กระแสขนมจีนคลุกน้ำปลายังซาไม่สนิท กลับมีแกงจืดเศษฟักวิญญาณไก่โผล่ซ้ำอีก ทำให้นึกอนาถกับคุณภาพชีวิตเด็กไทย ที่ต้องกล้ำกลืนอาหารกลางวันแบบด้อยคุณค่าทางโภชนาการ และผลลัพธ์ก็คือเด็กจำนวนมากมีภาวะอ้วน ผอม เตี้ย หรือโง่ เติบโตอย่างขาดคุณภาพ
สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และที่ปรึกษากรมอนามัย ย้ำว่าการที่จะส่งเสริมภาวะโภชนาการเด็ก เราต้องมองทั้งด้านขาดและเกิน จะทำอย่างไรให้เด็กปกติไม่อ้วน ไม่ขาดสารอาหาร เพราะทั้งเด็กอ้วน และเด็กขาดสารอาหาร มักจะมีประสิทธิผลทางการเรียนด้อยกว่าเด็กที่ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม ดังนั้นหลายพื้นที่จึงพยายามเอาแนวคิดและรูปแบบโปรแกรม Thai School Lunch มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของตัวเอง เช่น โรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่วิเคราะห์ และคำนึงถึงวัตถุดิบ บุคลากร รวมถึงโปรแกรมสำเร็จรูป จนกลายเป็นที่มาของเมนูอาหารกลางวันเด็กๆ ที่ทำออกมาล่วงหน้าที่สำคัญแต่ละเมนูเป็นที่ถูกใจของเด็กๆ ทั้งที่มาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งไทใหญ่ จีน ลาหู่ และคนพื้นเมือง มีวัฒนธรรมการกินอยู่ที่แตกต่างกัน แถมส่วนใหญ่ยังมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ผู้ปกครองขาดความรู้ด้านโภชนาการ ทำให้ก่อนหน้านี้เด็กๆ มักจะหลีกเลี่ยงการกินผัก ผลไม้ ซ้ำเมื่ออยู่ที่บ้าน มักจะมีพฤติกรรมกินแล้วก็นอน ติดเกม ติดโทรศัพท์มือถือ จนขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย เกิดเป็นพฤติกรรมเนือยนิ่ง เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ และสังเกตเห็นว่ามีเด็กผอม ขาดสารอาหารมากกว่าเด็กอ้วนณัฐพล แสงอรุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน เล่าว่า ช่วงปี 2556-2557 โรงเรียนมีปัญหาการบริหารจัดการอาหารกลางวัน ทั้งเรื่องงบประมาณ คุณภาพอาหาร และแม่ครัว จึงลองปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ ก็พบว่าแม่ครัวที่เป็นผู้ปกครอง สามารถทำอาหารได้ถูกปากนักเรียน แต่การที่แม่ครัวคิดรายการอาหารเอง ทำให้เด็กได้รับประทานอาหารไม่หลากหลาย เมื่อโรงเรียนเข้าโครงการเด็กไทยแก้มใส จัดทำเมนูอาหารด้วยโปรแกรม Thai School Lunch เลยให้แม่ครัว ร่วมกับครูฝ่ายโภชนาการวางแผน มีการสอบถามครูเกษตร ว่าวัตถุดิบของโรงเรียนในช่วงนี้มีอะไรบ้าง จัดทำเมนูโดยยึดคุณค่าสารอาหาร และพลังงานที่เด็กจะได้รับอย่างเพียงพอเหมาะสม นอกจากนี้ยังได้จัดเมนูอาหารท้องถิ่นเพื่อให้เด็กรู้จักรับประทานอาหารท้องถิ่นที่มีคุณภาพดีขณะเดียวกันโรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน ได้ขอความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่บ้านใช้พื้นที่ 2 ไร่เศษ เพื่อปลูกผัก ผลไม้ สำหรับส่งต่อเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารกลางวันให้นักเรียน และมีการวางแผนปลูกตามเมนู Thai School Lunch ที่โรงเรียนจัดทำล่วงหน้า พร้อมกับจัดหาผลไม้ที่มีในชุมชนให้นักเรียนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยจะเชื่อมโยงผลผลิตเกษตรปลอดภัยกับชุมชน ผู้ปกครอง เช่น ส้ม ลิ้นจี่ มะละกอ เป็นต้น
เมื่อพฤติกรรมการกินของเด็กๆ เปลี่ยน ภาวะทุพโภชนาการก็น้อยลง ผนวกกับโรงเรียนเน้นเรื่องการออกกำลังกาย ซึ่งบางครั้งแฝงในคาบเรียน เช่น เกษตร ก็ทำให้เด็กกระตือรือร้นกับการเรียนมากขึ้น จนเกิดการขยายผลเรื่องวิถีชีวิตปลอดภัยสู่ชุมชน รวมถึงโรงเรียนเครือข่ายเด็กไทยแก้มใสฝางโมเดล โดยทำบันทึกข้อตกลงกับโรงเรียน 10 แห่ง ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 ส่งเสริมให้มีการปลูกผักปลอดสาร พร้อมกับดึงผู้ปกครอง ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม หากจากการตรวจเยี่ยมของโครงการเด็กไทยแก้มใส ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องถึง 4 ปีกว่า กลับพบว่าเมื่อโรงเรียนจัดการกับเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ อ้วน เตี้ย ผอม ให้อยู่ในระดับปกติ ด้วยอาหารกลางวันที่เหมาะสม มีการส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง จนสุขภาวะของเด็กดีขึ้นแล้ว เด็กจะกลับมาอ้วนหรือผอมอีกครั้ง เมื่อปิดเทอม และต้องรับประทานอาหารจากที่บ้านทั้ง 3 มื้อ
จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผอ.โครงการขับเคลื่อนอาหารและโภชนาการเด็กไทยแก้มใสสู่ความยั่งยืน อธิบายถึงทางออกว่า ปีนี้ได้เน้นให้ทุกโรงเรียนในโครงการพัฒนาให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง ให้ปรับพฤติกรรมการกิน โดยให้ผู้ปกครองมาเรียนรู้กับนักเรียนด้วยว่าเวลาโรงเรียนจัดอาหารกลางวันโดยใช้โปรแกรม Thai School Lunch ทำอย่างไร เด็กต้องกินอะไรบ้าง ได้สารอาหารอะไร ลดอาหารหวาน มัน เค็ม หรือที่มีแป้งมากๆ แล้วไปเสริมด้วยการออกกำลังกายเรียกได้ว่า นอกจากดูสุขภาพภายนอกของเด็ก เช่น สูงสมส่วน สุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ยังต้องดูไปถึงอารมณ์ ความแจ่มใสด้วย ถ้าเด็กมีตาเป็นประกาย กระหายอยากเรียนรู้ เรียนแล้วสนุก มีความสุข ก็จะอยากมาโรงเรียน ส่งผลถึงคะแนนสอบโอเน็ตที่ดีขึ้น ซึ่งจากการดำเนินโครงการเด็กไทยแก้มใสที่ผ่านมา ทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองมองว่ามีประโยชน์ หลายโรงเรียนอยากเข้ามาเป็นสมาชิกเด็กไทยแก้มใสเพิ่มขึ้น
ณัฐพล แสงอรุณ บอกว่า ถ้าวางระบบรากฐานดี ผู้บริหารมีความมุ่งมั่น ครู ผู้ปกครอง และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม แล้วหน่วยงานเบื้องบนตั้งแต่ระดับนายอำเภอ ลงมาถึง อบต. ส่วนราชการทั้งหมดใน อ.ฝาง มองเห็นความสำคัญของการให้นักเรียนมีสุขภาพสมบูรณ์ ช่วยกันบริหารจัดการเรื่องนี้ให้สำเร็จ ปัญหาทุพโภชนาการก็จะถูกขจัดไป และเด็กๆ ย่อมเกิดสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนโสภณ ธิพึง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเหมืองแร่ ต.แม่คะ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีก 1 โรงเรียนในโครงการเด็กไทยแก้มใส ยอมรับว่าการดำเนินงานต้องอาศัยเครือข่าย เช่น องค์กรปกครอง ทั้งมหาดไทย สาธารณสุข เมื่อโรงเรียนบอก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ไปแจ้งต่อทางชุมชน โรงเรียนก็จะดำเนินกิจกรรมได้ ส่วนการเข้าหาชุมชน ผู้ปกครอง ก็อาศัยกิจกรรมการเยี่ยมบ้านนักเรียน อธิบายให้ผู้ปกครองรู้ถึงประโยชน์ของการรับประทานอาหาร ผู้ปกครองควรสนับสนุนอะไร ทำให้ขณะนี้ผู้ปกครองราว 60% ยอมรับและเห็นความสำคัญของโภชนาการเด็กด้าน ณะรินทร์ รินทร์ฟอง นายก อบต.แม่คะ บอกว่าทาง อบต.พร้อมจะสนับสนุนโครงการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน หรือการออกกำลังกาย ของชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 15 หมู่บ้าน และโรงเรียน 5 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 6 แห่ง เพราะมีงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมกับที่ อบต.ตั้งไว้ รวมปีละ 1 ล้านบาทเศษ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของเด็ก และคนในชุมชน ให้ห่างไกลจากโรคความดัน เบาหวาน หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตอยู่แล้วนั่นหมายความว่าการที่เด็กๆ จะเติบโตอย่างมีคุณภาพ ไม่ได้มีแค่โรงเรียน และผู้ปกครองเท่านั้น ที่ต้องใส่ใจดูแล แต่ชุมชน หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในท้องถิ่น ต้องช่วยกันขยับขับเคลื่อน ซึ่งทำได้หลายรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การปลูกผักปลอดสารส่งโครงการอาหารกลางวัน การจัดอาหารที่เหมาะสมให้เด็กที่บ้าน การสนับสนุนงบประมาณ หรือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี กระตุ้นให้มีการตื่นตัวออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น.