อธิบดีกรมฝนหลวงฯน้อมนำศาสตร์พระราชา เปิดศูนย์ปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ โดยใช้น้ำแข็งแห้งโปรยในบริเวณเหนือชั้นบรรยากาศไม่ให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กลอยขึ้นบรรยากาศระดับบนได้ เผยเป็นอีกหนึ่งในผลงานวิจัย เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ
ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ และบริเวณลานจอดเครื่องบินเกษตร สนามบินกองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ และตรวจเยี่ยมติดตามผลการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า การเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ และเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างกักเก็บน้ำในเขตพื้นที่ภาคเหนือ
อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ของทุกปีพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย จะประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่ ทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นเป็นมลพิษ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้คิดค้นศึกษาวิจัยเทคนิคและรูปแบบการบินเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันขึ้น ภายใต้โครงการศึกษาการปฏิบัติการดัดแปลงสภาพอากาศ เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยใช้แนวคิดจากการใช้สารฝนหลวงตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ในขั้นตอนที่ 4 ซึ่งใช้สารฝนหลวงสูตรเย็นจัดหรือน้ำแข็งแห้ง โปรยในบริเวณเหนือชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดต่ำลงและส่งผลให้ฝุ่นละอองสามารถลอยขึ้นบรรยากาศระดับบนได้
สำหรับการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันจะใช้อากาศยานชนิด CASA จำนวน 2 ลำในการโปรยสารฝนหลวงสูตรเย็นหรือน้ำแข็งแห้ง และใช้เครื่องบินแบบปรับความดัน หรือ Super King Air สำหรับตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของค่าทางอุตุนิยมวิทยาและความเข้มแข้นของฝุ่นละอองจำนวน 1 ลำปฏิบัติการร่วมกัน โดยมีเป้าหมายในพื้นที่ของ 9 จังหวัดภาคเหนือประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ น่าน ตากและพะเยา โดยจะปฏิบัติการในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2560 นี้
นายสุรสีห์ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับอีกหนึ่งโครงการที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรดำเนินการเป็นเรื่องของการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเป็นภารกิจในยุทธศาสตร์ที่ 1 ของกรมฝนหลวง ฯในการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน คือ การเกิดพายุฤดูร้อนและลูกเห็บ จึงเตรียมความพร้อมในการบรรเทาความรุนแรงจากภัยดังกล่าว ด้วยเทคนิคการปฏิบัติการฝนหลวง เป็นวิธีการหนึ่งในการดัดแปลงสภาพอากาศภายใต้ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ โดยใช้เทคนิคการดัดแปลงสภาพอากาศที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานไว้ในตำราฝนหลวงพระราชทาน ซึ่งจะใช้เครื่องบินแบบปรับความดัน (Super King Air 350) และสารฝนหลวงซิลเวอร์ ไอโอไดด์ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแกนของผลึกน้ำแข็งในธรรมชาติ เพิ่มการผลิตน้ำแข็งให้มากกว่าการปฏิบัติการเมฆเย็นตามปกติ จะช่วยลดโอกาสการเกิดลูกเห็บได้ เนื่องจากการผลิตน้ำแข็งปริมาณมากที่เพิ่มเข้าไปในเมฆเย็นจะไปแย่งเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวด ทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กปริมาณมาก เมื่อเกิดฝนตกผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กเหล่านี้จะละลายก่อนที่จะตกถึงพื้นสามารถลดความเสียหายได้
“ในขณะนี้ค่าตรวจวัดคุณภาพอากาศปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ pm10 สูงสุดที่จ.ลำปาง 89 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งก็ยังไม่เกินค่ามาตรฐานแต่ถ้าหากช่วงไหนมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานมากก็จะได้ขึ้นปฏิบัติการทันทีและเป็นการทดลองด้วยว่างานวิจัยนี้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน และถ้าได้ผลถือว่าเป็นคุณูปการให้กับคนทั้งโลกด้วย”อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกล่าวและชี้แจงอีกว่า
อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ มีแผนปฏิบัติการ 2 ช่วงคือในเดือนมีนาคม จะใช้เครื่องบินแบบปรับความดัน (Super King Air 350)ของกรมฝนกหลวงปฏิบัติการในพื้นที่ภาคเหนือ และในเดือนเมษายนจะใช้เครื่องบินแบบโจมตีแบบที่ 7 หรืออัลฟ่าเจ็ท จากกองทัพอากาศซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงและมีความเร็วในการเข้าถึงเป้าหมายปฏิบัติการเพิ่มเติมในพ้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ในการดัดแปรสภาพอากาศและบูรณาการแจ้งเตือนภัยพิบัติได้อีกด้วย
อธิบดีกรมฝนหลวงฯกล่าวด้วยว่า ปีนี้จะแตกต่างจากปีก่อนๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็แจ้งให้ทราบแล้วว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงห่วงปัญหาภัยแล้งมากและมีกระแสรับสั่งให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างดี และทางรมว.เกษตรฯได้กำชับเรื่องการพิจารณาวางแผนและปรับแผนในการทำงาน ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือแต่เดิมจะดูแลเฉพาะพื้นที่ภาคเหนืออย่างเดียวแต่ตอนนี้ก็มีการขยายผลไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนด้วย ทั้งเลยและชัยภูมิซึ่งก็มีแนวโน้มในการเกิดพายุลูกเห็บมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีภารกิจในการเติมน้ำในเอนที่ยังมีปริมาณน้อยทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนแควน้อยและเขื่อนสิริกิติ์.