เชียงใหม่ / สถาปนิก แนะวิธีฟื้นฟูป่าบ้านพักตุลาการ ต้องเน้นจัดการระบบระบายน้ำผิวดิน และรอให้ต้นไม้ถิ่นฟื้นตัวโดยธรรมชาติในพื้นที่ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง ขณะที่เครือข่ายฯ เตรียมติดตามข้อตกลงกับ รมต.ให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ย้ำถ้าดำเนินการไม่ได้ คนไทยทั้งประเทศรวมตัวครั้งใหญ่เพื่อทวงคืนผืนป่าแน่นอนนายจุลพร นันทพานิช สถาปนิก และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง “มองไปข้างหน้าเพื่อฟื้นฟูป่า(แหว่ง) ให้สมบูรณ์ดังเดิม” ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ว่า การฟื้นฟูมีหลายวิธี คือฟื้นฟูสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีประมาณ 60% ของพื้นที่ 76 ไร่ ส่วนการฟื้นฟูพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง เช่น ตัวอาคาร และถนน มีประมาณ 40% ต้องรอดูนโยบายที่จะเกิดขึ้นเพื่อจัดการสิ่งปลูกสร้างภายใน 3 ปีนี้“ต้องจัดการระบบระบายน้ำผิวดินใหม่ ไม่ให้เกิดวิกฤติ โดยไม่ใช้โครงสร้างคอนกรีต แต่ใช้โครงสร้างสีเขียว พอครบ 3 ปี โครงสร้างนี้ก็จะพังไป และต้นไม้ที่ปลูกก็จะเติบโต แต่ทั้งนี้ป่าเต็งรังที่ถูกไถทิ้ง ถือเป็นป่าที่ปลูกยากที่สุด กล้าไม้เต็งรัง เช่น ไม้เหียง ไม้ตึง ในภาคเหนือตอนนี้อาจไม่มี ซึ่งจากกรณีศึกษาการขุดถนนสายอ้อมเมืองเชียงดาว มีการคุ้ยหน้าดินดำออกไปจนหมด ใช้เวลา 3 ปี กล้าไม้เหียง ไม้ตึง กลับเกิดขึ้นเอง ดังนั้นจึงคิดว่าวิธีนี้น่าจะใกล้เคียงที่สุด ดีกว่าปลูกไม้เหียงตอนนี้ แล้วสั่งต้นเหียงที่เป็นลูกไม้จากอีสาน พันธุ์ไม้ที่ได้ก็กลายเป็นไม้ต่างถิ่น คนละตัวกับเหียงทางเหนือ การฟื้นฟูป่าเต็งรัง ควรฟื้นฟูด้วยแมกไม้ที่อยู่ใกล้ๆ ด้วยตนเอง แค่จัดการระบายน้ำผิวดินให้ดี และส่งเสริมให้มีการดักตะกอนเพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนการปลูก ถ้านำกล้าไม้อื่นมา เช่น จามจุรี หางนกยูง หูกระจง ก็จะไปกันใหญ่ กลายเป็นเอเลี่ยนสปีชี่” นายจุลพร กล่าวด้านนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวถึงแนวทางการทำงานของเครือข่ายว่า ต้องติดตามข้อตกลงให้เป็นไปตามกระบวนการ คือกระบวนการฟื้นฟู กระบวนการรื้อย้าย โดยให้เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย มีคณะกรรมการดูแลอีกส่วนหนึ่ง และคณะกรรมการเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จะทำให้ดอยสุเทพโมเดล กลายเป็นการขับเคลื่อนเพื่อการเรียนรู้ ให้คนได้เรียนรู้คุณค่า ความหมาย ของดอยสุเทพอย่างลึกซึ้ง เริ่มต้นจาก 52 องค์กรเครือข่าย ต่อไปก็จะขยายเป็นคนเชียงใหม่ทั้งจังหวัด และคนทั้งประเทศ ให้มาช่วยกันดูแล คุย ติดตาม ถ้าการดำเนินการตามข้อตกลงเป็นไปไม่ได้ คนเชียงใหม่ และคนทั่วประเทศไทยก็จะลุกขึ้นมา เป็นการระดมพลครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง.