เชียงใหม่เปิดศูนย์เกษตรสินค้าภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ให้แรงงานต่างด้าวและนายจ้างที่ทำงานแต่ไม่มีใบอนุญาตมายื่นดำเนินการภายใน 24 ก.ค.-7 ส.ค.ไม่เว้นวันหยุดราชการ คาด 15 วัน ตัวเลขสูงถึง 4 หมื่นคน
ที่ห้องประชุม 4 อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นางเยาวภา พิบูลย์ผล จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีคสช.ประกาศใช้ม.44 แก้ปัญหาพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวว่า ตามที่มีประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ให้สามารถบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวได้ทั้งระบบ โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 นั้น เพื่อให้นายจ้างและคนต่างด้าวได้มีเวลาเตรียมการและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้ออกมาตรการชั่วคราว เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ตามพระราชกำหนดดังกล่าว ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการใช้บังคับกฎหมาย
โดยให้มาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 แห่งพระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นมาตราที่มีบทลงโทษที่ค่อนข้างสูง มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป เพื่อให้นายจ้างและคนต่างด้าว เร่งดําเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งแรงงานต่างด้าวในจังหวัดเชียงใหม่ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องมีประมาณ 115,000 คน และจากการสอบถามจาก ตม.จังหวัดเชียงใหม่ ก็ไม่พบว่าแรงงานต่างด้าวไปแจ้งความประสงค์ที่จะเดินทางกลับประเทศ ไม่เหมือนกับจังหวัดอื่น โดยสาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่จังหวัดเชียงใหม่ติดชายแดนหลายแห่ง จึงมีการเดินทางออกกันเองจึงทำให้ไม่มีการแจ้งก็เป็นไปได้
จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีคนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจสัญชาติ ซึ่งถือหนังสือเดินทาง (PP) หนังสือเดินทางชั่วคราว (TP) เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (TD) เอกสารรับรองบุคคล (CI) ซึ่งได้รับการตรวจลงตรา(VISA) ประเภท Non L-A แล้ว แต่ยังไม่ได้ขอใบอนุญาตทำงาน (Work permit) ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับการตรวจลงตรา ให้คนต่างด้าวยื่นคำขออนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานปัจจุบันของคนต่างด้าว และคนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจสัญชาติ และคนต่างด้าวที่ถือใบอนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู) แต่ทำงานกับนายจ้างไม่ตรงตามที่ระบุไว้ ในใบอนุญาตทำงาน ให้ยื่นขอเปลี่ยนนายจ้างได้ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานปัจจุบันของคนต่างด้าว โดยรวมถึงคนต่างด้าวที่เข้ามาตามระบบ MOU ก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2559 ด้วย
สำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาตามระบบ MOU หลังวันที่ 16 สิงหาคม 2559 หากจะเปลี่ยนนายจ้าง ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดิม คือ นายจ้างเลิกจ้างหรือนายจ้างเสียชีวิต นายจ้างล้มละลาย นายจ้างกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายลูกจ้าง นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างหรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย เท่านั้น
กรณีที่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อจัดทำหนังสือเดินทาง (Passport) หนังสือเดินทางชั่วคราว (TP) เอกสารเดินทาง (TD) หรือเอกสารรับรองบุคคล (CI) ให้นายจ้างติดต่อ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ สาขาย่อย ศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันเวลาราชการ เพื่อขอหนังสือรับรองการเดินทางไปขอรับหนังสือเดินทางนอกราชอาณาจักร และเมื่อได้รับเอกสารดังกล่าวและตรวจลงตราวีซ่าแล้ว ให้นายจ้างนำคนต่างด้าวไปยื่นขออนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด
ในกรณีที่คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ซึ่งทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ไม่มีเอกสารแสดงตน ไม่มีใบอนุญาตทำงานให้นายจ้างติดต่อ ณ ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวในท้องที่จังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานปัจจุบันของคนต่างด้าว ซึ่งให้บริการเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม 2560 ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยคนต่างด้าวจะต้องมาติดต่อลงทะเบียนพร้อมนายจ้าง เพื่อพิสูจน์ความเป็นลูกจ้างและนายจ้าง และควรมีหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ อาทิเช่น รูปถ่ายขณะทำงานกับนายจ้าง สถานที่ทำงาน เอกสารการจ่ายเงินเดือน เพื่อที่ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ จะได้ออกเอกสารรับรองแก่คนต่างด้าวเพื่อนำไปจัดทำเอกสารกับประเทศเมียนมาในศูนย์ตรวจสัญชาติคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทย หลังจากนั้น ประเทศต้นทางจะได้ออกเอกสารเพื่อให้คนต่างด้าวนำไปยื่นตรวจลงตรา (Visa) และนำมายื่นขอใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ โดยคาดว่าจะมีนายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนในห้วงดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 40,000 คน
นางเยาวภา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ นายจ้างและแรงงานต่างด้าวมีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก โดยมาใช้บริการทั้งในเรื่อง การขอโควตา การเปลี่ยนนายจ้าง ขอหนังสือรับรอง จำนวนเกือบ 2,000 คนต่อวัน สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าวเร่งดำเนินการให้ถูกต้องโดยทันที.