการดังกล่าวเชื่อมโยงอย่างลงตัวระหว่างสายน้ำของพ่อ(เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล) สู่โครงการชลประทานของแม่(ประตูระบายน้ำแม่สอย) ที่เป็นประโยชน์มหาศาลต่อเกษตรกรลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกลำไย

สำหรับโครงการประตูระบายน้ำแม่สอย    เกิดจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้ประทานพระราชปรารภเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 ให้กรมชลประทานพิจารณาจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือราษฎรที่ได้ทูลเกล้าถวายฎีกา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยสะแพท หมู่ที่ 9 ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่   ซึ่งโครงการประตูระบายน้ำแม่สอยมีศักยภาพในการรองรับน้ำต้นทุนที่ระบายและส่งมาจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการภายใต้พะราชดำริของรัชกาลที่ 9

สำหรับ พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ ครอบคลุมทั้งพื้นที่เพาะปลูกของโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่อยู่ด้านเหนือตำแหน่งประตูระบายน้ำแม่สอย จำนวน  31 สถานี พื้นที่ส่งน้ำรวม  33,496 ไร่ และพื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทางด้านท้ายน้ำของประตูระบายน้ำแม่สอย   ตั้งแต่ด้านท้ายประตูระบายน้ำแม่สอยไปจนถึงจุดบรรจบน้ำแม่แจ่ม จำนวน 13 สถานี รวมพื้นที่ส่งน้ำ 13,863 ไร่   รวมมีพื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ได้รับประโยชน์จากโครงการรวมทั้งสิ้น 44 สถานี คิดเป็นพื้นที่ส่งน้ำรวมทั้งสิ้น  47,359 ไร่  โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง 6 ปี (พ.ศ.2554 – 2559)

ประตูระบายน้ำแม่สอยได้เริ่มเก็บกักน้ำเมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 ทำให้ สามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฝนทิ้งช่วงให้กับเกษตรกรสวนลำไยซึ่งอยู่สองฝั่งแม่น้ำปิง ทั้งในส่วนของ  จ.ชียงใหม่และลำพูน ขณะเดียวกันยังทำให้ราษฎรในพื้นที่มีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และในอนาคตน้ำแม่ปิงจะมีน้ำไหลต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไปสะสมกับลำน้ำแม่แจ่ม ทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงระบบนิเวศทะเลสาบดอยเต่า อำเภอดอยเต่าเพื่อไม่ให้แห้งขอดได้อีกทางหนึ่งด้วย

อธิบดีกรมชลประทาน   กล่าวด้วยว่า   ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวมทั้งสิ้นกว่า 600 โครงการ ความจุเก็บกักน้ำประมาณ 750 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทานในเขตลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบนประมาณ 1,270,000 ไร่

ขณะนี้  มีการพัฒนาโครงการชลประทานขนาดใหญ่ดำเนินการแล้วเสร็จหลายโครงการ ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา โครงการชลประทานแม่แตง โครงการชลประทานขนาดกลาง ขนาดเล็ก และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ได้มีการสร้างฝายบนลำน้ำแม่ปิงเพื่อเก็บกักและยกระดับน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร เช่น ฝายเชียงดาว ฝายแม่ปิงเก่า ฝายหนองสลีก รวมทั้งฝายของราษฎรได้แก่ ฝายท่าศาลา ฝายหนองผึ้ง

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำแม่สอยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวมระยะเวลา 10 ปี.

You may also like

มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม” ภายใต้แนวคิด The Golden of Lanna

จำนวนผู้