กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือสภาอุตสาหกรรมจ.เชียงใหม่เปิดตัวความสำเร็จและประชาสัมพันธ์เครือข่ายอุตสาหกรรมดิจิทัลฯเชียงใหม่และอุตสาหกรรมผ้าทอ CEO ลำพูน มุ่งพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต
วันที่ 3 ก.ค.62 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดตัวความสำเร็จและประชาสัมพันธ์เครือข่ายอุตสาหกรรมดิจิทัล จังหวัดเชียงใหม่และเครือข่ายอุตสาหกรรมผ้าทอ ECO จังหวัดลำพูน โดยมีนายอนุชา มีเกียรติชัยกุล นายศิรเมศร์ อภิชัยวิโรจน์ ประธานเครือข่ายอุตสาหกรรมดิจิทัล จังหวัดเชียงใหม่ และนายชีระโชติ สุนทรารักษ์ ประธานเครือข่ายอุตสาหกรรมผ้าทอ ECO จังหวัดลำพูน พร้อมผู้ประกอบการในเครือคลัสเตอร์จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนร่วมกิจกรรม
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็น ความสำคัญในการส่งเสริมการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาจึงร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนและผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จำนวน 2 กลุ่มเครือข่าย
คือ เครือข่ายคลัสเตอร์ดิจิทัล จังหวัดเชียงใหม่ ในนาม ‘Chiang Mai Digital Hub หรือ CMDH’ และเครือข่ายคลัสเตอร์ผ้าทอ ECO จังหวัดลำพูน ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ถือเป็นการเปิดตัวความสำเร็จและประชาสัมพันธ์เครือข่ายอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ทั้ง 2 คลัสเตอร์ ที่สามารถรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง จนผลักดันให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาคกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง โดยความสำเร็จจากการรวมกลุ่มดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากความร่วมมือร่วมใจกันระหว่าง เครือข่าย ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขัน
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีแพลทฟอร์มการให้บริการต่างๆ ในการส่งเสริมการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงเพื่อพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เครือข่ายคลัสเตอร์ที่หลากหลาย อาทิ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) ซึ่งกระจายตัวอยู่ในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ทั้ง 11 แห่ง รวมถึงส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเน้นให้บริการเครื่องจักรในการปรับปรุงด้านการผลิต การออกแบบ และ พัฒนาผลิตภัณฑ์
ในส่วนของแหล่งเงินทุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีการให้บริการด้านการเงินผ่านงานเงินทุนหมุนเวียน ที่เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิต การค้า การบริการ รวมถึงเครือข่ายคลัสเตอร์ต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อต่อยอดส าหรับธุรกิจ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถรับบริการปรึกษาปัญหาธุรกิจผ่านศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ เอสเอ็มอี (SSRC) ซึ่งมีทีมผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การผลิต การเงิน การตลาดและอื่นๆ บริการให้ ค าปรึกษาแนะนำเบื้องต้น และมีการจัดอบรม/สัมมนาในหลักสูตรต่างๆ พัฒนาทักษะองค์ความรู้ เพื่อยกระดับ ภาคอุตสาหกรรม ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป .