ยายละออ โรจนวิภาต ประชาชนชาวเชียงใหม่คนแรกที่นำใบไม้แห้งใส่กระสอบมา 11 กิโลกรัมรับเงินสดๆ 22บาท และคุณยายยังสนใจผลิตภัณฑ์ที่บริษัทรับซื้อใบไม้นำมาจำหน่าย โดยจ่ายเงินซื้อผลิตไปเกือบ 200 บาทด้วย
จังหวัดเชียงใหม่เปิดจุดรับซื้อใบไม้กิโลละ 2 บาทที่ด้านหลังศาลากลางจังหวัด ตั้งแต่วันนี้-30 เม.ย.เพื่อลดเชื้อเพลิงในป่าและลดปัญหาการเผา
หลังจากที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดโครงการหมู่บ้านนำร่อง จำนวน 34 หมู่บ้าน เพื่อจะรับซื้อใบไม้ และนำมาอัดก้อน เพื่อส่งให้กับบริษัทที่รับซื้อในกิโลกรัมละ 2 บาท และรับซื้อใบไม้จากพื้นที่การเกษตรและชาวบ้านในทุกอำเภอ ซึ่งทำให้มีประชาชนให้ความสนใจโทรศัพท์มาสอบถามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจำนวนมากนั้น
นายสมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเจ้าหน้าที่มาตั้งจุดรับซื้อใบไม้แห้งที่บริเวณศาลา ภายในศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ด้านหลังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีประชาชนเริ่มทะยอยนำใบไม้ใส่ถุงขยะสีดำ นำมาจำหน่ายบริเวณจุดรับซื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งถุงดำที่ชาวบ้านนำใบไม้มาจำหน่าย 1 ถุงจะได้น้ำหนักประมาณ 5 – 6 กิโลกรัม
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเปิดจุดรับซื้อวันนี้เป็นวันแรกตั้งแต่มีกระแสข่าวออกไป และประชาชนให้ความสนใจ ซึ่งกติกาของการรับซื้อนั้น จากการพูดคุยกับทางบริษัทที่รับซื้อ จากเดิมจะเน้นเรื่องใบตองตึง ที่เป็นใบไม้จากป่า จึงเกิดหมู่บ้านนำร่องทั้งหมด 34 หมู่บ้านขึ้น โดยรับซื้อกิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อนใบไม้ที่อัดเป็นก้อนแล้วนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งน้ำส้มควันไม้ สบู่ น้ำยาล้างห้องน้ำ แชมพู น้ำยาล้างรถ แอลกอฮอล์เจล และอื่นๆ เมื่อมีการสอบถามว่าอำเภออื่นรับซื้อหรือไม่ ทางบริษัทฯ ก็รับซื้อทั้งหมด แต่จะไม่รับใบไผ่และหญ้า เนื่องจากไม่สมารถนำมาทำอะไรได้ ขณะเดียวกันราคาก็จะแตกต่างกับใบไม้ที่มาจากใบตองตึง โดยใบไม้จากพื้นที่การเกษตร และใบไม้จากบ้านเรือนของประชาชน จะรับซื้อกิโลกรัม 1 บาท เพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ย ด้านโควต้าที่จะรับซื้อนั้นจะรับซื้อได้ทั้งหมดจำนวน 200 ตัน ขณะนี้ได้เพียง 10 กว่าตันเท่านั้น ยังคงรับซื้อได้อีกจำนวนมาก สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนเวลาในการเปิดจุดรับซื้อจะเปิดตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 14.00 น. ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 เพื่อเป็นการลดเชื้อเพลิงที่จะอยู่ในพื้นที่ป่า ลดปัญหาการเผาและเกิดการลุกลามในป่า ลดการเผาจากพื้นที่การเกษตรและแหล่งชุมชน ป้องกันไม่ให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานและกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน