แม่ฮ่องสอน / อิมเปค จับมือ สสส.จัดเวทีทบทวน-สรุปบทเรียนชุดโครงการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนบนพื้นที่สูงบนฐานวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง ชี้เป็นกิจกรรมที่ได้ประโยชน์ทั้งคนทำ ชุมชน และชาติพันธุ์ เตรียมหนุนเสริมพร้อมขยายผลสู่พื้นที่อื่นเพิ่ม นายศักดิ์ดา แสนมี่ ผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) เปิดเผยว่า จากการที่ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6 ทำชุดโครงการ”เสริมสร้างสุขภาวะชุมชนบนพื้นที่สูงบนฐานวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง” สนับสนุนให้ชาวบ้านที่อยากแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง พัฒนาเป็นโครงการนำเสนอเข้ามา โดยในปี 2560/2561 ซึ่งถือเป็นปีแรกได้คัดเลือกไว้ประมาณ 30 โครงการ จาก 12 ชาติพันธุ์ ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และน่าน
ล่าสุด เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีทบทวนและสรุปบทเรียนการดำเนินงานโครงการ ที่วัดป่าแป๋ ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้เห็นว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาถูกทาง เป็นการกระจายโอกาสสู่กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายๆ ด้าน และเวทีทบทวนสรุปบทเรียน ก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้ ที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างคนที่ทำกิจกรรมในพื้นที่จริง เมื่อนำกระบวนการ ผลลัพธ์ ความสำเร็จ มาเล่าสู่แบ่งปัน ก็ทำให้คนอื่นที่ร่วมเรียนรู้นำไปปรับใช้ได้ขณะเดียวกัน คนที่มาร่วมกิจกรรมก็ได้แสดงออก เรียนรู้วิธีการนำเสนอสิ่งที่ตนเองได้ทำจริงอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการตอกย้ำความมั่นใจให้เขากลับไปทำกิจกรรมดีๆ ที่ตัวเองทำอยู่แล้วให้ต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าอุปสรรคเรื่องการสร้างความรู้สึกร่วมของคนในชุมชนยังมีอยู่ เพราะบางโครงการไม่ได้ทำทั้งชุมชน และเป็นชุมชนขนาดใหญ่ จึงทำเฉพาะบางส่วน ความท้าทายจึงเป็นการสื่อสารให้ต้องทำให้เห็นว่าโครงการ หรือกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นประโยชน์ต่อคนทำ ต่อชุมชน และภาพรวมของพี่น้องชนเผ่าแค่ไหน อย่างไร และจะสร้างความรู้สึกร่วม ความเข้าใจ ในระยะเวลาอันรวดเร็วได้หรือไม่
“หลายพื้นที่ก็ขยายไปได้บ้างแล้ว มีคนเข้ามาร่วมโครงการ ร่วมกิจกรรมเพิ่มแต่ยังไม่พอ ต้องหนุนเสริมให้ชุมชนได้เรียนรู้ไปพร้อมกับการทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากนี้เรื่องการจัดการด้านการเงิน งบประมาณก็มีความสำคัญ แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่กฎเกณฑ์เงื่อนไขที่ทาง IMPECT สื่อสารให้เขาทำมาตรฐานร่วมกัน หรือหลักเกณฑ์เงื่อนไขของ สสส. ที่ต้องทำควบคู่กันไป ทำให้หลายพื้นที่มีความกังวล จำเป็นต้องเข้าไปหนุนเสริมเรื่องการจัดการ จนหลายพื้นที่ทำได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะในรายละเอียดโครงการ หรือการจัดการงบประมาณ” ผอ.IMPECT กล่าวขณะเดียวกัน คือการทำกิจกรรมปฏิบัติการในพื้นที่ บางครั้งก็ก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนไปถึงระดับนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลายแห่งผู้นำท้องถิ่นให้ความสนใจตั้งแต่ต้น ก็มีกระบวนการเรียนรู้เชื่อมโยงกันไป และมักจะยกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ นำร่องไปยังพื้นที่อื่นๆ ในท้องถิ่นด้วย หากหลายแห่งผู้นำท้องถิ่นก็ยังไม่ได้เข้ามาเรียนรู้ร่วม หรือไม่ให้ความสนใจตั้งแต่ต้น จึงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ไม่มากนัก และถือเป็นเรื่องท้าทายที่ชุมชนต้องผลักดันให้ท้องถิ่นมีแผนนโยบายที่จะสนับสนุนโครงการดีๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขยายไปสู่พื้นที่อื่นให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ
นายศักดา ยังได้กล่าวถึงการสนับสนุนในอนาคตว่า ช่วงปีแรกมีพื้นที่เสนอโครงการเข้ามา 50 กว่าแห่ง แต่คัดเลือกและสนับสนุนตามเงื่อนไข สสส.ได้แค่ 30 แห่ง พื้นที่ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ก็ยังมีความสนใจเป็นทุนเดิมอยู่ ส่วนพื้นที่ใหม่ที่สนใจช่วงหลังกีเพิ่ม เพราะการทำโครงการครั้งนื้คือการสร้างโอกาสจริงๆ ตามแนวทางแบบ สสส. ที่ให้ชุมชนพึ่งตนเอง จัดการด้วยตนเอง สร้างภาคี เกิดการร่วมเรียนรู้ระหว่างองค์กรที่มาร่วมกิจกรรม ตรงกับความต้องการของชุมชน ฉะนั้นพื้นที่เดิมที่ทำกิจกรรมอยู่แล้ว ก็ต้องทำต่อให้ดีขึ้น แล้วขยายผล สร้างกิจกรรมที่เชื่อมต่อกับชุมชนของตัวเองมากขึ้น เป็นการต่อยอดสำหรับบางกลุ่มชาติพันธุ์ พบว่ากิจกรรมที่ทำเป็นประโยชน์ต่อชนเผ่ามาก กิจกรรมเหล่านี้ก็จะมีโอกาสขยายไปในชนเผ่าของตัวเองมากขึ้น ซึ่งในส่วนของ IMPECT ได้เห็นโอกาสที่จะหนุนเสริมในระดับเครือข่ายมากขึ้น อาทิ เครือข่ายลุ่มน้ำ เครือข่ายระหว่างชุมชนที่อยากทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งเครือข่ายชาติพันธุ์ที่อยากทำกิจกรรมแบบนี้ โดย IMPECT จะเป็นหน่วยในการสนับสนุนให้ชุชนเครือข่ายปฏิบัติได้จริงยิ่งขึ้น
ด้านนายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการบริหารแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า จากการนำเสนอของกลุ่มเครือข่าย แต่ละคนมีความน่าสนใจ มีการทำงาน แสดงออกได้ดี งานที่ทำก็ตรงกับตัวโครงการ คือสร้างเสริมสุขภาวะกับชนเผ่าบนพื้นที่สูงบนรากฐานวัฒนธรรม ซึ่งถือว่ามาถูกทาง เพราะวัฒนธรรมชนเผ่ามีความงดงาม และหลากหลายมาก เช่น ภาษาพูด ถือเป็นเรื่องราว วิถีชีวิต ซึ่งเคยมีการศึกษาสำรวจ พบว่าเดิมในอเมริกาก็มีภาษาท้องถิ่นนับ 100 ภาษา แต่ตอนนี้สูญหายหมด เหลือแต่ภาษาหลักคือภาษาอังกฤษ และโปรตุเกส อิตาลี ในบางส่วน ทำให้รากฐานวัฒนธรรมถูกทำลายการที่ชุดโครงการนี้ ขยายไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ และมีหลายชนเผ่า ที่มุ่งรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ ถือว่ามีประโยชน์ ไม่ใช่แค่ร้องเพลงเป็น หรือบอกว่าเราทอผ้าอย่างไร กินอาหารอย่างไร แต่ความหมายและความสำคัญของภาษา วัฒนธรรม มักจะซ่อนเรื่องราวชีวิต และคติ ที่เกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และเป็นเรื่องวิถีชีวิตที่เป็นเรื่องของสุขภาพ ครอบคลุมทั้งคุณธรรม จริยธรรม นิติธรรม รวมทั้งเรื่องหยูกยา และในหลายชาติพันธุ์ ก็พบว่าเขาดูแลรักษาสภาพแวดล้อมและป่าอยู่ ขณะที่สายตาคนภายนอกอาจมองว่าคนชาติพันธุ์ทำลายป่า ดังนั้นถ้าคนทำงานตระหนักรู้ และทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ การดำรงอยู่ การรื้อฟื้นวัฒนธรรม ก็จะไม่ใช่เพียงแค่การเป่าแคน เล่นดนตรีเป็นเท่านั้น เพราะสิ่งที่ซ่อนอยู่ในนิทานพื้นบ้าน ซ่อนอยู่ในเสียงเพลง ทำให้ทุกคนมีความสุข มีสุขภาวะ มีการอยู่ร่วมกัน“แม้โลกจะมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดนิ่งวัฒนธรรม และภาษาของเรา เพียงแต่ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงด้วย เด็กรุ่นใหม่จะเล่นมือถือ คงห้าม หรือขัดขวางไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้รากฐานวัฒนธรรมมีความเข้มแข็ง เมื่อเผชิญกับวัฒนธรรมใหม่ๆ หัวใจสำคัญคือการรู้จักใช้ชีวิต การดำรงอยู่ มิติความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ รู้จักอาหารการกิน รู้จักความสัมพันธ์กับธรรมชาติ รู้จักคติบางอย่างที่เราจะอยู่ร่วมกับโลกได้ นี่คือสาระสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ และเชื่อว่าจริงๆ แล้ววัฒนธรรมชนเผ่ามีการดูแลและเกื้อกูลกัน ทำให้เขาอยู่อย่างมีความสุข และเป็นมิตรซึ่งกันและกัน มีการช่วยเหลือกัน ดังนั้นแม้จะมีวิวัฒนาการ เทคโนโลยีใหม่ หรือวัฒนธรรมใหม่เข้ามา ก็ไม่ควรทิ้งภาษาดั้งเดิม ทางด้านการแพทย์ก็เช่นกัน การแพทย์แบบตะวันตกไม่สามารถดูแลสุขภาพของคนได้ทั้งหมด กระทั่งองค์การอนามัยโลกยังยอมรับการแพทย์ที่หลากหลาย วิถีชีวิตที่มีคุณภาพ มีความสุข ก็คือเรื่องของสุขภาพ” นายวีรพงษ์ กล่าวอย่างไรก็ตาม ยังถือเป็นช่วงปีแรกของการเริ่มต้นทำโครงการ คิดว่า สสส.จะสนับสนุนต่อไป เพื่อให้เกิดการทำซ้ำ ทำเพิ่ม และเรียนรู้บทเรียนของปีที่ 1 ว่าอะไรเป็นอุปสรรค อะไรเป็นจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยแนวทางแบ่งออกเป็น 2 ทาง คือในพื้นที่เดิมเป็นเรื่องท้าทายถ้าจะทำต่อ คนในชุมชน และพี่เลี้ยงต้องช่วยกันจะทำอย่างไรให้การทำงานในปี 2 มีคุณภาพมากขึ้น อีกแนวทางหนึ่ง ในหลักคิดของ สสส. แผนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม ก็ต้องคิดไปถึงการขยายโอกาสไปสู่เพื่อนชนเผ่าอื่นๆ ที่ยังไม่มีโอกาส แต่ไม่ใช่ขยายแบบกว้างไกลมาก เพราะจะเหมือนกิ่งไม้ถ้าขยายกิ่งอ่อนไปมากๆ ก็มีโอกาสหักง่าย ในการขยายออกไปจึงต้องมีพี่เลี้ยง มีคนเข้าไปช่วย และขยายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ขยายไปแล้วทำให้เขามีปัญหา การขยายออกไปต้องแก้โจทย์ของชุมชน และช่วยเสริมสร้างสุขภาพของเขาให้ดีขึ้น.