เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทยเรียกร้องรัฐบาลช่วย หลังประสบปัญหามากว่า 3 ปี

เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทยเรียกร้องรัฐบาลช่วย หลังประสบปัญหามากว่า 3 ปี

เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทยเรียกร้องรัฐบาลช่วย หลังประสบปัญหาทั้งด้านการผลิต และการตลาด เผย 3 ปีราคาน้ำผึ้งตกต่ำทำให้ไม่คุ้มทุน มีการใช้สารเคมีในแหล่งอาหารของผึ้งจำนวนมากทำให้ผึ้งตาย ปัญหาน้ำผึ้งปลอมระบาดภาครัฐไม่ควบคุม  ชี้หากยังไม่ได้รับการเหลียวแลจะยกระดับเพื่อชุมนุมกดดันจนกว่าจะได้รับการแก้ไข

วันที่ 27 ส.ค.62 ที่ห้องประชุมข้าวหอมมะลิ อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เขต 15 เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาแนวทางการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งครบวงจร ซึ่งเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทยจัดขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน

นายจำนงค์ กาศเจริญ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งจ.แพร่และประธานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทย กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานสัมมนาแนวทางการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งครบวงจรในครั้งนี้ว่า สืบเนื่องมาจากในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทยได้ประสบปัญหาอย่างมาก ทั้งในเรื่องด้านการผลิตที่เกษตรกรชาวไร่ ชาวสวนมีการใช้สารเคมีในแปลงพืชที่เป็นแหล่งอาหารของผึ้ง การผลิตน้ำผึ้งไม่ได้คุณภาพอันเนื่องมากจากไม่มีการกำหนดคุณภาพให้เป็นระยยอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการตลาด ซึ่งราคาน้ำผึ้งตกต่ำ ระบบการซื้อขายน้ำผึ้งไม่เป็นธรรม มีการนำน้ำผึ้งจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับตลาดในประเทศ และมีการนำน้ำผึ้งปลอมมาจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคและผู้เลี้ยงผึ้งไทยเป็นอย่างมาก

ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งจ.แพร่และประธานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทย กล่าวต่อไปอีกว่า จากแนวคิดที่ต้องแก้ปัญหาและการดำเนินการอย่างมีหลักการ ทางเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจากกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้เลี้ยงผึ้งรายย่อยเกือบทั่วทั้งประเทศได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทยขึ้นมาและจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความสามัคคีของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทย และเพื่อถ่ายทอดความรู้ ข้อมูล ข่าวสารรวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งในด้านการผลิต การตลาด งานวิจัย การของบสนับสนุนและด้านอื่นๆ ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทยทราบอย่างทั่วถึง และเพื่อเป็นการจัดทำแผนงาน โครงการเสนอปัญหาและการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ทางด้านนายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เขต 15 กล่าวว่า อาชีพการเลี้ยงผึ้งของประเทศไทยมีความสำคัญต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งที่สร้างงาน สร้างรายได้ โดยในแต่ละปีมีการส่งออกน้ำผึ้งไปยังตลาดต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และเป็นน้ำผึ้งคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตามจากรายงานของประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงผึ้งไทยทำให้ทราบว่าขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งประสบปัญหาหลายอย่างที่ต้องการแก้ไขและช่วยเหลือจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และยังเป็นโอกาสที่ดีที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งได้รวมตัวเป็นเครือข่าย จัดสัมมนานำเสนอปัญหา ความต้องการและมีการหารือเพื่อให้เกิดแนวทางในการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงผึ้งอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้มีนโยบายอย่างชัดเจนใน 3 ด้านคือ ให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ลดการใช้สารเคมี ซึ่งการใช้สารเคมีในทางการเกษตรก็ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงผึ้งด้วยเช่นกัน และส่งเสริมการตลาด ซึ่งรัฐบาลเองก็มีการจัดสรรงบประมาณให้เป็นงบพัฒนาภาค และภาคเหนือตอนบนเป็นเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งการเลี้ยงผึ้งอินทรีย์ก็สามารถนำเข้าสู่ระบบ เพื่อรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเช่นเดียวกัน หากเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งพัฒนาระบบการเลี้ยงผึ้งอินทรีย์ทำให้ผลผลิตออกมาเป็นน้ำผึ้งอินทรีย์ มีคุณภาพจะทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดได้ด้วย”ผู้ตรวจราชการก.เกษตรฯเขต 15 กล่าว

ขณะที่นายจำนงค์ กาศเจริญ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งจ.แพร่และประธานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคเหนือ มีสมาชิกที่รวมกันเป็นเครือข่ายกว่า 3,000 ราย เฉพาะที่จังหวัดแพร่เองมีเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งประมาณ 2 หมื่นรังจากจำนวน 131 ราย แต่เมื่อปีที่ผ่านมาผลผลิตมีจำนวนลดลงและราคาก็ตกต่ำทำให้เกษตรกรขาดทุน โดยรวงผึ้งเฉลี่ยราคาขายได้ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 70 บาทซึ่งยังไม่รวมค่าแรง และจุดคุ้มทุนจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ทางเครือข่ายฯจึงได้รวมตัวกันจัดสัมมนาเพื่อสรุปแนวทางและข้อเรียกร้องไปยังกระทรวงเกษตรฯ เพื่อหามาตรการและแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง

“ปัญหาที่พบในขณะนี้นอกจากราคาตกต่ำแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการผูกขาดการค้า ปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผัก ผลไม้ที่เป็นแหล่งอาหารของผึ้ง ส่งผลกระทบต่อผึ้งทำให้ผึ้งตาย และน้ำผึ้งไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาน้ำผึ้งปลอมที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐแก้ไข เพราะการที่ผู้บริโภคได้รับน้ำผึ้งปลอมไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคและยังทำลายตลาดน้ำผึ้งคุณภาพของกลุ่มผู้เลี้ยง ปัญหาการลักลอบหรือการนำเข้าน้ำผึ้งจากต่างประเทศเข้ามาทำให้ตลาดน้ำผึ้งในประเทศถูกกดราคา ซึ่งส่วนนี้ทางเครือข่ายยังไม่มีข้อมูลของกรมศุลกากรว่ามีการนำเข้าน้ำผึ้งจากต่างประเทศเข้ามามากน้อยแค่ไหน และหากปัญหาที่กลุ่มเครือข่ายนำเสนอไปยังรัฐบาล ยังกระทรวงเกษตรฯไม่ได้รับการแก้ไข ทางเครือข่ายก็จะมีการเคลื่อนไหว กดดันต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นอาชีพการเลี้ยงผึ้งทั้งรายย่อย แปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจและสหกรณ์ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน”ประธานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทย กล่าว.

You may also like

มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม” ภายใต้แนวคิด The Golden of Lanna

จำนวนผู้