บริษัทฯคู่สัญญาอบจ.เชียงใหม่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียกว่า 1 พันคน ในโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยเพื่อแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงขยะและผลิตกระแสไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณไตรมาสที่ 3 ของ พ.ศ. 2566 และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในไตรมาสที่ 4 ของ พ.ศ. 2568
เมื่อวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 09.00-12.00 น. ที่หอประชุมศรีศุภอักษร วัดพระธาตุดอยสะเก็ด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ บริษัท เชียงใหม่ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด และ บริษัท เอ็นทิค จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและทำความเข้าใจกับประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย เพื่อแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) และผลิตกระแสไฟฟ้า ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุม, โดยมีนายธนกฤต ฉันทะจำรัสศิลป์ นายอำเภอดอยสะเก็ด และ นางอรุณลักษณ์ ปัตตาล ผอ.อาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ พลังงานจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนอบจ.เชียงใหม่,สาธารณสุขอำเภอดอยสะเก็ด ผู้แทนคณะกรรมการกำกับพลังงานเขต 1, โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่,ตัวแทนมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา,เครือข่ายทสม.และเครือข่ายลุ่มน้ำกวง รวมทั้งตัวแทนส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ 17 หมู่บ้านใน ต.ป่าป้อง ต.แม่โป่ง และ ต.เชิงดอย พร้อมด้วยผู้แทนสื่อมวลชน กว่า 1,000 คน
นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมแล้วนั้น จากนั้นผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการซักถาม แสดงข้อวิตกกังวล และเสนอความคิดเห็นต่อโครงการอย่างกว้างขวาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.แม่ริม อ.แม่ออน อ.สันกำแพง อ.สารภี อ.หางดง อ.สันทราย อ.แม่แตง และ อ.ดอยสะเก็ด จำนวนรวม 66 แห่ง ตกลงทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการขยะมูลฝอยซึ่งมีปริมาณ 650 ตันต่อวัน โดยนำส่งไปกำจัด ณ ศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านป่าตึงน้อย ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยแห่งนี้ สร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการรับกำจัดขยะมูลฝอยด้วย กระบวนการขัดแยกขยะรีไซเคิล กระบวนการหมักปุ๋ยชีวภาพจากขยะอินทรีย์ ส่วนขยะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จะดำเนินการอัดเป็นแท่งลดขนาด และบีบเอาน้ำชะขยะออกก่อนทำการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล มาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ปัจจุบันเครื่องจักรในศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยมีสภาพชำรุดทรุดโทรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จึงมีแนวความคิดให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินกิจการบริหารการจัดการขยะมูลฝอย เพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการขยะมูลฝอยของศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยให้ดีขึ้น และสามารถรองรับขยะมูลฝอยได้เพียงพอ โดยที่ไม่ต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐมาดำเนินการ และได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนที่มีความเหมาะสม และ บริษัท เชียงใหม่ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด เป็นเอกชนที่ได้รับการพิจารณาให้เข้ามาดำเนินโครงการ ด้วยการนำเอาขยะมูลฝอยชุมชนมากำจัดด้วยวิธีเผาไหม้ให้เกิดความร้อนแล้วนำความร้อนที่ได้ไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยอย่างถาวร ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เนื่องจากมีการกำหนดให้ติดตั้งระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ และการติดตามตรวจสอบมลพิษจากปล่องอย่างต่อเนื่อง ช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณพื้นที่ที่ใกล้เคียงให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ตลอดจนช่วยลดงบประมาณในการบริหารจัดการขยะ อีกทั้งยังเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าภายในจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย
สำหรับผลประโยชน์จากโครงการที่จะเกิดกับชุมชนเมื่อเปิดดำเนินงาน ได้แก่ การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าภายในจังหวัดเชียงใหม่ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในโครงการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าวิธีการนำขยะมาฝั่งกลบ มีระบบควบคุมและป้องกันมลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าให้กับชุมชนตามระเบียบของคณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงานเพื่อนำไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณไตรมาสที่ 3 ของ พ.ศ. 2566 และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในไตรมาสที่ 4 ของ พ.ศ. 2568
ทางด้านนางสาวโสรัตยา บัวชุม หรือกำนันนุ้ย กำนันตำบลเชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด กล่าวว่า โครงการฯดังกล่าว จากที่ฟังเสียงส่วนใหญ่ของชาวบ้านแล้วนั้นถือว่า เกิดผลดีกับประชาชนในพื้นที่ เพราะบริษัทฯที่รับผิดชอบได้ประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบกับชาวบ้านแล้ว และให้ความสำคัญที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่ 17 หมู่บ้านและ 3 ตำบล ต.ป่าป้อง ต.แม่โป่ง และ ต.เชิงดอย ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและจะช่วยเหลือดูแลประชาชนด้านต่างๆหากเกิดปัญหา สรุปแล้วโดยรวมวันนี้ประชาชนในพื้นที่ก็ไม่มีปัญหาอะไรหากโครงการฯดังกล่าวจะเปิดดำเนินโครงการในพื้นที่ กำนันตำบลเชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด กล่าว.