จนท.เผยที่สะเมิงและกัลยาฯพบ 2 พื้นที่ลักลอบเผาหวังพื้นที่ปลูกข้าวโพด ขณะที่ผาแดงได้เบาะแสมือเผาป่าเตรียมเข้าแจ้งความดำเนินคดี ประชุมวอร์รูมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฯแจ้งปชส.ตั้งศูนย์รับสิ่งของบริจาค ฝ่ายปกครองเผยเงินมูลนิธิป้องกันและแก้ไขไฟป่าฯเหลือเงินเพียง 8 หมื่นบาท แจงปีที่ผ่านมาไม่มีการระดมทุน ส่วนรายได้แข่งกอล์ฟและยิงปืนมีการบริหารจัดการเอง
เมื่อวันที่ 25 ม.ค.66 ที่ศูนย์บัญชาการไฟป่า หมอกควันและฝุ่นpm2.5 จังหวัดเชียงใหม่ นายนาวิน สินธุสะอาด รองนายกอบจ.เชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการศูนย์ฯครั้งที่ 3/2566 โดยนายสมคิด ปัญญาดี ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ฯ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานผลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระบบ Fire Dและพื้นที่นำร่อง 12 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า ปี 2566 มีคำร้องขอจัดการเชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ม.ค.-23 ม.ค.66 จำนวน 25,529 ไร่ และได้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงไปแล้ว 6,191.6 ไร่ และปัจจุบันมีคำร้องที่ยื่นขอเข้ามาอีก 11 ราย จำนวน 1,006 ไร่ โดยเป็นพื้นที่เกษตร 6 ไร่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 900 ไร่ ป่าสงวนฯ 100 ไร่และอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
ทางด้านนายพงษ์อรัญ ใสสะอาด หัวหน้าฝ่ายควบคุมไฟป่า สำนักจัดการป่าไม้ 1(เชียงใหม่) ได้กล่าวถึงการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในเขตพื้นที่ป่าว่า จากการตรวจสอบจุดความร้อนในพื้นที่สะเมิง ซึ่งหน่วยป้องกันไฟป่าสะเมิงได้พิสูจน์ป่าคาพบมีการจุดไฟเผาพื้น เพื่อเอาพื้นที่ปลูกข้าวโพด ส่วนอีกจุดที่วัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนาก็เช่นเดียวกัน ที่พบมีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติฯ เพื่อเผาต้องการเอาพื้นที่ พบมีพื้นที่เสียหายกว่า 6 ไร่ 2 งาน 18 ตารางวา โดยมีการแจ้งความที่สภ.กัลยาฯเพื่อดำเนินคดีแล้ว
หัวหน้าฝ่ายควบคุมไฟป่า สำนักจัดการป่าไม้ 1(เชียงใหม่) ยังได้รายงานผลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่บ้านโหล่งปง อ.แม่แจ่ม จำนวน 100 ไร่ว่าได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการเตรียมพร้อมการปฏิบัติงาน ในส่วนของสำนักจัดการป่าไม้ฯ กรมป่าไม้ แม้หน่วยจัดการฯที่อ.แม่ออนเดิมมีจนท.30 นาย แต่ปัจจุบันถูกลดจำนวนคนเหลือ 15 นาย เนื่องจากมีการจัดตั้งหน่วยขึ้นมาเพิ่มจึงเกลี่ยอันตรากำลังไป อย่างไรก็ตามหากเกิดสถานการณ์รุนแรงสามารถสวิงอัตรากำลังจาก 25 เครือข่ายมาช่วยได้
ทางด้านผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ รายงานว่า จากการประสานของผวจ.เชียงใหม่ในเรื่องการจัดทำฝนหลวงนั้น เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศยังไม่เอื้ออำนวยจึงยังไม่สามารถขึ้นปฏิบัติการได้ โดยพรุ่งนี้(26 ม.ค.)เฮลิคอปเตอร์ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจะมาประจำการที่พิษณุโลกจำนวน 2 ลำ และคาดการณ์ว่าในช่วงปลายเดือนก.พ.ถึงมี.ค.น่าสภาพอากาศน่าจะเอื้อให้ขึ้นปฏิบัติการได้
จากนั้นประธานที่ประชุมได้ให้อำเภอที่มีสถานการณ์ไฟป่าในรอบสัปดาห์รายงานผลปฏิบัติการซึ่งประกอบไปด้วยอ.อมก๋อย อ.กัลยาณิวัฒนาและอ.ไชยปราการ โดยปลัดอำเภอที่รับผิดชอบ อ.อมก๋อยรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 19-24 ม.ค.66 อ.อมก๋อยมีจุดความร้อน 11 จุดและจากการตรวจสอบของพื้นที่พบว่าเป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งเกษตรกรได้แจ้งทางอปท.และมีการทำแนวกันไฟแล้ว แต่เหตุที่ไม่ได้ลงทะเบียนในระบบ Fire D เนื่องจากสภาพพื้นที่ห่างไกล เป็นภูเขาสูงและอับสัญญาณ ปีที่ผ่านมาทางอำเภอได้แจ้งให้อปท.เป็นศูนย์กลางให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จึงไม่สามารถรายงานผลแบบเรียลไทม์ได้
