สถาบันวิจัยสังคม มช.เปิดตัวศูนย์วิจัยและโครงการด้านการท่องเที่ยว เพื่อดำเนินงานวิจัยด้านสังคม ล้านนาและการท่องเที่ยว เผยแพร่แก่สังคมและชุมชนให้สามารถนำไปพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวไทย ให้มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดีขึ้น
รศ.ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและรับใช้สังคม ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดโครงการ Open House เปิดตัวศูนย์วิจัยและโครงการด้านการท่องเที่ยว โครงการเสวนาเรื่อง “ล้านนาเล่าว่า…เที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์” ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้น
ดร.กรวรรณ สังขกร หัวหน้าโครงการ(ชำนาญการพิเศษ)ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถาบันวิจัยสังคม ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยวและศูนย์วิจัยด้านล้านนาขึ้น เพื่อดำเนินงานวิจัยด้านสังคม ล้านนาและการท่องเที่ยว เผยแพร่แก่สังคมและชุมชนให้สามารถนำไปพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวไทย ให้มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2561 ทางสถาบันฯยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการบูรณาการด้านการท่องเที่ยวอีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการการถ่ายทอดความรู้จากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนผ่านเส้นทางท่องเที่ยวต้นแบบ,โครงการล้านนา เล่าว่า…และโครงการประตูท่องเที่ยวสู่ล้านนา เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในล้านนา ซึ่งภูมิประเทศที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย มีอัตลักษณ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามที่สืบทอดมานานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงมีประวัติความเป็นมาจำนวนมาก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินงาน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และผลผลิตของโครงการให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีคุณภาพและยั่งยืน พร้อมทั้งจัดทำระบบฐานข้อมูลและเว็บไซด์เผยแพร่ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงข้อมูลเส้นทางการท่องเที่ยวภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์หรือละครมีส่วนสำคัญอย่างมากในการจูงใจนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ให้เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวตามที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนั้นๆ เห็นได้ชัดเจนจากภาพยนตร์จีนเรื่อง The Lost in Thailand ซึ่งสามารถสร้างปรากฏการณ์ที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวยังประเทศไทยจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือละครเกาหลีหลายเรื่องที่เป็นที่นิยม เช่น แดจังกึม,Winter Love Song และ Goblin ซึ่งสามารถสามารถสร้างกระแสทำให้นักท่องเที่ยวไทยจำนวนไม่น้อยอยากตามไปเก็บภาพความประทับใจยังสถานที่ต่างๆ ตามที่ปรากฏในฉากละคร การใช้ละครเป็นสื่อเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก จึงเป็นกลวิธีหนึ่งที่ทำให้สามารถประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวให้มีการรับรู้และเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ
จากความโด่งดังของละครเรื่อง รากนครา ละครอิงประวัติศาสตร์ที่สร้างกระแสอย่างล้นหลามบนโลกโซเซียล ด้วยเสน่ห์และความน่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์ รวมถึงฉากและองค์ประกอบอันสวยงามที่จุดประกายให้บรรดาแฟนละครจำนวนมาก ออกเดินทางท่องเที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์ล้านนาผ่านสถานที่ถ่ายทำละคร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว ร่วมกับศูนย์วิจัยด้านล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงไดจัดงานเสวนา “ล้านนาเล่าว่า…เที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์”โดยมีการนำเสนอหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจจากปรากฏการณ์การท่องเที่ยวดังกล่าว
นอกจากนั้นภายในงานยังมีเสวนาในหัวข้อเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ตามรอยละครและประวัติศาสตร์ล้านนา อาทิ เที่ยวตามรอยรากนครา,กว่าจะเป็นรากนครา อ่านนิยาย ดูละครและย้อนดูล้านนา ตามรอยบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ล้านนา อีกทั้งยังมีนิทรรศการชุดเครื่องแต่งกายล้านนา นิทรรศการภาพถ่ายตามรอยรากนคราและกาดหมั้วควฮอมด้วย
สำหรับการจัดงานครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการในการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว และศูนย์วิจัยด้านล้านนา รวมไปถึงสร้างการรับรู้เส้นทางการท่องเที่ยวในภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีวัฒนธรรมล้านนาที่น่าสนใจให้ศึกษาเรี่ยนรู้มากมาย สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการส่งเสริมการทอ่งเที่ยวของภาคเหนือตอนบนให้ดีและเป็นทีนิยมยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยแก่ชุมชนและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ให้กลายเป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นประจำท้องถิ่นของตนเอง.