เชียงใหม่เริ่มสตาร์ท เปิดวอร์รูมบัญชาการไฟป่าหมอกควัน คาดสถานการณ์เริ่มกรุ่นกลางก.พ. ให้ทุกอำเภอตั้งปลัดฯเป็นมิสเตอร์ไฟป่ารับนโยบายและยุทธศาสตร์จากศูนย์ฯ ส่วนการบริหารเชื้อเพลิงขึ้นอยู่กับแต่ละอำเภอเป็นผู้ตัดสินใจ แจงผู้ว่าฯให้นโยบายยับยั้งค่าฝุ่นไม่ให้สูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและลดจุดความร้อนให้มากที่สุด
เมื่อวันที่ 19 ม.ค.65 ที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องปฏิบัติการอบจ.เชียงใหม่ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานเปิดศูนย์บัญชาการฯและประชุมคณะกรรมการฯครั้งแรกในปี 2565 โดยรองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่าคณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่แต่งตั้งตามคำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ มีผวจ.เชียงใหม่เป็นผู้อำนวยการ รองผวจ.เชียงใหม่ที่ได้รับมอบหมายเป็นรองผอ.ร่วมกับนายกอบจ.เชียงใหม่ และหัวหน้าสำนักงานปภ.เชียงใหม่เป็นเลขานุการมีหัวหน้าส่วนราชการ นักวิชาการเป็นกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการ สั่งการ ปฏิบัติงานด้านป้องกันบรรเทาและให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นฯเกินค่ามาตรฐาน
นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ พร้อมทั้งให้ข้อมูล คำแนะนำด้นวิชาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนประสานพื้นที่อำเภอ ตำบล หมู่บ้านและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันฯ ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงจากแหล่งกำเนิด เฝ้าระวังและกำหนดแนวทางในการป้องกันแก้ไขไว้ล่วงหน้า
“ในปีนี้สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันมาช้ากว่าทุกปี โดยคาดว่าน่าจะประมาณกลางเดือนก.พ.เพราะช่วงนี้ยังมีฝน อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดศูนย์บัญชาการฯระดับจังหวัดแล้ว และทางอำเภอก็ให้เริ่มดำเนินการเพราะจะมีการประชุมติดตามประเมินสถานการณ์ทุกวัน โดยในส่วนของจังหวัดจะเป็นศูนย์สั่งการที่กำหนดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา โดยขอให้ทุกอำเภอแต่งตั้ง มอบหมายปลัดฝ่ายปกครองรับผิดชอบในศูนย์สั่งการระดับอำเภอ เป็นมิสเตอร์ไฟป่าหมอกควันเพื่อรับนโยบายและยุทธศาสตร์วันต่อวัน โดยห้ามเปลี่ยนตัวบุคคลเพื่อจะได้มีการสื่อสารผ่านระบบซูมทุกวัน”รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและว่า
ทางศูนย์บัญชาการฯจะมีนักวิชาการ ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้สนับสนุนแอพพลิเคชั่นในการพยากรณ์ล่วงหน้า 3 วันและในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้ทางอำเภอเจ้าของพื้นที่ตัดสินใจเอง โดยปีนี้กำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อนลงจากเดิมร้อยละ 20 หรือต้องมีจุดความร้อนเกิดขึ้นไม่เกิน 12,420 จุด ส่วนข้อกังวลในพื้นที่รอยต่อที่การบริหารจัดการยากที่สุดนั้น ได้ประสานขอให้ทางกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้ควบคุมดูแล
อย่างไรก็ตามนายประจญ ปรัชญสกุล ผวจ.เชียงใหม่ได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาและรับมือสถานการณ์หมอกควันไฟป่าโดยมุ่งเน้นจุดที่เกิดไฟซ้ำซาก ส่วนการเผาในพื้นที่ทางการเกษตรจะต้องวางแผนจัดการอย่างเป็นระบบ โดยการบูรณาการข้อมูลตรวจวัดจากกรมควบคุมมลพิษและเครือข่ายเครื่องมือตรวจวัดจากเซนเซอร์ราคาประหยัด ข้อมูลภาพด้าวเทียมเช่น ข้อมูลจุดความร้อนและร่องรอยการเผาไหม้ รวมทั้งข้อมูลจากแบบจำลองการพยากรณ์คุณภาพอากาศ WRF-Chem เช่น การพยากรณ์ความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 และการพยากรณ์ดัชนีทางอุตุฯที่มีผลต่อคุณภาพอากาศมาเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารเชื้อเพลิง สำหรับเป้าหมายในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่คือยับยั้งค่าฝุ่นฯไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนและตั้งเป้าหมายลดจุดความร้อนลงให้ได้มากที่สุด.