เชียงใหม่เริ่มบริหารเชื้อเพลิงพื้นที่โซนเหนือเกือบ 5 แสนไร่ จับตาเชียงดาว-พร้าว

เชียงใหม่เริ่มบริหารเชื้อเพลิงพื้นที่โซนเหนือเกือบ 5 แสนไร่ จับตาเชียงดาว-พร้าว

เชียงใหม่เริ่มบริหารเชื้อเพลิงพื้นที่โซนเหนือเชื้อเพลิงเกือบ 5 แสนไร่ทั้งพื้นที่ป่าและการเกษตร จับตาเชียงดาว-พร้าว รองผู้ว่าฯเผยพื้นที่ใกล้เคียงโซนใต้ ย้ำหากไม่ได้อยู่ในแผนและเผาจะถูกดำเนินคดี ชี้โทษหนักลักลอบเผาไม่มีรอลงอาญาและให้ชดใช้ค่าเสียหายสูง

นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นpm2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ว่า ทางจังหวัดฯได้จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาฯมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งปีที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่มีจุดความร้อนหรือ Hot Spot สูงถึง 22,000 กว่าจุดและมีพื้นที่ไฟไหม้กว่า 1.3 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามสำหรับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือpm2.5 นั้นปัจจัยไม่ได้มาจากการเผาอย่างเดียวแต่ยังมีสาเหตุจากแหล่งมลพิษอื่นๆ ด้วยทั้งฝุ่นจากการก่อสร้าง ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันดำจากรถยนต์

“อย่างไรก็ตามสำหรับพื้นที่เกิดไฟป่านั้น จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการปรับแนวทางการทำแผน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีคำสั่งออกไปตั้งแต่เดือนมกราคมที่เริ่มให้บริหารจัดการเชื้อเพลิง สำหรับพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องเผาโดยเฉพาะพื้นที่เกษตรที่ไม่สามารถเอาเศษวัชพืชไปทำอะไรได้ และต้องเตรียมพื้นที่สำหรับปลูก ซึ่งการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้นจะต้องผ่านการตัดสินใจและร่วมวางแผนตั้งแต่ระดับชุมชนซึ่งมีตัวแทนของชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่เสนอไปยังอำเภอและเสนอต่อมาจังหวัด ซึ่งการบริหารเชื้อเพลิงจะใช้หลักวิชาการที่ปีนี้มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาช่วย”รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและว่า

สำหรับเป้าหมายของจังหวัดปีนี้ต้องลดจำนวนจุดความร้อนลงให้ได้จากปีที่ผ่านมาร้อยละ 25 ซึ่งการแบ่งพื้นที่จะแยกเป็นโซนเหนือและโซนใต้ โดยขณะนี้การบริหารจัดการเชื้อเพลิงอำเภอโซนใต้จบแล้วเพราะเริ่มมาตั้งแต่ 1 ม.ค.-28 ก.พ.64 ส่วนพื้นที่โซนเหนือเริ่มตั้งแต่ 1 มี.ค.-30 เม.ย.64 โดยมีภาควิชาการเข้ามาร่วมวางแผนซึ่งจะทำการประเมินผลอากาศใน 3 วันล่วงหน้า โดยใช้ทิศทางลมทั่วโลก ความกดอากาศ การยกตัวและความชื้นสัมพัทธ์มาคำนวณแล้วเป็นแผนให้บริหารเชื้อเพลิง 3 วันล่วงหน้า แต่ถ้าหากสภาพอากาศปิดหรือความกดอากาศต่ำก็จะขอความร่วมมือประชาชนให้งดการบริหารเชื้อเพลิงฯออกไป

รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า เรื่องของหมอกควันไฟป่าต้องดูบริบททั้งระดับภาคและประเทศควบคู่ไปด้วย เพราะลมฟ้าอากาศไม่มีพรหมแดน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภูมิภาคด้วย อย่างช่วงนี้จะเห็นว่าจำนวนจุดความร้อนในพื้นที่เชียงใหม่ไม่ได้สูงมากนัก แต่ทิศทางลมจากลมใต้พัดสอบเข้ามาจึงทำให้ฝุ่นควันปกคลุมเชียงใหม่ที่มีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ

