สถานกงสุลญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่จัดงานแนะนำตัว “นายฮิโรชิ มัทสึโมะโตะ “ กงสุลใหญ่ เผยเป็นครั้งแรกบนเส้นทางนักการทูตที่มารับตำแหน่งในเอเชีย ยืนยันพร้อมสืบสานและพัฒนาความร่วมมือทุกด้าน แจงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของ 2 ประเทศ ชี้หลังยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นโตแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 16.4
เมื่อค่ำวันที่ 24 ก.ค.62 ที่โรงแรมแชงกรีลาเชียงใหม่ สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ ได้จัดงานเลี้ยงแนะนำตัวนายฮิโรชิ มัทสึโมะโตะ (Mr.Hiroshi MATSUMOTO) กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ โดยมีนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พร้อมภริยา ,นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผวจ.เชียงใหม่,นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่,นายมนัส ขันใส รองผวจ.เชียงใหม่,รองผวจ.ลำพูนและรองผวจ.แม่ฮ่องสอนและภรรยา,พล.ต.ท.มนตรี สัมปุณณานนท์ ผบช.ภ.5 และภรรยา,พล.ต.ต.พิเชษฐ์ จีระนันตสิน. ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงาน สถานศึกษา คณะสงสุลใหญ่ กงสุลและกงสุลกิตติมศักดิ์ ตัวแทนภาครัฐและเอกชนตลอดจนผู้พำนักชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
นายฮิโรชิ มัทสึโมะโตะ กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ กล่าวว่า การได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติหน้าที่และร่วมทำงานกับทุกคนในเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่สวยงามอย่างจังหวัดเชียงใหม่นี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับตน แม้จะเคยมีประสบการณ์มาเที่ยว และมาราชการที่ประเทศไทย แต่นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนหน้านี้ตนเคยทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเทศในอาเซียน แต่เวลาส่วนใหญ่บนเส้นทางนักการทูตของตนจะอยู่แถบยุโรปและแอฟริกา จึงทำให้ตนรู้สึกดีใจมากที่การมารับตำแหน่งครั้งแรกในเอเชียโดยเฉพาะที่เมืองเชียงใหม่แห่งนี้
“น่าประหลาดใจที่ผมรู้สึกเหมือนเคยอยู่ที่นี่มานานแล้ว บางทีอาจเป็นเพราะผมได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทุกท่านและทุกที่ ผมจึงขอใช้โอกาสนี้ กล่าวขอบคุณต่อความกรุณาที่ผมได้รับจาก หน่วยงานภาครัฐ สถาบันศึกษาและวัฒนธรรม องค์กรธุรกิจและภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชนทั้งหลาย อีกทั้ง ขอขอบคุณชุมชนชาวญี่ปุ่นที่ประกอบด้วยบริษัทญี่ปุ่นราว 50บริษัทและผู้พำนักชาวญี่ปุ่นประมาณ 3,400คนในภาคเหนือของประเทศไทย และคณะนักการทูตในเชียงใหม่ ความร่วมมือ การสนับสนุนและคำแนะนำจากทุกท่าน ถือเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งสำหรับการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ชีวิตของผมที่นี่”กลสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม นี่ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ขณะที่ยังอยู่ในตำแหน่งนี้ ผมตั้งใจจะสืบสานและพัฒนาความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น และหวังที่จะได้ทำงานร่วมกับทุกคนและพร้อมเสมอที่จะเปิดประตูต้อนรับทุกคนไปสู่ความสำเร็จ
นายฮิโรชิ กล่าวอีกว่า ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากความสัมพันธ์ระดับราชวงศ์ของทั้งสองประเทศประเด็นแรกคือ บทสนทนาของผู้บริหารระดับสูงของประเทศที่มีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ระหว่างนายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยที่เดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ที่นครโอซาก้า ซึ่งเป็นการสนทนาที่ส่งผลดีต่อบทบาทของประเทศไทยในฐานะประธานของอาเซียนในปีนี้
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่ยังพัฒนาไปด้วยดี บริษัทญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและตื่นตัวมากในภาคเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดลำพูน บริษัทญี่ปุ่นทุ่มเทต่อการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ผ่านการจ้างงานแรงงานในพื้นที่จำนวนมากและส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นอย่างมากของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ไปเยือนประเทศญี่ปุ่นหลังการประกาศยกเลิกวีซ่าท่องเที่ยวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปีนี้ ได้กระโดดไปกว่า 620,000 คน เพิ่มขึ้น 16.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
“ผมหวังว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวในปี ค.ศ.2020 จะดึงดูดให้ชาวไทยมาเที่ยวญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น และผมรู้สึกดีใจมากที่ Mr.Nishino อดีตนักฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าโค้ชของฟุตบอลทีมชาติไทย ซึ่งผมจะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในภาคเหนือนี้ให้ดียิ่งขึ้น สืบไป”กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ กล่าว
สำหรับประวัติส่วนตัวของนายฮิโรชิ มัทสึโมะโตะ (Mr.Hiroshi MATSUMOTO) กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ จบการศึกษาปริญญาตรี ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชูโอ กาเมื่อเดือนมี.ค.2524 เริ่มเข้ารับราชการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น พฤษภาคม พ.ศ. 2537 เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำสาธารณรัฐโปแลนด์ เมษายน พ.ศ. 2540 เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำสาธารณรัฐโปแลนด์ ธันวาคม พ.ศ. 2540 เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำสาธารณรัฐไอแลนด์ มีนาคม พ.ศ. 2544
เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำสาธารณรัฐแซมเบีย พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 รองผู้อำนวยการ กองอำนวยการงานเยือนต่างประเทศ สำนักเลขานุการรัฐมนตรี มกราคม พ.ศ. 2549 นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการนโยบายศูนย์ส่งเสริมการลดอาวุธ สถาบันการต่างประเทศ พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำสาธารณรัฐแซมเบีย มกราคม พ.ศ. 2551
เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำสาธารณรัฐมาลาวี กันยายน พ.ศ. 2554 เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำสาธารณรัฐโปแลนด์ มกราคม พ.ศ. 2559 อัครราชฑูต สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำสาธารณรัฐโปแลนด์ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ผู้อำนวยการ กองวิทยาศาสตร์ พลังงานนิวเคลียร์ และการลดอาวุธ กรมวิทยาศาสตร์และการลดอาวุธ พฤษภาคมและ พ.ศ. 2562 กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่.