เชียงใหม่ / ตัวแทนองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยื่นหนังสือ 2 สถานกงสุลใหญ่”สหรัฐ-เมียนมา” เรียกร้องให้กดดัน พร้อมแทรกแซง ให้ศาลเมียนมายกเลิก โทษประหารชีวิต 7 นักศึกษา ย้ำเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 ธ.ค.65 ตัวแทนองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อ.มช.) ประมาณ 10 คน ได้เดินทาง ไปยื่นจดหมายเปิดผนึก เรื่อง “กรณีศาลในรัฐทหารพม่า มีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิต 7 นักศึกษา” ที่สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา จ.เชียงใหม่ โดยมีนายศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ ประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลฯ พร้อมทั้งอ่านแถลงการณ์
เนื้อหาสำคัญคือ องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทราบข่าว “กรณีศาลในรัฐทหารพม่า มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 65 ลงโทษประหารชีวิต 7 นักศึกษา” ในฐานะนักศึกษา และมนุษยชาติ จึงไม่อาจนิ่งนอนใจต่อการใช้อำนาจของรัฐทหารพม่า ที่ใช้กลไกของรัฐเข่นฆ่าประชาชนอย่างไร้มนุษยธรรม ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และถึงเวลาที่ต้องประกาศว่า ชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะให้รัฐกำจัดทิ้ง เพราะความเห็นต่างทางการเมือง
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีข้อเรียกร้อง 6 ประการ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งต่อชุมชนนานาชาติ ดังนี้ 1. ขอให้ร่วมกันกดดันและแทรกแซงคำตัดสินของศาลในรัฐบาลพม่า เพื่อให้ยกเลิกการประหาร 7 นักศึกษา และประชาชนชาวเมียนมา ที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตในคดีทางการเมืองอื่นๆ ด้วย 2. ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง 3. คืนกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสให้ประชาชนชาวเมียนมา ไม่ใช่การตัดสินในเรือนจำหรือค่ายทหาร 4. ยุติการสนับสนุนกองทัพทหารพม่า ทั้งด้านการทหาร การลงทุน เศรษฐกิจ ฯลฯ 5. ชุมชนนานาชาติต้องเปิดช่องทาง และสนับสนุนความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ผ่านองค์กรภาคประชาชน ไม่ใช่รัฐทหารพม่า 6. โทษประหารควรถูกกำจัดให้หมดไปจากรัฐสมัยใหม่ เพราะเป็นความตาเทียนที่ทำลายสิทธิมนุษยชน
ขณะเดียวกันยังมีข้อเรียกร้องต่อรัฐไทย และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) คือ 1. เพื่อให้รัฐไทยมีจุดยืนทางสังคม และชุมชนนานาชาติ รัฐไทยควรพิจารณาถึงนโยบายระหว่างประเทศกับรัฐทหารพม่า เพื่อร่วมกดดันไม่ให้รัฐทหารพม่าประทุษร้ายประชาชน รัฐไทยไม่ควรมีสัมพันธ์กับรัฐเผด็จการในทุกกรณี 2. แม้อาเซียนจะมีจารีตประเพณี ไม่แทรกแซงทางการเมืองและประณามรัฐสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่อาเซียนต้องทบทวนตนเอง ในฐานะรัฐบนหลักการที่เคารพสิทธิมนุษยชน ขอให้อาเซียนออกมาประณามรัฐทหารพม่า และใช้กลไกเศรษฐกิจกดดัน ให้ทหารพม่า คืนสิทธิ อำนาจ และเสรีภาพ ให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาธิปไตยของสาธารณรัฐ แห่งสหภาพเมียนมามีเสถียรภาพ ด้วยเสรีภาพอันศักดิ์สิทธิ์ของประชาชนเมียนมา
ต่อมา ตัวแทนจากองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ผลัดกันอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษและภาษาพม่าตามลำดับ จากนั้นในเวลา 14.15 น. ได้เดินทางไปยังสถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จ.เชียงใหม่ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกฉบับเดียวกันนี้ แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานว่าต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ทำหนังสือนัดหมายล่วงหน้า ทางตัวแทนองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ บริเวณถนนหน้าสถานกงสุลฯ ก่อนจะนำจดหมายเปิดผนึกไปสอดไว้ในตู้จดหมายหน้าสถานกงสุลฯ แล้วแยกย้ายกันกลับ.