ทั้งนี้ได้แจ้งให้อปท.แต่ละแห่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมาลงทะเบียนก่อนบริหารเชื้อเพลิงที่ผู้นำท้องถิ่น และให้ผู้นำท้องถิ่นแจ้งอปท.และรายงานต่ออำเภอ โดยทางอำเภอร่วมกับอปท.ป่าไม้และอุทยานจะมีการประชุมเพื่อวางแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงต่อไป สำหรับพื้นที่รอยต่อกับอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อ.พบพระ และอ.ท่าสองยาง จ.ตากนั้นได้มีการประสานงานระดับตำบลและอปท.ที่จะทำแนวกันไฟและจุดชุดลาดตระเวนไว้แล้ว
ทางด้านปลัดอำเภอกัลยาณิวัฒนา รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีจุดความร้อน 14 จุด โดยเฉพาะในพื้นที่หย่อมบ้าน หมู่ 1 ต.แจ่มหลวง ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้ใหญบ้านและหน่วยรักษาป่าเข้าไปตรวจสอบแต่ไม่พบตัวผู้จุด และที่ผ่านมาทางนายอำเภอได้เรียกประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจไม่ให้มีการเผาพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยให้เปลี่ยนวิธีเผาเป็นอัดก้อนและฝังกลบแทน
ขณะที่ปลัดอำเภอไชยปราการ รายงานว่า จุดความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่พบว่าไฟดับแล้ว และเกิดจากการบุกรุกป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานผาแดงแจ้งว่ามีเบาะแสแล้ว จะได้แจ้งความดำเนินคดีเพื่อสืบหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป ทั้งนี้ อ.ไชยปราการได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการฯระดับอำเภอแล้วและจะได้เรียกประชุมเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่อไป
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการกำชับทุกอำเภอในเรื่องของการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ให้ดำเนินการตามหลักวิชาการและให้ทำแนวกันไฟและควบคุมพื้นที่ ตลอดจนรายงานผลให้กับศูนย์บัญชาการฯเมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว โดยระบุว่าช่วงนี้เป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในโซนใต้ ขณะที่พื้นที่โซนเหนือยังไม่ได้ยื่นขอบริหารเชื้อเพลิงฯแต่พบว่ามีจุดความร้อนเกิดขึ้นขอให้แต่ละพื้นที่เข้าไปตรวจสอบด้วย
นอกจากนี้ยังได้แจ้งให้หน่วยงานที่ไม่เข้าร่วมประชุมรายงานแผนและผลปฏิบัติการในครั้งต่อไป ทั้งสนง.ขนส่งจังหวัดในเรื่องการป้องกันและควบคุมฝุ่นละอองในเขตชุมชนเมือง ซึ่งต้องตรวจวัดควันดำ สนง.อุตสาหกรรมจังหวัดในเรื่องการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม สนง.สาธารณสุขจังหวัดในเรื่องของข้อมูลผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ การจัดห้องปลอดฝุ่นหรือเซฟตี้โซน มุ้สู้ฝุ่นและการตรวจสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าด้วย
ขณะเดียวกันนายมนัส คำต่าย ผช.หน.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานเรื่องการจัดตั้งศูนย์รับสิ่งของบริจาคว่า ขณะนี้มีผู้บริจาคน้ำดื่มเพื่อมอบให้กับผู้ปฏิบัติงานดับไฟบ้างแล้ว แต่ยังขาดเรื่องอาหารและของใช้ จึงขอให้ประชาสัมพันธ์จังหวัดประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ที่จะบริจาคได้ทราบ และอาจจะทำหนังสือถึงองค์กรที่เคยบริจาคด้วย
ทางด้านผู้แทนปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานถึงบัญชีของมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ ว่า มูลนิธิฯดังกล่าวจัดตั้งเมื่อเดือนเม.ย.63 สมัยนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ เป็นผวจ.เชียงใหม่ โดยมีคณะกรรมการจัดการกองทุนมูลนิธิฯในการใช้จ่ายเงินเพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและภัยพิบัติ รวมทั้งจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่มและวัสดุอุปกรณ์ในการดับไฟ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนรางวัลนำจับผู้ชี้เบาะแสคนเผาป่า และช่วยเหลือประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลอื่นที่เสียชีวิตจากไฟป่าหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งตั้งแต่มีการจัดมูลนิธิฯมีการระดมเงินทุนเพียงครั้งเดียว ปีที่ผ่านมา(สมัยนายประจญ ปรัชสกุล ผวจ.เชียงใหม่ จัดแข่งขันกอล์ฟการกุศลและแข่งขันยิงปืนฯนั้นไม่ได้นำเงินเข้ามูลนิธิฯ แต่อาจจะบริหารจัดการเอง จึงทำให้เงินของมูลนิธิฯมีเงินน้อยลง ล่าสุดมีเงินคงเหลือ 80,000 บาทเท่านั้น.