จังหวัดเชียงใหม่ประชุมถอดบทเรียน น้ำท่วมสกลนคร เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม แจ้งเตือนประชาชนพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดเชียงใหม่ ให้เฝ้าระวังเข้มข้น ระหว่าง สิงหาคม – กันยายน พบสถิติเคยเกิดน้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2560 เพื่อถอดบทเรียนปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสกลนครและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมทั้งวิเคราะห์แนวโน้มการเกิดอุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการรับมือกับปัญหาล่วงหน้า ลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เพราะจากการวิเคราะห์สถิติการเกิดอุทกภัยครั้งในในจังหวัดเชียงใหม่ 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าเกิดในช่วงเดือน สิงหาคม – กันยายน โดยพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม คือ อำเภอโซนเหนือ ได้แก่ อำเภอฝาง และแม่อาย รวมถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญในเขตเมืองเชียงใหม่ที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง และแม่น้ำปิงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมเขตชุมชน
ทั้งนี้การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2560 มีการบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนและมอบหมายภารกิจชัดเจน ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ โดยให้มีกระบวนการแจ้งเตือนภัย การสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย สร้างการรับรู้ เตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรกล และกำลังพลที่จะเข้าไปช่วยเหลือ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น และหลังเหตุการณ์จะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร โดยให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เมื่อจัดทำแผนปฏิบัติการแล้วเสร็จให้แจ้งผู้ปฏิบัติให้รับทราบและเข้าใจการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน
ตามแผนปฏิบัติการ จังหวัดเชียงใหม่ได้สำรวจเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ จำนวน 63 เครื่อง รถดับเพลิง จำนวน 73 คัน รถน้ำ จำนวน 84 คัน รถบรรทุก จำนวน 179 คัน รถเครน จำนวน 15 คัน รถตัก จำนวน 65 คัน รถเกรด จำนวน 8 คัน รถเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 32 คัน เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ เรือท้องแบน จำนวน 76 ลำ รถบรรทุกลากจูง จำนวน 10 คัน เครื่องสูบน้ำ จำนวน 182 เครื่อง รถเทรคเตอร์ จำนวน 24 คัน และรถไฟฟ้าส่องสว่าง จำนวน 5 คัน หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มขึ้น หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายสามารถเข้าดำเนินการได้ทันที
“ในการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมเขตเมือง เดิมหากพบว่าระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่เชิงสะพานนวรัตน์ ที่สถานีวัดระดับน้ำปิง ที่จุด P1 สูง 3.70 เมตร จึงจะแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือภัยจากน้ำท่วมเขตเมืองเชียงใหม่ แต่เนื่องจากมีการบริหารจัดการน้ำที่ประตูระบายน้ำป่าแดดร่วมด้วย ประกอบกับเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ขุดลอกทางระบายน้ำ วางกระสอบทราย และติดตั้งแบริเออร์คอนกรีตในจุดเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้สามารถป้องกันระดับน้ำได้สูงขึ้น จึงให้สำนักชลประทานเชียงใหม่ไปวิเคราะห์ระดับน้ำ ที่จะต้องแจ้งเตือนไม่ และประกาศให้ประชาชนได้รับทราบทั่วกัน” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า
สำหรับการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ห่างไกล ยังจำเป็นต้องอาศัยมิสเตอร์เตือนภัย ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการเฝ้าระวังปริมาณน้ำฝน แจ้งเตือนประชาชนทุกช่องทางหากอยู่ภาวะเสี่ยง และเตรียมพื้นที่รองรับการอพยพประชาชนไปในที่ปลอดภัย เนื่องจากที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เปิดรับข่าวสารจากทางราชการ เมื่อเกิดเหตุการณ์ได้รับความเสียหาย มักจะอ้างเสมอว่าไม่ได้รับการแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้เปิดช่องทางการสื่อสาร แจ้งเตือนประชาชนที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ และนำไปเป็นแหล่งอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งขอให้ประชาชนได้ช่วยกันตรวจสอบ อย่าได้หลงเชื่อการโพสต์และแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่เป็นภาพเก่า ไม่เป็นความจริง เพื่อป้องกันการเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นจริงได้
ด้าน นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนายการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้บทเรียนที่ได้จากน้ำท่วมมาแล้วตั้งแต่ปี 2548 มีการดำเนินการเพื่อการรับมืออุทกภัย ดินโคลนถล่ม ไว้แล้ว และโดยศักยภาพของตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีคลองชลประทานมาเป็นตัวตัดน้ำที่จะเข้าเมือง ศักยภาพของการระบายน้ำหรือการรับน้ำที่จะหลากเข้าเมืองจึงมีประสิทธิภาพมากกว่า ประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่องแต่ละด้านที่เป็นภาระหน้าที่ต้องทำงานกันอย่างต่อเนื่องจึงจะทำให้การรับมืออุทกภัย ดินโคลนถล่ม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนงานต่างๆ ที่เชียงใหม่ได้จากบทเรียนน้ำท่วมเมืองในครั้งใหญ่ที่ผ่านมาคือ เมื่อครั้งปี 2548 ซึ่งจังหวัดอื่นอย่าง จ.สกลนคร ยังไม่เคยประสบ จากประสบการณ์ครั้งนี้ เรื่องแรกที่เราได้คือ ในพื้นที่ที่ตั้งบ้านเรือนในที่ลุ่มเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำป่าไหลหลาก เราเข้าใจถึงความเสี่ยงและเตรียมการให้เหมาะสม ประการที่ 2 ได้มีการจัดทำ flood mark แสดงระดับที่น้ำท่วม ระดับที่เราต้องระวังไม่เก็บสิ่งของเครื่องมือที่มีค่าต่างๆ ไว้ หรือสร้างอะไรที่น้ำท่วมไม่ได้ต่ำกว่าระดับนี้ ต้องเตรียมขนย้ายให้พร้อมเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าจะมีพายุเข้าหรืออาจเกิดฝนตกหนักมาก ประการที่ 3 ได้มีการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยและต้องเพิ่มสถานีวัดน้ำฝนแถบลุ่มน้ำตอนบน โดยต้องเป็นสถานีที่วัดฝนได้เป็นรายชั่วโมง และในช่วงที่มีพายุเข้าหรือช่วงที่มีฝนตกหนัก จัดให้มีการปฏิบัติงาน ตลอด 24 ชั่วโมง ประการที่ 4 ประชาชนได้เรียนรู้เข้าใจภัยและตระหนักถึงภัยได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอการแจ้งเตือน ซึ่งอาศัย คู่มือจากที่ ม.เชียงใหม่ เคยจัดทำไว้ หรือจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศจาอ HYDRO1 CENDRU และประกาศเตือนภัย ของ ปภ.เชียงใหม่ เช่นว่า ฝนตกประมาณไหนที่ควรจะหลีกหนีจากสถานที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม ประการที่ 5 มีการปรับปรุงทางระบายน้ำลงสู่ลำน้ำต่างๆให้น้ำไหลได้สะดวก แนวคลอง ขนาดคลองให้เหมาะสม รื้ออุปสรรคที่ขวางกั้นน้ำออก ประการที่ 6 เราจัดให้การส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจภัยธรรมชาติ รู้สาเหตุของการเกิด รู้วิธีหลีกหนีภัย ไม่อาจเอาชนะธรรมชาติได้ เราอาจป้องกันตัวจากภัยขนาดเล็กจากคู่มือต่างๆ ที่หน่วยงานหลายหน่วยงานจัดทำขึ้นแจกจ่ายให้ประชาชน และประการที่ 7 มีการเตรียมให้ชุมชนเข้าใจถึงความเสี่ยงต่อภัย เข้าใจถึงความล่อแหลม (Exposure) ความเปราะบาง (Vulnerability) ลักษณะเฉพาะของชุมชน ระบบ สิ่งก่อสร้าง หรือทรัพย์สินต่างๆ ทั้งนี้ในทุกประการ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องดำเนินการในทุกพื้นที่ของเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
สำหรับแนวทางการปฏิบัติช่วงวิกฤตสถานการณ์น้ำ ปี 2560 จัดให้มีการรายงานสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ทุกวัน มีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำจุดเสี่ยงเกิดผลกระทบ ติดสัญลักษณ์ธงระดับต่างๆ ได้แก่ ธงเขียว=ระดับปกติ, ธงเหลือง=ระดับเฝ้าระวัง และธงแดง=ระดับวิกฤติ ในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ อย่างชัดเจน มีการรายงานให้ผู้บริหารทราบ ตั้งแต่เริ่มมีแนวโน้มจะเกิดผลกระทบและรายงานเป็นระยะจะกว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำผ่านสื่อวิทยุชุมชนต่างๆ ติดประกาศประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและการแจ้งเตือนที่จุดศูนย์รวมของชุมชน จัดเจ้าหน้าที่ลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ได้รับผลกระทบ มีการประเมินสถานการณ์ หากคาดว่ามีผลกระทบมากให้ขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ และจัดเตรียมกิจกรรมต่างๆ ที่จะสนับสนุน ช่วยเหลือ เช่น น้ำดื่ม อาหาร พื้นที่อพยพ ที่จอดรถ การจัดการจราจร พร้อมกับการวิเคราะห์สรุปสาเหตุของปัญหา