“ในเรื่องของบุคลากรหรือคนนั้น เชียงใหม่มีอาสาสมัครป้องกันไฟป่ากว่า 2 หมื่นคนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนมีหมู่บ้านที่มีพื้นที่ทำกินในเขตป่า 1,300 กว่าหมู่บ้านแต่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพียงบางส่วน และปีนี้ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมาเชียงใหม่มีจุดความร้อน3,021 จุดเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมี 4,728 จุด ซึ่งลดลงถึง 37%และในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้มีจุดความร้อน 2,066 จุดโดยเป็นจุดความร้อนที่เกิดจากการบริหารเชื้อเพลิง 588 จุด แต่อยู่นอกพื้นที่บริหารเชื้อเพลิง 1,508 จุดหรือร้อยละ 27 เป็นการลักลอบเผา ด้วยเหตุนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งให้ประกาศห้ามเผาเด็ดขาดระหว่างมี.ค.-เม.ย.ออกมาเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้ใช้กฎหมายดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งโทษค่อนข้างหนัก  ยกเว้นพื้นที่ที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงซึ่งมีแผนและได้รับการอนุมัติจากวอร์รูมแล้ว”นายรัฐพล กล่าวและว่า

ปีนี้คุยกับผู้พิพากษาแล้ว ว่าเป็นคดีนโยบาย จึงไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษ ยกตัวอย่างคดีเผาป่าที่ตัดสินไปแล้วจะไม่มีรอลงอาญาและยังให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐด้วย สูงถึง 8 แสนบาท และตอนนี้ก็มีคำสั่งออกมาแล้วจึงกำชับทุกพื้นที่หากมีการเผานอกพื้นที่บริหารเชื้อเพลิงจะถูกจับดำเนินคดีหมด และหากไม่พบตัวแต่ก็จะให้พิสูจน์หลักฐาน ใช้หลักการเดียวกับที่ผ่านมาหมดทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนโดยเจ้าของพื้นที่จะเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี เพราะเดือนมีนาคมถือเป็นเดือนที่ท้าทายการทำงานอย่างมาก เนื่องจากเป็นห้วงเวลาที่เชื้อเพลิงในพื้นที่ก็พร้อมและยังเป็นห้วงเตรียมพื้นที่เพาะปลูก แต่ทางจังหวัดได้แจ้งทุกอำเภอให้แจ้งพื้นที่ต่างๆ ไปตั้งแต่ต้นปีให้ทุกพื้นที่จัดทำแผนเสนอมา ส่วนพื้นที่โซนใต้แม้จะหมดช่วงที่บริหารเชื้อเพลิงแล้วแต่ก็ยังมีพื้นที่ยกเว้นคืออมก๋อยและแม่แจ่ม ในส่วนที่เป็นพื้นทีทำไร่หมุนเวียนทีผ่านมาสภาพพื้นที่ยังไม่พร้อมที่จะบริหารเชื้อเพลิงแต่จะบริหารได้ก็ต้องรอการอนุมัติจากวอร์รูมก่อน หากเผาเองก็ถือว่าทำผิด ต้องถูกดำเนินคดีเช่นกัน

นายรัฐพล กล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่โซนเหนือที่ต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงจะมีพื้นที่ใกล้เคียงกับโซนใต้ ประมาณเกือบ 5 แสนไร่ แต่มีการบริหารเชื้อเพลิงฯจริงแค่ 153,659.70 ไร่(ข้อมูลถึง 22 ก.พ.)ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศด้วย ไม่ใช่เสนอมาจะได้รับอนุมัติทั้งหมด.

You may also like

ครึ่งเดือนแรกม.ค.เชียงใหม่อนุมัติคำร้องชิงเผากว่า 1 พันไร่อีกเกือบ 2 หมื่นไร่จ่อคิว

จำนวนผู้